
ย้อนกลับไปราว 13 ปีก่อน “อุ๊คบี” (Ookbee) เป็นสตาร์ตอัพไทยยุคแรก ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแลนด์สเคปธุรกิจหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับ “อีบุ๊ก” (e-Book) หรือการอ่านในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น แต่เมื่อพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์มีความหลากหลาย มีการขยับขยายแพลตฟอร์มในเครือเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เหล่านักอ่าน เช่น ธัญวลัย (Tunwalai) และจอยลดา (Joylada) ที่ยังคงเติบโต
การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ “อุ๊คบี กรุ๊ป” จึงเริ่มต้นขึ้น
“ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อุ๊คบี กรุ๊ป กล่าวว่า อุ๊คบี กรุ๊ป มีธุรกิจในเครือหลากหลาย แต่ธุรกิจที่เป็นรายได้หลักมีสัดส่วนมากกว่า 50% มาจากกลุ่มการอ่าน เช่น ธัญวลัย และ Fictionlog ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดแนวคิดในการโอนย้ายธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มการอ่านมายังบริษัทลูก “สตอรี่ล็อก” (Storylog) ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน

ปัจจุบัน อุ๊คบี กรุ๊ป มีสถานะเป็น Holding Company ถือหุ้นในบริษัทลูกอย่างเดียว ไม่ได้บริหารแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้ว โดยสตอรี่ล็อกที่ถืออยู่ 100% จะดูแลธุรกิจกลุ่มการอ่าน ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ฟังใจ (Fungjai) แอปสตรีมเพลง, จอยลดา ที่โฟกัสเรื่องความบันเทิงมากขึ้น, Buddy Review ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ และ Ookbee Comics ก็จะมีบริษัทที่ดูแลแยกย่อยกันไป
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของอุ๊คบีในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่การปรับโครงสร้างอย่างเดียว แต่ได้ตัดสินใจยุติการจำหน่ายอีบุ๊กบนแพลตฟอร์มของอุ๊คบี ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับย้ายฐานข้อมูลทั้งหมดไปบ้านหลังใหม่ ที่ชื่อ “ปิ่นโต อีบุ๊ก” (Pinto) ด้วย โดยจะมีความหลากหลายของคอนเทนต์ หรือหมวดหมู่หนังสือมากขึ้น และเปิดให้ผู้ใช้ยืนยันบัญชีที่เคยซื้อไว้บนอุ๊คบี มาอ่านต่อบนปิ่นโต อีบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2567 เป็นต้นมา
“เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์” กรรมการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด ให้เหตุผลถึงการย้ายแพลตฟอร์มว่า อุ๊คบี ให้บริการมากว่า 10 ปี เทคโนโลยีหลังบ้านหลายอย่างจึงเก่ามากแล้ว ถ้าจะทำอะไรเพิ่มเติม การสร้างแพลตฟอร์มใหม่ตอบโจทย์กว่า ทำให้การพัฒนา “ปิ่นโต อีบุ๊ก” อยู่ในโรดแมปของอุ๊คบีตั้งแต่ 2 ปีก่อนและตอนนี้พร้อมให้บริการแทนแอปอุ๊คบีเดิมแล้ว

“หลังจากเปิดให้ผู้ใช้ยืนยันบัญชีและย้ายอีบุ๊กบนอุ๊คบีมาอ่านต่อบนปิ่นโต พบว่ากลุ่มผู้ใช้ที่ใช้งานเป็นประจำ มีการซื้ออีบุ๊กอย่างต่อเนื่องโอนย้ายบัญชีมาเกือบหมดแล้ว จะเหลือก็แต่กลุ่มที่นาน ๆ เข้ามาซื้ออีบุ๊กบนแอป เราก็พยายามสื่อสารให้ลูกค้ากลุ่มนี้ทราบว่า อุ๊คบียุติการให้บริการ และย้ายมาที่ปิ่นโตแล้ว”
ด้าน “กวิตา พุกสาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด เสริมว่า ปิ่นโต อีบุ๊ก ให้บริการมาแล้ว 2 ปี มีพาร์ตเนอร์สำนักพิมพ์ และนักเขียนอิสระกว่า 10,000 ราย มีคลังอีบุ๊กหลักแสนเล่ม แบ่งเป็นกลุ่มนิยาย 60% การ์ตูน 20% และสื่อหนังสือพิมพ์ 20% โดยในกลุ่มนิยายก็จะแบ่งหมวดหมู่ลงไปอีก เช่น นิยายวาย นิยายรัก นิยายจีนโบราณ ถือเป็นจุดที่ต่างจากแอปอุ๊คบีเดิม ซึ่งโฟกัสกลุ่มนิตยสาร หรือสื่อหนังสือพิมพ์เป็นหลัก

ในส่วนของยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ซื้ออีบุ๊กบน Fictionlog ที่มีอยู่หลักหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 24-35 ปี แต่ความหลากหลายของคอนเทนต์ ทำให้มีผู้ใช้หลากหลายช่วงอายุ เช่น กลุ่มเด็กชื่นชอบนิยาย ผู้ใหญ่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ทั้งยอดขายเติบโตกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เปิดตัว โดยรายได้ทั้งหมดจะมาจากส่วนแบ่งยอดขายอีบุ๊ก 30% ส่วนสถิติยอดซื้อสูงสุดบนแพลตฟอร์มอยู่ที่ราว 9,000 บาท
“การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่อย่าง ปิ่นโต อีบุ๊ก เป็นการรองรับการเติบโตต่อเนื่องของตลาดอีบุ๊ก และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ที่ระบุว่า มูลค่าตลาดในปี 2565 อยู่ที่ 1,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 1,627 ล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดปี 2566 น่าจะโตจากปีก่อนหน้าราว 7%”
นอกจากนี้ ปิ่นโต อีบุ๊ก ยังพัฒนาเพื่ออุดรอยรั่ว และเติมเต็มอีโคซิสเต็มของเหล่านักเขียนให้สมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเหล่านักเขียนที่สร้างผลงานและเผยแพร่บนแพลตฟอร์มในเครือของอุ๊คบีเป็นรายตอน จะมีการรวมเล่ม และจำหน่ายผลงานในรูปแบบอีบุ๊กด้วย อาจเป็นการวางขายหลังลงผลงานจบแล้ว หรือขายไปพร้อมลงผลงานควบคู่กัน แต่แพลตฟอร์มที่นักเขียนส่วนใหญ่นำงานไปลงขายไม่ใช่แพลตฟอร์มของอุ๊คบี
“การที่นักเขียนเอาอีบุ๊กไปขายบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Meb เป็นเรื่องที่เราเข้าใจดี เพราะเราไม่มีพื้นที่ให้นักเขียนจริง ๆ แอปอุ๊คบีก็ไม่ได้มีทาร์เก็ตเป็นคนอ่านนิยาย ดังนั้น ปิ่นโต อีบุ๊ก จึงตั้งใจที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเขียนบนแพลตฟอร์มในเครือ เช่น ธัญวลัย ที่มีกว่า 3 แสนคน ขายผลงานของตนเองได้มากขึ้น เรามีการทำแคมเปญขายนิยายบนธัญวลัยผ่านปิ่นโต เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักเขียนว่าเรามีพื้นที่ในการขายให้เขาแล้ว”
อย่างไรก็ตาม “ปิ่นโต อีบุ๊ก” ยังมีจุดที่ต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่มีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค การแข่งขันของแพลตฟอร์มในประเทศ หรือแม้แต่การเข้ามาให้บริการของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ “กวิตา” กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เรื่องสภาพเศรษฐกิจมีผลต่อการซื้อของผู้ใช้อยู่บ้าง แต่ก็รับมือโดยการพัฒนาระบบคูปอง หรือ Coin Back นำมาแลกเป็นส่วนลดในการซื้อครั้งต่อไปได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้มค่ากับการจับจ่าย ส่วนเรื่องการแข่งขันถือเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งสร้างการเติบโต หลังจากหันมาโฟกัสที่การขายอีบุ๊กในรูปแบบเล่มมากกว่าการขายเป็นรายตอน
“การเข้ามาให้บริการของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่มีทุนหนากว่าเรามาก เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กัน แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยสิ่งที่เราทำได้ คือทำงานร่วมกับดีป้า เพื่อสนับสนุนให้เกิด IP คนไทยเยอะ ๆ พยายามสร้างอีโคซิสเต็มนักเขียนไทยให้แข็งแรง และผลักดันให้เกิดการส่งออกผลงานไปยังต่างประเทศ แข่งขันกับคนอื่นได้ ไม่ใช่แค่รอรับคอนเทนต์จากต่างประเทศอย่างเดียว”
“แม่ทัพ อุ๊คบี กรุ๊ป” ทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่คิดว่าการเปิดตัว “ปิ่นโต อีบุ๊ก” จะช้าไป และถือเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งในตลาดอีบุ๊ก ประมาณ 5% ซึ่งยังมีโอกาสให้เติบโตอีกมาก อย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้าต้องไปถึง 20% ให้ได้