กสทช. พิรงรอง ชี้ ทางรอดของอุตสาหกรรมทีวีในฉากทัศน์ที่ต้องการส่งออกเนื้อหาสู่ตลาดโลก รัฐบาลต้องลงทุนโดยตรง ทั้งส่งเสริมเนื้อหา เจรจาข้ามชาติ และตั้งองค์กรแยกจาก กสทช. ดูแลไทยคอนเทนต์โดยตรง
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ทิศทางโทรทัศน์ดิจิทัลหลังสิ้นสุดใบอนุญาต 2572” เนื่องในงานครบรอบ 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล ”Beyond the Next Step“ ของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) และช่องทีวีสาธารณะ
หลังจากที่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เผชิญหน้ากับการดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีใหม่ และการรุกตลาดของแพลตฟอร์มระดับโลก และกำลังเข้าสู่ช่วงหมดอายุใบอนุญาตในปี 2572 หลังจากนั้น ทิศทางอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร
“จากการศึกษาของหน่วยวิจัยต่างชาติมองว่ามี 3 ฉากทัศน์หลังปี 2572 คือ 1.ทีวีดั้งเดิมล่มสลาย ผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการเนื้อหาที่มีคุณภาพในระดับที่หลากหลาย และขาดการกำกับดูแล รวมถึงความล้มเหลวของผู้ให้บริการฟรีทีวี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลสูญเสียรายได้จากการโฆษณาให้ผู้ให้บริการ OTT อาจต้องปิดตัวลง 2.การผสมผสานของทีวีแบบดั้งเดิมกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม และหลอมรวมเรื่องรายได้ลงตัว ซึ่งทั้งผู้ประกอบการรวมตัวกัน และหน่วยกำกับดูแลเจ้าแทรกแซงทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย สุดท้ายคือ 3.การที่อุตสาหกรรมทีวีสามารถเติบโตในตลาดโลกได้”
ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นมุมมองแบบ Top Down ที่จะเกิดได้เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน และต้องลงทุนเต็มที่ และสั่งการลงไปทุกส่วน
กสทช. พิรงรอง กล่าวด้วยว่า หากเชื่อมั่นว่าคอนเทนต์ซอฟต์พาวเวอร์จะสามารถทำให้เนื้อหาทีวีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก รัฐบาลจะต้องส่งเสริมผู้ผลิตเนื้อหาโดยตรง รวมถึงการนำขึ้นบนแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งยังต้องเจรจากับต่างประเทศเพื่อให้สามารถนำเนื้อหาของไทยออกไปนำเสนอ ให้เกิดเนื้อหา Thai Wave และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ซึ่งจุดนี้แค่ กสทช. ไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมและกำกับดูแลเนื้อหาเช่นนั้น ต้องมีการยุบรวม หรือตั้งองค์กรใหม่ที่คล้ายกับ THACCA แต่เป็นการส่งเสริมและกำกับเนื้อหาด้านซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง