วังวน TOT-CAT-ปณท แก้ไม่ตรงจุด-ติดกรอบรัฐวิสาหกิจ

ยังรวมตัวกันต่อต้านต่อเนื่อง สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อย่าง บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ที่คัดค้านการโอนทรัพย์สินไปอยู่กับ2 บริษัทลูก และล่าสุดพนักงาน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ติดริบบิ้นดำประท้วงการประเมินผลงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบอร์ดที่มีกระแสข่าวว่าจะให้ “ไม่ผ่าน”

ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูป และฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ

สถานการณ์ของ “ทีโอที-แคท” ตกที่นั่งเดียวกัน คือเข้าสู่ภาวะ “ขาดทุน” ขณะที่ “ไปรษณีย์ไทย” แม้ยังกำไรแต่เสี่ยงต่อการเพลี่ยงพล้ำ คู่แข่งทั้งไทยและเทศที่ดาหน้าเข้ามาช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการกับ “ทีโอที-แคท” มุ่งที่ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ปณท ได้รับโจทย์ให้ก้าวสู่ “ไปรษณีย์ 4.0” หนุนอีคอมเมิร์ซชุมชน

โฟกัสปัญหาผิดจุด

ถามว่า รัฐบาล มองเห็น และเข้าใจปัญหาชัดเจนแค่ไหน ในสายตาพนักงานคงคิดต่าง เห็นได้จากการรวมตัวคัดค้าน

“สังวรณ์ พุ่มเทียน” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แคท ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายที่ออกมา ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงนั่นคือขาดความคล่องตัว ปัจจุบันกว่าแคทจะเดินหน้าโครงการอะไรได้ ต้องเสนอให้กระทรวงดีอีอนุมัติ เข้าสภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง ไป ครม. ทำให้แข่งขันไม่ได้ ทั้งยังต้องรื้อโครงสร้างองค์กรใหม่ทุกครั้งที่มีรัฐมนตรี มีบอร์ดใหม่

โครงการดีเลย์เป็นปกติ

สอดคล้องกับความเห็นของอดีตผู้บริหารระดับสูงของแคท ที่ระบุว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้แต่ละโครงการล่าช้า ตัวอย่างชัดๆ คือ โครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในส่วนภูมิภาค วงเงิน 13,430 ล้านบาท

“เริ่มศึกษาปี 2546 ครม.อนุมัติปี 2547 ทั้งที่ใช้เงินรายได้ของแคทลงทุน เปิดประมูลได้ปี 2548 กว่าจะส่งมอบงานให้ได้ครบก็ต้นปี 2550 และยังทยอยลงทุน CDMA ต่อเนื่อง แม้จะมีผู้ทักท้วงว่าหลายประเทศใช้เทคโนโลยี HSPA มาแทนที่ ปี 2551 เอไอเอสเริ่มทดลอง HSPA แคทยังโฟกัสอยู่แต่ CDMA กว่าจะหันมาก็ปี 2554 แล้ว”

แหล่งข่าวจาก “ทีโอที” เสริมอีกว่าโครงการที่ใหญ่สุดน่าเป็นทีโอที 3G วงเงิน 15,999 ล้านบาท ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2551 เปิดประมูล ม.ค. 2554 แต่ติดตั้งเฟสแรกเสร็จปี 2556

ส่วนโครงการเป็นพันธมิตรธุรกิจไร้สายกับกลุ่มเอไอเอสที่เพิ่งลงนามได้เมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา ใช้เวลา 3 ปี ขณะที่ “สัญญาร่วมทุนทาวเวอร์ 2G” กับเอไอเอสผลักดันตั้งแต่ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน 30 ก.ย. 2558 ก็ยังไม่ได้ลงนาม

ฟากไปรษณีย์ไทยมี 2 โครงการที่ใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้างยาวนาน คือ โครงการจัดซื้อระบบ CA POS วงเงิน 1,955 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2539-2544 รองรับการทำงานของระบบนำจ่ายทั้งหมด

ขณะที่โครงการ New CA POS พัฒนาระบบเคาน์เตอร์อัจฉริยะ ให้เพิ่มเติมบริการใหม่ ๆ ต่อได้ แหล่งข่าวจาก ปณท กล่าวว่า เริ่มยกร่าง TOR ตั้งแต่ปี 2556 เริ่มจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์และซื้อ-เช่าอุปกรณ์ ปี 2557 จนถึงขณะนี้ยังติดตั้งไม่เสร็จ วงเงินโครงการ 145 ล้านบาท แต่ปัจจุบันค่าปรับจากการติดตั้งล่าช้ารวมแล้วเกือบเท่าวงเงินโครงการขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมากจนไม่แน่ใจว่า ข้อกำหนดทางเทคนิคเดิมจะรองรับเทคโนโลยีใหม่ได้แค่ไหน

ติดกรอบรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ แม้ผลประกอบการปี 2560 จะมีกำไร 4,221 ล้านบาท แต่ “สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท ยอมรับว่า เป็นยุคแข่งขันรุนแรงมาก ในฐานะบริษัทโลจิสติกส์แห่งชาติก็ต้องสู้ แต่ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ พนักงานในระบบนำจ่ายเป็นอีกหัวใจสำคัญของคุณภาพบริการ ส่วนเป็นใหญ่พนักงานจ้างเหมา การเปิดโอกาสให้ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำเพื่อให้มีกำลังใจ เห็นอนาคต ก็มีกรอบอัตราตามระเบียบในฐานะรัฐวิสาหกิจ

เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการต่าง ๆ อย่างการขยายไปรษณีย์ศูนย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีเครื่องคัดแยกอัตโนมัติเพิ่มขึ้น ด้วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจทำให้ทุกอย่างดูเหมือนล่าช้า

ภาพลวงตา “อีคอมเมิร์ซ”

แหล่งข่าวจากไปรษณีย์ไทยระบุว่า ถ้าเจาะลงไปดูในรายละเอียดของปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองและในมือโลจิสติกส์เอกชน

“งานในมือ ปณท ก็เพิ่มขึ้น แต่มักเป็นพื้นที่ที่ไกลขึ้น อยู่นอกพื้นที่บริการของเอกชน ซึ่งมาร์จิ้นในการส่งจะบาง ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลที่หวังว่า POS (Point of Sale) ชุมชนจะช่วยให้ไปรษณีย์ไทยคงมาร์เก็ตแชร์ไว้ได้จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างนี้”

สิ่งที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่กับทั้ง 3 รัฐวิสาหกิจ รัฐบาลและหน่วยงานกำกับอย่างกระทรวงดีอีจึงน่าจะย้อนกลับมาทบทวนแนวทางการปฏิรูปที่วางไว้ ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่อย่างไร