Gusto เมื่อ “คน” คือ “ศูนย์กลาง”

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

Gusto ก่อตั้งในปี 2011 เพื่อนำเสนอซอฟต์แวร์จัดการระบบเงินเดือนพนักงานที่ใช้ง่าย และไม่แพง จัดเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ มีพนักงาน 400 คน และมีลูกค้าเป็นบริษัทขนาดกลาง และเล็ก 60,000 แห่ง

นอกจากมีดีด้านเทคโนโลยีแล้ว Gusto ยังโดดเด่นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับ “คน”

ผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ได้แก่ โจชัว รีฟส์ (CEO) เอ็ดเวิร์ด คิม (CTO-chief technology officer) และ โทเมอร์ ลอนดอน (CPO-chief productofficer) พูดเสมอว่า เทคโนโลยีควรเกิดมาเพื่อผ่อนแรงองค์กร เพื่อจะได้มีเวลา “ใส่ใจ” พนักงานมากขึ้น

ที่ Gusto งานหลังบ้านบางอย่างถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเทคโนโลยี โดยผู้บริหารและแผนก HR เอาเวลามาทุ่มเทกับการสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม และมี “คน” เป็นศูนย์กลาง

ดังนั้น นอกจากพนักงานที่นี่จะมีสวัสดิการที่น่าอิจฉา (ประกันสุขภาพชั้นเยี่ยม วันลาแบบไม่อั้น ตั๋วเครื่องบินไปไหนก็ได้ทั่วโลก เมื่อทำงานครบ 1 ปี ฯลฯ) ทุกคนยังได้รับการส่งเสริมให้เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงความเห็น และมีส่วนร่วม

นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการจ้างเอ็นจิเนียร์หญิง เพื่อสร้างความเท่าเทียมและหลากหลาย ก็มาจากพนักงานสาวคนหนึ่งที่กล้าเดินไปบอก CTO เอ็ดเวิร์ด ว่า เธอต้องการให้มีเอ็นจิเนียร์ผู้หญิงในบริษัทมากกว่านี้ เพราะอึดอัดที่ต้องเป็นหญิงสาวคนเดียวในทีม

แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาของคนแค่คนเดียว เอ็ดเวิร์ดกลับตั้งใจฟัง และเมื่อพบว่าทีมเอ็นจิเนียร์ทั้งหมด 84 ทีมของ เทคสตาร์ตอัพ ในซิลิคอนวัลเลย์ มีสมาชิกเป็นผู้หญิงแค่ 12% ในขณะที่งานวิจัยของ Mckinsey ชี้ว่า องค์กรที่มีความหลากหลาย (เพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ) จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า เอ็ดเวิร์ดก็ไม่ลังเลที่จะผลักดันให้การจ้างเอ็นจิเนียร์หญิงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของบริษัททันที

ในขณะที่ซีอีโออย่างโจชัว ก็ขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ “คน” อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เขาใช้เวลา 2-3 เดือน คลุกคลีกับพนักงานระดับปฏิบัติการที่มีด้วยกันกว่า 30 ทีม ทั้งในสำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโก และออฟฟิศที่เดนเวอร์ เพื่อรับฟังปัญหาและลองทำงานของพนักงานทุกแผนกด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังจัด “โรดทริป” ที่เขากับสตาฟอีก 3 คน ขับรถบ้านปุเลง ๆ ไปตามเมืองใหญ่กว่า 11 เมืองทั่วประเทศ เพื่อพบปะลูกค้า

การนั่งหลังขดหลังแข็ง กิน นอน ในรถ เป็นเวลาครึ่งเดือน อาจฟังดูไม่สมฐานะ “ซีอีโอ” แต่โจชัวกลับชอบ เพราะการได้พูดคุยกับ “คน” ทำให้เขาเข้าใจปัญหาของทั้งพนักงานและลูกค้าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ลูกค้าเมื่อเห็นตัวอย่างดี ๆ ก็เริ่มนำไปปรับใช้เพื่อดูแลพนักงานของตัวเองบ้าง

ไม่แปลกที่ Gusto จะเป็นหนึ่งใน 100 บริษัท ที่น่าทำงานด้วยที่สุดในสายตาของคนรุ่นใหม่ จากผลการสำรวจของ Fortune ในปี 2017 หลายคนมองว่าการโปรโมตเรื่องวัฒนธรรมองค์กร คือ ส่วนหนึ่งของการ “พี.อาร์.” แต่ Gusto ไม่ได้ดีแต่ “พูด” บริษัทลงมือ “ทำ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงสยบข้อครหาและสามารถครองใจทั้งพนักงานและลูกค้า การเป็นขวัญใจสื่อถือเป็นผลพลอยได้ เรียกว่า ทำดี มีคนเห็น ทำเป็น ก็ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง นั่นเอง