กสทช. ชี้ พัฒนา PCB ในไทย อัพมูลค่าอุปกรณ์โทรคมนาคม 2.4 แสนล้าน

ประธาน กสทช. เน้นย้ำความสำคัญอุตสาหกรรม PCB ส่งผลต่อมูลค่าอุปกรณ์โทรคมนาคมในประเทศทุกประเภท 2.4 แสนล้านบาท ชี้ อนาคตสดใส ไทยมีอีโคซิสเต็มพร้อม ภาครัฐสนับสนุนความรู้ แรงงานสิทธิประโยชน์ลงทุน ภูมิรัฐศาสตร์ และโครงข่าย 5G

วันที่ 17 กันยายน 2567 ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ขึ้นกล่าวในงานสัมมนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” จัดโดยบริษัทในเครือมติชน ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยว่า กำลังอยู่ในช่วงสำคัญ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมด้านอีโคซิสเต็ม ทั้งเทคโนโลยี 5G และรัฐบาลเองก็สนับสนุนในเชิงนโยบาย การสร้างและพัฒนาคนในอุตสาหกรรม และภาคส่วนส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ก็เปิดรับ

PCB เป็นเหมือนซีแนปส์ หรือจุดรวมประสาท อยู่ในทุกอย่าง ไม่ว่าเราเตอร์ไวไฟที่เราใช้ที่บ้าน เสา 5G ทั้งหมด นับรวมไปถึงตัวรับส่งสัญญาณไปถึง 30,000 กิโลบนอวกาศ ซึ่งโครงข่ายเหล่านี้ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ นาฬิกาทุกอย่างที่เราใช้ หรือแวร์เอเบิลดีไวซ์ ที่เราใช้ดูแลสุขภาพของเรานะครับ PCB ล้วนเป็นพื้นฐานการพัฒนา ถามว่าทำไมเราต้องมาสนใจพัฒนาสิ่งที่มันมีอยู่มานานแล้ว

หลายประเทศอย่างเจ้าใหญ่ก็คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มีการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มานานมาก เช่นเดียวกับบ้านเราก็มีโรงงานทำ PCB อยู่เหมือนกัน แต่ทำไมเราจะต้องทุ่มให้มันเกิดเป็นแสนเป็นล้านในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องมองในเรื่องการพัฒนาฮาร์ดแวร์ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ เมื่อเราทำมันเป็นประจำ เราก็เก่งขึ้น มันก็จะเอามาใช้ในหลายอย่าง เช่น การประมวลข้อมูลภาพใหญ่ในดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหลาย ก็ต้องอาศัยเบสิกของอุตสาหกรรมนี้ ที่จะต้องออกแบบให้สอดรับกัน

ความท้าทายในการทำ PCB มีอะไรบ้าง คือมันเรื่องฮาร์ดแวร์ ในขณะที่คนในบ้านเรา เยาวชน หรือว่าคนรุ่นใหม่ จะเก่งทำซอฟต์แวร์ แต่ต้องเน้นย้ำว่าเรื่องของฮาร์ดแวร์มาก่อนซอฟต์แวร์ ถ้าแรงงานของเราทำฮาร์ดแวร์เก่งซอฟต์แวร์ก็ตามมาเอง ด้วยเทคโนโลยีในการผลิต PCB ก็มีหลากหลายและก้าวหน้าขึ้นในอดีตมันอาจจะเป็นพลาสติก ปัจจุบันมันเป็นอะลูมิเนียม เพื่อทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็อาจใช้แพลทินัมหรืออื่น ๆ ในอนาคต เพื่อให้มันสามารถออกแบบได้อย่างเหมาะสมยืดหยุ่นได้ตามอุปกรณ์และความต้องการใช้ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีหลายรูปแบบ และต้องการความยืดหยุ่นในการติดเข้าไปในดีไวซ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

อีกอย่างคือระบบการทดสอบสัญญาณ และไม่มีการทดสอบการรบกวนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายซึ่งเราจะต้องเรียนรู้เมื่อเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ รวมไปถึงมาตรฐานของ PCB เพราะทุกชิ้นส่วนจะถูกนำไปใช้ เพราะ PCB ที่ใช้ในยานอวกาศมันก็จะไม่เหมือนที่เอาไปใช้ในรถอีวี เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้มากขึ้น

ADVERTISMENT

แล้วถ้าหากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต PCB ความต้องการตลาดมันจะโตตามมา โดยมูลค่าตลาดปี 2566 เครื่องรับส่งโทรศัพท์มีมูลค่าตลาด เติบโตประมาณ 15% แบบฟิกไลน์ประมาณ 14% แบบเคลื่อนที่เติบโต 15% อุปกรณ์เชื่อมต่อเคเบิลไร้สาย มูลค่าตลาด 35,000 กว่าล้านบาท อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นโดยรวมของอุปกรณ์โทรคมนาคมตอนนี้ 240,000 กว่าล้านบาทในประเทศ ล้วนแต่จะได้อานิสงส์จากการที่เราพัฒนา PCB ของเราเอง

ถามว่าทำไมต้องเป็นประเทศไทย

เรื่องแรกคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งทั้งคู่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เรา เพราะฉะนั้นภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เราได้เปรียบ ถ้าเราสามารถที่จะทำสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าจะย้ายฐานการผลิตมาที่เรา ก็ดี เพราะว่าเรามีแรงงานมีทักษะ เรามีค่าจ้างแรงงานที่ดี เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

ADVERTISMENT

ทั้งในเรื่องของดีไวซ์และโครงข่าย 5G ที่เอื้อต่อการสร้างอีโคซิสเต็มทางเทคโนโลยี และเรามีการส่งเสริมใน EEC การส่งเสริมผ่านสิทธิประโยชน์การลงทุน แล้วเรามีนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำความสำคัญ ผมว่าเรื่องนี้ทั้งเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลเน้นย้ำในการแถลงนโยบาย เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญ ที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ให้ก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ทาง กสทช.เองมีการส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านโทรคมนาคม ซึ่งงานสำคัญอันหนึ่ง คือการสร้างอุตสาหกรรม PCB ให้เป็นจุดแข็งของประเทศ โดยมีเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเราสามารถส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนา PCB ให้เป็นไปได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเราจะได้เป็นประเทศชั้นนำในการผลิตในภาคอาเซียนต่อไป