กมธ.อุตสาหกรรม หนุนแก้กฎหมาย PCB คุมระเบียบใช้แรงงาน-ทรัพยากรไทย

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม มอง PCB เป็นกลไกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ยันพร้อมหนุนแก้กฎหมาย แนะระเบียบคุมใช้แรงงาน-ทรัพยากรในประเทศไม่เช่นนั้นจะเป็นอย่างทัวร์ศูนย์เหรียญ แนะมหา’ลัยผลิตบัณฑิตรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ใช่ด้านมุ่งสังคม สุดท้ายตกงาน

วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่โรงแรมพูลแมน ถนนรางน้ำ กทม. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม (กมธ.อุตสาหกรรม) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในวงเสวนาประเด็น “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” ที่จัดโดยเครือมติชนฯ ว่าตนในฐานะประธาน กมธ.อุตสาหกรรม เป็นฝ่ายนิติบัญญัติดูเรื่องกฎหมาย ทั้งนี้ PCB กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศในอนาคต

ปัจจุบันไทยมีความท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม ซึ่งถือเป็นฐานลงทุนใหม่ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฝั่งยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา ฉะนั้นไทยจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

นายอัครเดชกล่าวอีกว่า ตนในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องแก้ไขปรับกฎหมาย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ฉะนั้น ต้องแก้กฎหมายหลายอย่าง แต่ต้องไม่ลืมว่าการแก้อุตสาหกรรมจะต้องควบคู่ไปกับการปรับตัวของสิ่งแวดล้อมในทุกชุมชนด้วย ที่ผ่านมา กมธ.อุตสาหกรรมยื่นแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ทั้งเรื่องแก้ พ.ร.บ.อุตสาหกรรม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า และจะมีอีก 6-7 ฉบับที่จะเป็นสิ่งสำคัญนอกเหนือการส่งเสริม และทำให้อุตสาหกรรมเติบโต ควบคู่ไปกับชุมชนและประเทศชาติ

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรมย้ำว่า กมธ.จะทำหน้าที่เป็นข้อกลางเชื่อมฝ่ายบริหาร ภาคธุรกิจ นักลงทุน อะไรที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมเป็นตัวเชื่อมให้กับรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรี รับไปพิจารณา

ขณะที่การพัฒนาทักษะบุคลากรแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม PCB นายอัครเดชกล่าวว่า บุคลากรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจมาไทยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายบริษัทไม่เลือกประเทศไทย แต่เลือกประเทศเพื่อนบ้าน คือเรื่องคน ฉะนั้น ตนจึงอยากฝากคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) และกระทรวง อว. ว่าต้องปรับปรุง

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า การผลิตบัณฑิตของไทย ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เราผลิตบัณฑิตทางด้านสังคมศาสตร์ออกมามาก และบอกว่าบัณฑิตเราตกงาน ฉะนั้น วันนี้เราต้องการบุคลากรเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจ PCB จึงต้องมีการพัฒนาทักษะ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน แต่วันนี้มหา’ลัยรัฐแทบทุกแห่งยังไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะตั้งแต่ปี 2562 ที่เป็น กมธ.งบประมาณ ให้ข้อสังเกตผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดที่เน้นผลิตนักศึกษาด้านบริหาร สังคมศาสตร์ กว่า 80% แต่ขณะเดียวกันเราผลิตบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์แล้วก็ตกงาน

รวมถึงพอลงพื้นที่ บัณฑิตก็มาร้องเรียนว่าไปสมัครงานก็ถูกตีเป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้ใช้วุฒิปริญญาตรี แต่ใช้วุฒิ ม.6 ในการสมัคร ซึ่งจริง ๆ ทิศทางการผลิตบุคคลของเรา ไม่ได้เชื่อมโยงทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ผลิตตามความอยู่รอดของมหา’ลัย อะไรที่เด็กอยากเรียนก็ไปผลิตบัณฑิตทางนั้น โดยที่เด็กเรียนเอาง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ อว.ต้องรับไปหากจะสนับสนุนอุตสาหกรรม PCB

ADVERTISMENT

นายอัครเดชกล่าวอีกว่า วันนี้เรากำลังเปลี่ยนอุตสาหกรรม แต่โครงสร้างการลงทุนไทยยังเป็นอุตสาหกรรมเก่าอยู่ไม่ตอบโจทย์ ฉะนั้น ตรงนี้ผู้บริหารประเทศต้องคิดว่า เมื่อเข้าสู่ยุค AI ยุคธุรกิจ PCB โครงสร้างพื้นฐานต้องรองรับการลงทุนที่เกี่ยวกับดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน และคิดว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องทำ

ส่วนการสนับสนุนทางกฎหมาย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดีรองรับอุตสาหกรรม PCB นายอัครเดชมองว่า ตรงนี้น่ากังวล เพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้น้ำเยอะมาก พร้อมยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์โรงงานระเบิดที่จังหวัดระยอง โดยตอนนี้ประเทศไทยเจอปัญหามากเรื่องการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ฉะนั้น เมื่อเราดึงนักลงทุนเข้ามาควรมีกฎหมายรองรับการกำจัดของเสีย ซึ่งคิดว่าวันนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการ

ขณะที่เรื่องการแก้ไขกฎหมาย มองว่าควรมีกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อนำมาแก้ปัญหากากของเสียอุตสาหกรรม โดยวันนี้ตนได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.กองทุนโรงงาน เพื่อใช้ดำเนินการเรื่องนี้ จะมีการเก็บเงินจากเอกชนเข้ากองทุนเพื่อนำมาใช้หากเกิดปัญหา โดยไม่ต้องใช้งบประมาณประเทศ

ส่วนการคุ้มครองแรงงานไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรม PCB นายอัครเดชกล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงมาก วันนี้เมื่อนักลงทุนมาเขาก็จะดึงทรัพยากรของตัวเองเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ฉะนั้น จะทำให้คนในบ้านตายหมด จึงต้องแก้ไขกฎหมาย อย่างเช่นอาชีพสงวน ฉะนั้น เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นอย่างกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญ

ช่วงท้าย นายอัครเดชกล่าวย้ำว่า การแก้ไขกฎระเบียบและการทำงานของภาครัฐต้องดำเนินการให้ดี เพราะนักลงทุนก็ยังกังวล เพราะเมื่อไปถึงระดับปฏิบัติจริง นักลงทุนกังวลว่าทำได้จริงหรือไม่ ฉะนั้น ควรต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักลงทุน PCB เพื่อให้รองรับอุตสาหกรรมจริง ๆ และสร้างประโยชน์ให้ประเทศจริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นอย่างทัวร์ศูนย์เหรียญ