กสทช. หนุนทุนพัฒนาอุปกรณ์ ICT AI IOT เสริมระบบโรงงานอัตโนมัติเร่งผลิต PCB

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล

รักษาการเลขาฯ กสทช. ชี้โครงข่าย 5G ในไทยเอื้อทำระบบโรงงานอัตโนมัติ พร้อมให้ทุนผู้ประกอบการ นักศึกษา นักวิจัย พัฒนาอุปกรณ์โทรคมนาคม เอไอ และ IOT เสริมอุตสาหกรรมผลิต PCB

วันที่ 17 กันยายน 2567 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวแสดงความเห็นในงานสัมมนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” จัดโดยบริษัทในเครือมติชน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงข่ายสื่อสารที่ดี ที่ทำให้ไทยได้เปรียบในการสร้างโรงงานอัจฉริยะ

จริง ๆ แล้วประเทศไทย รายได้หลักมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เราเป็นมหาอำนาจการต้อนรับ แต่ถ้าเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราคงจะต้องมีการโฟกัสลงไปว่าเราจะคัดเลือกอุตสาหกรรมประเภทไหนที่จะทำให้เรามีความเก่งหรือว่าดีกว่าคนอื่น อุตสาหกรรมที่เป็นพวก S-Curve แบบเก่า หรือ New S-Curve ปัจจุบันที่จะเกิดขึ้นก็คงเป็นพวกเกี่ยวกับระบบดิจิทัลต่าง ๆ

ในส่วนของการผลักดันอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างโทรศัพท์มือถือ IOT (อุปกรรณ์อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง) ต่างก็ใช้ PCB ทั้งหมด กสทช. เราสนับสนุน มีส่วนร่วมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับประเทศ

สมัยก่อนเราใช้ 2G-4G ในการสื่อสารสำหรับมนุษย์ติดต่อกับมนุษย์ ตอนนี้เราไป 5G เป็นลักษณะอุปกรณ์สื่อสารกับอุปกรณ์ติดต่ออุปกรณ์ ถ้าโรงงานที่จะเปิดขึ้น ตามที่รองเลขาธิการอีอีซีระบุว่า จะมีโรงงานผลิต PCB ที่จะเปิดในไทย เป็นโรงงานที่ระบบหุ่นยนต์ โรโบติกส์ทั้งหมด เราก็มีการทำโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้แล้วโดยโอเปอเรเตอร์มือถือต่าง ๆ ที่ประมูลแถบคลื่นความถี่ไปหลายคลื่น เขาก็พร้อมที่จะให้บริการกับโรงงานต่าง ๆ ในเขตอุตสาหกรรม

ADVERTISMENT

อีกส่วนหนึ่งคือเรามีทุนให้กับนักศึกษา กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้กับนักศึกษาหรือสตาร์ตอัพต่าง ๆ ที่คิดอะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสาร อยากจะทดลองและยังไม่มีทุน ให้ท่านมาขอได้ นี่เป็นส่วนเสริมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทางมนุษย์

ADVERTISMENT

ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 5G ของเราที่ครอบคลุมประมาณสัก 90% ต่อประชากร เพราะฉะนั้นการที่จะนำ ไอซีทีหรือว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเสริม หรืออุปกรณ์ IOT ต่าง ๆ ว่าแต่ละโรงงานในการช่วยกันผลิต PCB ไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากนี้ ในด้านดัชนีทักษะและการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศของเราชี้ว่า เราเข้าถึงเทคโนโลยีไอซีทีในปี 2567 เพิ่มขึ้น 3% จาก 88% เป็น 90% จึงมั่นใจได้ครับว่าโครงข่ายของเราครอบคลุม โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของประเทศครบพร้อมที่จะให้บริการรวมถึงสนับสนุน