“กสทช.” ถอยสุดทาง รักษาสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียม

sattle lite
ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล

สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ 3 ตำแหน่ง คือ 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก ยังไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูลเพื่อขออนุญาตประกอบกิจการ เนื่องจากเอกชนมองว่าพื้นที่ในการให้บริการไกลเกินไป (บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และตะวันออกกลาง) และราคาตั้งต้นประมูลแพงเกินไป จึงนับเป็นความท้าทายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีหน้าที่ตาม ม.60 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ในการรักษาสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในฐานะ “สมบัติชาติ”

เส้นตาย ITU สิทธิวงโคจร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุด (18 ก.ย. 2567) มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือด้วยพันธะของ กสทช. และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่กำหนดเส้นตายสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมใน 3 ตำแหน่งดังกล่าวของประเทศไทยจะสิ้นสุดลงในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ (ไม่ได้หมายความว่าจะมีการส่งมอบสิทธิวงโคจรให้ประเทศอื่น แต่เป็นลักษณะ First Come, First Serve จึงต้องมีการร้องขอมาที่ ITU ก่อน)

ดังนั้น ประเทศไทย จึงต้องร้องขอต่อบอร์ด ITU ให้ขยายสิทธิในวงโคจรดังกล่าวออกไป และกระบวนการเหล่านี้มีระยะเวลา อีกทั้ง กสทช.เองก็ต้องเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมว่าสามารถบริหารจัดการทรัพยากรวงโคจรเหล่านี้ได้ต่อไปอย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้ขยายอายุสิทธิ

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ความสัมพันธ์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ กสทช. ยังเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข กับ ITU จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการขยายอายุสิทธิวงโคจรจะมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงาน กสทช. ได้เจรจาในเบื้องต้นแล้ว แต่กระบวนการบริหารจัดการภายในของประเทศไทยต้องแน่ชัดภายในเดือนตุลาคม เพื่อให้ทาง ITU มีเวลานำเรื่องเสนอบอร์ดต่อไป

นั่นหมายความว่า การจัดสรรสิทธิเข้าใช้วงโคจรให้เอกชนไปดำเนินการจึงต้องรีบเร่งดำเนินการ

ลดราคา-เลิกเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ปรับลดราคาประมูลขั้นต่ำของ 3 ตำแหน่งวงโคจร โดยตำแหน่ง 50.5-51 จากราคา 374 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 41 ล้านบาท เช่นกันกับวงโคจร 142 องศาตะวันออก ที่ลดจาก 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจเข้าประมูลแต่อย่างใด จึงต้องมีการหารือปรับเงื่อนไขจากการประมูล เป็นการจัดสรรสิทธิโดยตรงแบบเปิดกว้าง (Open Direct Award) โดยพิจารณาคัดเลือกจากการเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ (Beauty Contest)

ADVERTISMENT

และล่าสุด บอร์ด กสทช.มีมติยกเลิกการจัดชุดแพ็กเกจ และให้จัดสรรรายตำแหน่ง ทั้งยกเลิกราคาขั้นต่ำของการประมูล รวมถึงปรับเงื่อนไขสำคัญอีกข้อ ที่เดิมผู้มีสิทธิได้ใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจะต้องมี “ดาวเทียม” ของตนเองขึ้นสู่วงโคจร ก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว จะโดยการร่วมทุน เช่าใช้ หรือลากมาจากวงโคจรอื่นก็ย่อมได้ ขอให้สามารถ “รักษาสิทธิวงโคจร” ได้ก็พอ

เรียกได้ว่า กสทช.ถอยสุดซอย เพื่อเปิดทางให้มีผู้เข้ามา “รักษาสิทธิ” วงโคจรดาวเทียมดังกล่าวให้ได้

ADVERTISMENT

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกประกาศให้เอกชนผู้สนใจ ยื่นแสดงความจำนง คุณสมบัติ และข้อเสนอให้ กสทช.พิจารณา โดย กสทช.คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ซึ่งข้อเสนอต่อดังกล่าวจะต้องมีเรื่องผลตอบแทนกับรัฐด้วย

ข้อเสนอต่อ กสทช.

ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ และนำไปรับฟังความเห็นในเบื้องต้นระบุว่า คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เกณฑ์การพิจารณาอนุญาต กำหนดให้มีการใช้เกณฑ์การตัดสินเพื่อเปรียบเทียบข้อเสนอที่ดีที่สุด

โดยมีน้ำหนักคะแนนรวมทั้งหมด ได้แก่ ความพร้อมในการรักษาสิทธิวงโคจร น้ำหนัก 40%, ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจ หรือดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม 25%, ข้อเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐ 20%, ความสามารถด้านการเงิน และข้อเสนอการวางหลักประกันการรักษาสิทธิการเข้าใช้วงโคจดาวเทียม,อัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ กำหนดในอัตราขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับแก้ในรายละเอียดและจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะอีกครั้งหนึ่ง

จึงต้องจับตาดูกันต่อว่า เมื่อ กสทช. ผ่อนคลายเงื่อนไขต่าง ๆ ขนาดนี้แล้ว จะมี “เอกชน” รายใด ยื่นข้อเสนอขอใช้สิทธิในวงโคจรดังกล่าวบ้าง