โฆษณาเครื่องสำอางค์-อาหารเสริมผิดกฎหมายดิ้นหนีขึ้นเว็บไซต์ “กสทช.-อย.” เร่งคุมเข้ม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3

โดยนายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จำนวนช่องทีวีทั้งทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม มีการเผยแพร่โฆษณาผิดกฎหมายลดลง แต่ในช่องทางเว็บไซต์กลับมีเพิ่มขึ้น โดย กสทช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังช่องทีวีให้ระงับการเผยแพร่  รวมถึงส่ง URL ของเว็บไซต์ไปให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อสกัดกั้น URL ดังกล่าว

สำหรับช่องทีวีดิจิทัลที่พบสัปดาห์ก่อนมีทั้งหมด 3 ช่อง ที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ 1. ช่องสปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์อัลฟ่า คอลโรฟิลล์ พลัส 2. ช่อง NOW ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชาริส และ 3. ช่องเนชั่นทีวี ผลิตภัณฑ์ LOLITA

ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวี ที่เพิ่มใหม่มีจำนวน 7 ช่อง ได้แก่ 1. ช่อง T Variety 2. ช่อง 4050 Channel 3. ช่อง Hit Variety 4. ช่อง People TV 5. ช่อง Lao Star 6.ช่อง DOONEE Series และ 7. ช่อง Cool Channel รวมผลิตภัณฑ์ที่พบใหม่ 10 ผลิตภัณฑ์ คือ สบู่สมุนไพร จาเป่า, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมก้าไวท์, เครื่องสำอาง มิราเคิลไวท์, ผลิตภัณฑ์Kriss, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันมะพร้าวชนิดแคปซูล ออร์กรีน, ผลิตภัณฑ์อาหารน้ำมันงาดำสกัดเย็น ตรา นิโกะ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรานพเก้า, ผลิตภัณฑ์อาหาร เมก้า-ไวท์, ผลิตภัณฑ์Delsy Super Solution Serum และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพชง

ขณะที่เว็บไซต์พบโฆษณาผลิตภัณฑ์ สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายเพิ่มอีก 50 URL ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กระตุ้นและยกระดับภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ปรับสมดุลผิว ลดความหมองคล้ำ และผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศ

ด้านภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณามีการจดแจ้ง อย. ถูกต้อง แต่มีการโฆษณาเกินกว่าที่ยื่นขออนุญาตไว้ และมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

สำหรับการดำเนินการเฝ้าระวังของ กสทช. และ อย. ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 4-15 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมมือกัน สำนักงาน กสทช. ได้ระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายในทีวีดิจิทัล  7 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวี  25 ช่อง 22 ผลิตภัณฑ์ และเว็บไซต์จำนวน 10 URL

วันที่ 16-18 พ.ค. 2561 พบว่า มีทีวีดิจิทัล 2 ช่องที่ ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวี ยังมี 10 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ และโฆษณาในฝั่งเว็บไซต์มีจำนวน 20 URL