Fujifilm BI แก้ภาพจำคนขายกล้อง สู่โซลูชั่นโพรไวเดอร์

fujifilm
ทิพย์อาภา ลชิตาวงศ์-ธีรยา สุขมาก

เมื่อกล่าวถึง Fujifilm ภาพจำยังคงเป็นเรื่องฮาร์ดแวร์ ไม่ว่าจะกล้อง ฟิล์ม สแกนเนอร์ เครื่องมือทางการแพทย์ และอื่น ๆ แต่รายได้ในปี 2023 กว่า 40% มาจากหน่วยธุรกิจด้านนวัตกรรม หรือดิจิทัลโซลูชั่น ในบริษัทย่อย ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (Fujifilm BI) สอดคล้องกับแนวทางของ Fuji Holdings ระดับโกลบอลที่โฟกัสธุรกิจโซลูชั่น ที่มุ่งไปยังการแก้ปัญหาให้ลูกค้า

Fujifilm มีความเชี่ยวชาญโซลูชั่นสำนักงาน ด้วยมีการผลิตฮาร์ดแวร์ของตนเองทั้งพรินเตอร์ สแกนเนอร์ ซอฟต์แวร์การพิมพ์ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ จึงสามารถแตกยอดไปทำนวัตกรรมออฟฟิศได้มาก โดยในส่วน Business Innovation ที่คิดเป็นรายได้ 39% ของบริษัท เช่น Business Solution, Office Document, Graphic Communication เป็นต้น

แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ในการจะสื่อสารทางการตลาด เพราะชื่อของแบรนด์ที่ติดอยู่ทำให้คนส่วนมากแยกได้ยากระหว่าง “ฟูจิฟิล์ม” และ “ฟูจิฟิล์ม บีไอ”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ธีรยา สุขมาก” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) และ “ทิพย์อาภา ลชิตาวงศ์” ผู้จัดการการตลาดด้านผลิตภัณฑ์โซลูชั่น ถึงแผนการสื่อสารและการนำเสนอโซลูชั่นสำหรับองค์กร

กลยุทธ์เจาะตลาดไทย

“ธีรยา” กล่าวว่า ในภาพระดับโลก ธุรกิจ BI สามารถสร้างรายได้กว่า 2.72 แสนล้านบาท หรือเป็น 39% ของรายได้รวม รองลงมาเป็น ธุรกิจด้านสุขภาพ 33% ธุรกิจด้านภาพ 15.9% และวัสดุสำนักงาน 12.1%

แต่ต้องรวม BI กับผลิตภัณฑ์บางอย่างด้วย เช่น พรินเตอร์ เพื่อให้เป็นบิสซิเนสโซลูชั่น มัลติฟังก์ชั่น และเครื่องพิมพ์สำหรับธุรกิจโรงพิมพ์ ซึ่งแตกยอดไปทำโซลูชั่นและเซอร์วิส ดังนั้น รายได้รวมของหน่วยธุรกิจ BI นับว่าเกินกว่า 40% และปีนี้หวังว่าจะเติบโตได้มากกว่า 3.2%

ADVERTISMENT

“แม้ว่ามีโอกาสของการเติบโตมาก ด้วยการลงทุนในซอฟต์แวร์และโซลูชั่นทรานส์ฟอร์มเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และกระจายลงไปถึงระดับ SMEs ที่ต้องการโซลูชั่นที่เหมาะสมกับตน เรียกว่าตอนนี้คุยง่ายขึ้น แต่การจะสื่อสารเป็นโจทย์ใหญ่ของเรา เพราะภาพจำเราคือคนขายกล้องถ่ายรูป และเครื่องซีร็อกซ์”

แต่ยังดีที่ว่าลูกค้าที่ใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์อยู่แล้ว จะรู้ว่าบริษัทมีโซลูชั่นอีกมากในการช่วยทำงาน

ADVERTISMENT

ดังนั้นจึงมี 3 กลุ่มที่ต้องเจาะ คือ กลุ่มที่รู้จักหน่วย BI อยู่แล้ว กลุ่มที่ใช้ฮาร์ดแวร์ของฟูจิอยู่ และกลุ่มที่ไม่รู้จักเลย ต้องค่อย ๆ เพิ่มทีมขาย ทีมสื่อสาร ออกไปคุยมากขึ้น รวมถึงแคมเปญโปรโมตในวงกว้างด้วย

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมจะโฟกัส 6 กลุ่ม คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ขนส่ง ประกันภัย สินเชื่อ และอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นทุกระดับตั้งแต่ SMEs Small Office, Home Office และ Corporate แม้ยากแต่ก็มีไดเร็กชั่นที่ชัดว่าต้องเป็น Key Player ของผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่สำคัญในตลาดทุกขนาด

ชูไฮไลต์ FUJIFILM IWpro

“ทิพย์อาภา” กล่าวถึงโซลูชั่นหลัก ๆ ที่ ฟูจิ บีไอ มีในมือจะครอบคลุมการบริหารจัดการธุรกิจ 5 ด้าน คือ การจัดการฮาร์ดแวร์พรินเตอร์ จัดการเอกสาร จัดการกระบวนการธุรการ การทำกระบวนการธุรการให้เป็นอัตโนมัติ และโซลูชั่นอื่น ๆ โดยมีการช่วยลูกค้าดูแลทั้งโปรแกรมเอกสาร เจเนอเรทีฟเอไอ ออโตเมชั่น รวมถึงบริการคลาวด์ การบริการด้านไอที และดูแลแกนกลางระบบให้ลูกค้า

สำหรับในปีนี้จะโฟกัสผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ คือ “FUJIFILM IWpro” คลาวด์โซลูชั่นแบบครบวงจรที่มีความปลอดภัยทางข้อมูลสูง ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานรูปแบบเดิมของพนักงานที่ต้องทำงานเอกสารต่าง ๆ ด้วยกระดาษ ให้เปลี่ยนเป็นการทำงานในรูปแบบดิจิทัล

“FUJIFILM IWpro” เปิดตัวมาสักพักแล้ว เป็นการจำลองระบบงานตั้งแต่การมีพื้นที่ Workspace ให้พนักงานทำงานรวมกันจากตรงไหนก็ได้ ต่อมาคือการ Capture และจัดส่งงานและข้อมูลต่อให้ส่วนงานอื่น รวมถึงมีระบบจัดการไฟล์เอกสารอัตโนมัติ และมีกระบวนการส่งพรินต์เพื่อจบงาน และมีการแสดงผล Device เพื่อประกอบการตัดสินใจ และวนลูปกลับไปทำงานในภารกิจใหม่

นี่คือวงจรกระบวนการธุรการด้านธุรกิจ (Business Process) ที่มักเกิดในออฟฟิศทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้น FUJIFILM IWpro จึงเป็นผลิตภัณฑ์แบบ 1 Solution for all ตอบโจทย์ทุกงานที่สุดเหมาะกับทุกองค์กรที่ต้องการคุมต้นทุนการทำงานในออฟฟิศ

“FUJIFILM IWpro แบ่งเป็นหลายแพ็กเกจ ลูกค้าไทยนิยมใช้แค่แพ็กเกจการจัดการ Device และการจัดการพรินต์ ราคาเริ่มที่ 5,000 บาทต่อยูสเซอร์ต่อปี ทำให้องค์กรทุกขนาด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าถึงง่าย ถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญของเรา แต่อยากโฟกัสการขยายฐานผู้ใช้ให้ขยับมาใช้แพ็กเกจ FUJIFILM IWpro Light และ Standard ซึ่งจะรวมพื้นที่ Workspace ที่ทำให้พนักงานทำงานทีไหนก็ได้ และกระบวนการธุรการอัตโนมัติจะเหมาะกับแนวโน้มการทำงานจากทุกที่มากกว่า แน่นอนว่าราคาค่อนข้างสูง”

ประเทศไทย แหล่งรายได้สำคัญ

FUJIFILM IWpro มีผู้ใช้ 1,000 ราย ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง 428 ราย อยู่ในประเทศไทย และติดอันดับท็อป 3 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากภาคธุรกิจมีการลงทุนทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลต่อเนื่อง เอสเอ็มอีเติบโต

“แม้ว่าลูกค้า IWpro ในไทยจะมีมากเป็นอันดับหนึ่งใน APAC แต่ยอดการใช้จ่ายยังไม่เท่าฮ่องกง เราจึงต้องขยายแพ็กเกจการใช้เพิ่มขึ้น”

เมื่อมองเทรนด์ของการลงทุนในเทคโนโลยี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามีโอกาสมาก จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ คาดว่าการใช้จ่ายด้านไอทีในไทย ปี 2024 จะเติบโตราว 5.8% มูลค่าแตะ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก ที่น่าสนใจคือการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ที่เติบโต 15.9% มูลค่ากว่า 2.42 แสนล้านบาท

“ก่อนหน้านี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรเป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ ๆ วันนี้เอสเอ็มอีเข้าใจแล้ว และยอมรับ ผู้บริหารทุกระดับเปิดใจที่จะใช้บริการด้านซอฟต์แวร์และโซลูชั่นที่ช่วยงานเขาให้เร็วขึ้น คุยง่ายกว่า 3 ปีที่แล้ว”

มองไปข้างหน้าองค์กรเล็กในไทย

สำหรับเทรนด์การเติบโตที่ชัดเจน คือ การใช้บริการคลาวด์สาธารณะและใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อเป้าหมายด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของเขา และแน่นอนว่าภาพรวมทำให้การให้บริการ Software as a Services เติบโต

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจไทยกำลังสำรวจวิธีการใช้เทคโนโลยี Generative AI มาปรับใช้งาน แต่กระนั้นก็ต้องเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่มีคนช่วยให้ครอบคลุมการทำงาน ในส่วนนี้หากมีคนช่วยปรับให้เข้ากับงานก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยองค์กรเติบโต

องค์กรขนาดเล็ก และกลาง นอกจากมองหาเอไอมาช่วยแล้ว ยังโฟกัสการลงทุนกับแกนกลางของระบบ คือ โปรแกรม ERP จากเมื่อก่อนใช้แค่กับองค์กรใหญ่