
นับตั้งแต่วิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) และสมาร์ทโฟนก็ไม่ค่อยจะสดใสนัก กระทั่งเริ่มกระเตื้องขึ้นในปีนี้ “ดิสทริบิวเตอร์” ผู้ค้าส่งสินค้าไอทีรายใหญ่คาดการณ์รายได้ปี 2567 ผ่านเส้น 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก แต่ยังมองว่า “ปีทอง” จะเพิ่งเริ่มในไตรมาสสุดท้ายของปี
ภาพรวมตลาดผ่านดิสทริบิวเตอร์
“สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็คซ์ (ประเทศไทย) มองว่า การจะบรรลุเป้าหมายรายได้ 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้มีปัจจัยหนุนหลายด้าน ทั้งเรื่องของวงจรการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีการซื้อตั้งแต่ช่วงโควิด รวมถึงการอัพเกรดอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านเอไอ ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวสินค้าคึกคัก
โดยช่วงไตรมาส 3 และ 4 ถือเป็นไฮซีซั่น ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า ทำให้คนรู้สึกว่าราคาสินค้าถูกลง ทั้งการเติบโตในธุรกิจ เศรษฐกิจ ส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรแทบไม่ได้พึ่งพาการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเลย จึงยังสามารถเติบโตได้อย่างดี

โดยสินค้ากลุ่มสื่อสาร ได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็บเลต รวมอุปกรณ์สวมใส่อย่าง สมาร์ทวอตช์ เป็นกลุ่มที่ทำรายได้ 46% ให้บริษัท
สินค้ากลุ่ม Consumer ได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ชิ้นส่วนคอมฯประกอบ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ทำรายได้ 32%
ส่วนกลุ่ม Commercial คิดเป็นสัดส่วน 14%
และ กลุ่ม Enterprise Solutions คิดเป็นสัดส่วน 8% ของรายได้รวม
“ครึ่งปีแรก รายได้เราอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ถ้ารวมครึ่งปีหลังน่าจะผ่านเส้น 40,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของสินค้าไอที เห็นได้ว่าล่าสุดที่ Apple เปิดตัว iPhone 16 แม้จะยังไม่มีเอไอ แต่ผลตอบรับก็ดีมาก ยอดสั่งจองหมดใน 15 นาที แม้เราจะได้โควตาจาก Apple เพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมแม้เศรษฐกิจไม่ดี คนชะลอการซื้อ แต่ด้วยถึงรอบที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ และอุปกรณ์ที่มีเอไอราคาไม่ได้ต่างจากเดิมมาก ทำให้มีการเปลี่ยนในที่สุด”
เอไอดีไวซ์โต 10-12 เท่าใน 10 ปี
“สิ่งที่เราเห็นในไตรมาสที่ 4 คือมียอดจัดส่งของสินค้าไอทีที่เป็น เอไอดีไวซ์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ใช่ว่าผู้ใช้งานทั่วไปจะซื้อใช้งานเลยทันที อาจต้องรอไปถึงปีหน้าจึงจะเห็นการเปลี่ยนดีไวซ์ครั้งใหญ่ไปสู่ เอไอดีไวซ์
ในเรื่องซอฟต์แวร์เอไอก็สำคัญ เมื่อองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีความต้องการที่จะปรับใช้เอไอ จึงต้องการฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานกับเอไอได้ ดังนั้นการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ครั้งใหญ่ในองค์กรธุรกิจจะมีมูลค่าสูงมาก คาดว่าตลาดที่เป็นเอไอดีไวซ์ทั้งส่วนของคอนซูเมอร์ และคอมเมอร์เชียล มีโอกาสโต 10-12 เท่าใน 10 ปีข้างหน้า”
ยอดจัดส่ง AI PC ครองตลาด
บริษัทวิจัย การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า เอไอพีซีจะครองตลาดพีซีทั้งหมด ซึ่ง AI PC หมายถึงพีซีที่มีหน่วยประมวลผลประสาท (NPU) ในตัว จะคิดเป็น 43% ของการจัดส่งพีซีทั้งหมดภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2024 ในส่วนความต้องการแล็ปทอป AI คาดว่าจะมากกว่าเดสก์ทอป AI (คอมฯตั้งโต๊ะ) โดยแล็ปทอป AI (โน้ตบุ๊ก) คิดเป็น 51% ของการจัดส่งแล็ปทอปทั้งหมดในปี 2025
โดยยอดจัดส่ง AI PC ทั้งหมดในปี 2567 อยู่ที่ 43,027,000 ยูนิต ขณะที่ในปี 2568 จะเพิ่มสูงถึง 114,225,000 ยูนิต และภายใน 2569 คาดการณ์ว่าแล็ปทอป AI จะกลายเป็นตัวเลือกพิเศษสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แทนที่แล็ปทอปที่ไม่ใช่ AI
ขณะที่ International Data Corporation (IDC) รายงาน Worldwide Quarterly Personal Computing Device Tracker แสดงให้เห็นว่าการจัดส่งอุปกรณ์พีซีว่าจะเติบโต 2.6% เป็น 398.9 ล้านยูนิต
ในปี 2567 ตลาดพีซีแบบดั้งเดิมจะยังคงทรงตัว
โดยมียอดจัดส่ง 261 ล้านหน่วย ขณะที่ตลาดแท็บเลตคาดว่าจะเติบโต 7.2% เนื่องจากวงจรการรีเฟรชและการลงทุนขององค์กรใหญ่
IDC ระบุด้วยว่า คาดว่าตลาดพีซีในปี 2568 จะเติบโต 4.3% เนื่องจากการสิ้นสุดการสนับสนุน Windows 10 จึงเป็นวงจรการรีเฟรชเครื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ซื้อเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ Apple ชิงผู้ใช้งานในองค์กร จากตัวเลขปัจจุบันองค์กรที่ใช้พีซีของ Apple เพิ่มขึ้น 9.1% ในปี 2024 เป็น 9.7% ในปี 2025 และ 10.2% ในปี 2026
อย่างไรก็ตาม AI จะยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ของสินค้าพีซี ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและประสบการณ์ผู้ใช้ส่วนบุคคล อเมริกาเหนือ ประเทศหลัก ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก (PRC อินเดีย ญี่ปุ่น) และบางประเทศในยุโรปตะวันตก จะเป็นผู้นำการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ AI มาใช้ก่อน ส่วนหนึ่งเพราะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่อยู่แล้ว
ผู้วิจัยของ IDC ระบุว่า แม้ AI จะถูกพูดถึงมากในปลายปีนี้ แต่ยังไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนการซื้อสินค้าใหม่ในตลาด โดยเฉพาะในหมู่ผู้ซื้อพีซี
เช่นเดียวกับฝั่ง AI Phone ที่ IDC ระบุว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้ชิป SoC มีโมเดล GenAI (มี NPU) มีการคาดการณ์จัดส่งเพิ่มสูงขึ้น 363.6% ในปี 2024 เป็น 234.2 ล้านเครื่อง ครองตลาดสมาร์ทโฟน 19% และจะเพิ่มเป็น 70% ในปี 2028 ทั้งคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตแบบรวม 5 ปี (CAGR) อยู่ที่ 78.4%
สำหรับการจัดส่งสมาร์ทโฟน GenAI ภายในปี 2028 สูงถึง 912 ล้านเครื่อง ส่งผลให้เทคโนโลยี GenAI เข้าถึงได้ในหมู่ผู้ใช้ทั่วโลก แต่อุปกรณ์รุ่นใหม่ที่ใช้ NPU ทำให้สินค้าไอทีขยับสู่ระดับพรีเมี่ยม ที่จะต้องเพิ่มหน่วยความจำ และที่เก็บข้อมูลมากขึ้น จึงคาดว่าราคาขายเฉลี่ยของอุปกรณ์รุ่นใหม่จะเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า