พักหนี้ 20 ทีวีดิจิทัล ติดดาบ กสทช.คุมคอนเทนต์

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

รอลุ้นกันมานานสำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในที่สุดเมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 9/2561 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้พักชำระหนี้เงินประมูลช่องทีวีดิจิทัลได้ไม่เกิน 3 ปี โดยระหว่างพักชำระหนี้ ให้แต่ละช่องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยแต่ละงวด ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กําหนด (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%) และให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายสำหรับออกอากาศ (MUX) ให้ทุกช่อง 50% นาน 24 เดือน

แต่ช่องทีวีดิจิทัลยังต้องรอลุ้นอีกรอบ เพราะคำสั่ง คสช.ระบุชัดว่า ให้อำนาจ “สำนักงาน กสทช.” เป็นผู้พิจารณาว่าจะพักชำระหนี้ให้ช่องใดบ้าง

ล่าสุด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่อง 7 HD และช่องเวิร์คพอยท์ยืนยันชำระเงินประมูลตามงวดเดิม ส่วนอีก 20 ช่องที่เหลือขอใช้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งหมด โดยในวันที่ 7 มิ.ย. 2561 จะเชิญประชุมผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 20 ช่อง และมอบหนังสือแจ้งการพักชำระหนี้ให้ทุกช่องทันที ส่วนเรื่องค่าเช่า MUX 50% กสทช.จะเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่งวด มิ.ย.นี้

“ณ เวลานี้จะให้สิทธิ์ไปก่อนทั้ง 20 ช่อง แล้วไปเพิกถอนภายหลังดีกว่าถ้าทำผิดกฎ เพราะตามข้อ 9 คำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 ให้สำนักงาน กสทช. มีอำนาจตรวจสอบภายหลังได้ ถ้าพบว่ามีการกระทำที่ผิดประกาศของ กสทช. ก็ยกเลิกการใช้สิทธิ์พักหนี้พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังด้วยได้ เพราะไม่อยากให้มีปัญหาว่าทำไมให้ช่องนั้น ไม่ให้ช่องนี้”

เมื่อพิจารณาเนื้อหาที่ระบุในข้อ 9 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 พบว่า คำสั่ง คสช. จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้อำนาจ “สำนักงาน กสทช.” ในการจัดระเบียบคอนเทนต์ช่องทีวีดิจิทัล เนื่องจากระบุไว้ชัดเจนว่า ช่องทีวีดิจิทัลที่ได้รับการชำระหนี้ หากไม่จัดทำผังรายการ ผลิตรายการหรือการดําเนินรายการที่ดี ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องชัดเจน มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงฝ่าฝืนข้อกำหนดตามหมวด 2 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 “สำนักงาน กสทช.” มีสิทธิ์พิจารณายกเลิกการพักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ทันที

เมื่อกวาดสายตาไปยัง 20 ช่องทีวีดิจิทัล “Voice TV” อาจเป็นเป้าแรก แม้แต่ “เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ยอมรับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความกังวลว่าจะเกิดการตีความคำสั่ง คสช.กว้างเกินไป โดยเฉพาะในส่วนข้อ 9 ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.มีการพิจารณาเนื้อหาอย่างเข้มงวด ด้วยการใช้อำนาจและตีความอย่างกว้าง จนมีคำสั่งทางปกครองมายัง Voice TV 19 ครั้ง แต่ยังเชื่อว่าจะได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ หากไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ก็คงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาการใช้ดุลพินิจของสำนักงาน กสทช.

ขณะที่ข้อมูลจากการรวบรวมมติที่ประชุม กสทช. และ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ตั้งแต่ ม.ค. 2560-11 เม.ย. 2561 พบว่ามีมติลงโทษหลังพิจารณาข้อร้องเรียนจากการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัล 61 ครั้ง โดยพบว่า ไม่ใช่แค่ Voice TV ที่บอร์ดมีมติกำหนดโทษถึง 7 ครั้ง จากเนื้อหารายการ แต่มี AMARIN TV รวมถึง Workpoint ด้วย เพียงแต่ Voice TV เป็นรายเดียวที่เคยโดนพักใบอนุญาต “จอดำทั้งช่อง” 7 วัน ระงับการออกอากาศเฉพาะรายการถึง 2 ครั้ง (15 วัน กับ 7 วัน) นอกนั้นเป็นการแจ้งเตือนและสั่งปรับ 50,000 บาท

ขณะที่ AMARIN TV เป็นช่องที่โดนปรับมากที่สุด โดยโดนปรับ 2 ครั้ง รวม 3 แสนบาท จากการออกอากาศเนื้อหาที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทั้งยังมีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการ 1 วัน (รายการทุบโต๊ะข่าว) นอกนั้นเป็นการแจ้งเตือน ส่วนเวิร์คพอยท์โดนสั่งปรับ 1 แสนบาท จากเนื้อหารายการและผังรายการที่ขัดกับประกาศ กสทช. ที่เหลือเป็นการแจ้งเตือนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่สุภาพ เข้าข่ายใบ้หวย ไสยศาสตร์

ด้านช่อง 3HD มีมติบอร์ด 6 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งให้ปรับเรตติ้งให้เหมาะกับเนื้อหารายการ และมีคำสั่งปรับ 50,000 บาท 1 ครั้งจากเนื้อหารายการ (รายการทูเดย์โชว์) ขณะที่ไบร์ททีวีและเนชั่นทีวี มีมติบอร์ด 5 ครั้งเท่ากัน ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเตือนด้านเนื้อหา

สำหรับสปริงนิวส์ GMM25 และ MCOT HD มีมติบอร์ด 4 ครั้งเท่ากัน โดยสปริงนิวส์ โดนเตือนด้านเนื้อหาและสั่งปรับ 50,000 บาท รวมถึงระงับการออกอากาศรายการ 1 เดือน (รายการสนธิญาณฟันธง) ช่อง GMM 25 โดนปรับไป 2 ครั้ง รวม 1 แสนบาทจากเนื้อหาละคร และให้ปรับเรตติ้งให้เหมาะสม เช่นเดียวกับช่อง MCOT HD ที่ถูกปรับจากเนื้อหา 2 ครั้ง รวม 1 แสนบาท และให้ปรับเรตติ้งให้เหมาะสม

ขณะที่พิจารณาในแง่ของปัญหาข้อร้องเรียนที่นำไปสู่การลงมติของบอร์ดพบว่า มี 12 ช่องทีวีดิจิทัลถูกพิจารณาจากบอร์ดว่า กระทำผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหารายการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นกรอบภายใต้ข้อ 9 ของคำสั่ง คสช. ล่าสุดที่เป็นเงื่อนไขให้ถูกเพิกถอนสิทธิ์พักหนี้ได้

จากนี้คงต้องจับตาดูว่า การได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้จะทำให้แต่ละช่องโดนตีกรอบเนื้อหารายการให้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ด้วยอาวุธใหม่ในมือของ “กสทช.”