
TRUE จัดโซลูชั่นขยายสัญญาณ “5G-4G-WiFi” เส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับการชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันซ้อมใหญ่ (22 ต.ค. 2567) และวันจริง (27 ต.ค. 2567)
วันที่ 18 ตุลาคม 2567 รายงานข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จัดโซลูชั่นเพิ่มสัญญาณเครือข่าย 5G, 4G, WiFi รองรับการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนจะร่วมรับชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึงวัดอรุณราชวราราม
โดยขยายเครือข่ายการสื่อสารพร้อมนำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบสัญญาณ ให้รองรับการใช้งานทั้งในวันซ้อมใหญ่เสมือนจริงซึ่งจะจัดขึ้นอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 และในวันพระราชพิธีจริง คือวันที่ 27 ตุลาคม 2567
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประชาชนจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และชื่นชมพระบารมีในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567
นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทรู คอร์ปอเรชั่นขยายเพิ่มสัญญาณเครือข่าย 5G, 4G, WiFi เพื่อรองรับการสื่อสารของประชาชนที่ร่วมรับชมความงดงามพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อและการแบ่งปันความประทับใจ โดยเฉพาะภาพและวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือ เราจึงได้วางแผนและออกแบบเครือข่ายเป็นพิเศษ เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น และตอบสนองการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของผู้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ทีมงานได้เตรียมความพร้อมการสื่อสารอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับประชาชนคนไทยที่จะร่วมเฝ้ารับเสด็จและชมความงดงามขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ”
โดยรายละเอียดของโซลูชั่นขยายเครือข่ายทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อรองรับการใช้งานเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดังนี้
- เพิ่มรถโมบายล์สถานีฐานเคลื่อนที่เร็ว (COW หรือ Cell-On-Wheel) ประจำจุดสถานที่สำคัญ
- ติดตั้งเสาสัญญาณเฉพาะกิจ (Temporary site) ขยายสู่พื้นที่จัดกิจกรรมและรองรับการเข้าชม
- ติดตั้ง WiFi รองรับบริการตามจุดสำคัญเส้นทางสัญจรของประชาชน
- พารามิเตอร์สัญญาณ (Event Parameter) ปรับแต่งค่าสัญญาณตามพฤติกรรมการใช้งาน
- BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ พร้อม AI ดูแลและบริหารเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง
นางสาวเกศิณี จันทร์วิจิตร วิศวกรชำนาญการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ทรู คอร์ปอเรชั่นเตรียมความพร้อมมากกว่า 5 เดือน โดยนำดาต้าการใช้งาน และประสบการณ์ที่ได้ร่วมอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารดิจิทัลแก่ประชาชนเมื่อครั้งที่ได้เดินทางมาเฝ้าฯรับเสด็จ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนรองรับการใช้งานในครั้งนี้
โดยเราได้ลงพื้นที่นำทีมร่วมตรวจสอบการใช้งานในวันซ้อมใหญ่เสมือนจริงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 สู่การวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อออกแบบการใช้งานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแบ่งจุดสำคัญในการขยายความแรงสัญญาณ 5G, 4G, WiFi ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนี้
- ท่าเรือ : ท่าวาสุกรี, ท่ามหาราช, ท่าราชวรดิฐ และท่าเรือราชินี (ปากคลองตลาด)
- วัด : วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
- สถานที่ราชการ : ธนาคารแห่งประเทศไทย, หอประชุมกองทัพเรือ, อู่ทหารเรือธนบุรี, สน.บวรมงคล และโรงพยาบาลศิริราช
- สะพานข้ามเจ้าพระยา : สะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้า
- สวนและลานกิจกรรม : สวนสันติชัยปราการ, สวนนาคราภิรมย์, ลานปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สถานที่เอกชน : ร้านอาหารกินลมชมสะพาน และอื่น ๆ
“สถานที่ริมน้ำส่วนใหญ่จะมีพื้นที่จำกัดมากกว่า ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการ หรือเอกชนเพื่อนำโซลูชั่นและคลื่นสัญญาณที่เหมาะสมติดตั้งในพื้นที่ใช้งานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งคำนวณถึงเส้นทางสัญจรของประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมรับชมในจุดต่าง ๆ อีกด้วย”