IT ล็อกซเล่ย์ปรับอีกครั้ง ทุ่ม R&D ลุยบล็อกเชน

ปรับใหญ่อีกครั้งสำหรับยักษ์ใหญ่ “ล็อกซเล่ย์” ซึ่งบุกเบิกธุรกิจไอทีในไทยเป็นเจ้าแรกๆ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ที่ดูแลกลุ่มธุรกิจไอทีโดยตรง 

Q : ปรับใหญ่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในส่วนของล็อกซเล่ย์ทั้งหมด ได้แบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจไอทีถือเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญ ปี 2560 กลุ่มธุรกิจไอทีมีรายได้ 3,264 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของรายได้รวมทั้งบริษัท 15,639 ล้านบาท โตขึ้น 11%

โครงการใหญ่ที่ทำอยู่ก็จะเป็นของภาครัฐอย่างฮาร์ดแวร์และระบบที่รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือบรรดาเครื่องบริการอัตโนมัติของธนาคาร

ส่วนการเปลี่ยนในกลุ่มธุรกิจไอทีได้ปรับโครงสร้างให้ชัดเจนขึ้น เพราะเรามีหลายบริษัทย่อยมาก ตอนนี้จัดใหม่ คือให้ บมจ.ล็อกซบิท (Loxbit) เป็นคนดูแลกลุ่มไอที โดยล็อกซเล่ย์ใหญ่เข้าไปถือหุ้นใน Loxbit 100% แล้วให้ Lox-bit เข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยอื่น ๆ อีก9 บริษัท รวมถึงแบ่งกลุ่มลูกค้าที่แต่ละบริษัทต้องโฟกัสให้ชัดเจนขึ้น

โดยแบ่งบริษัทย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ที่เป็น subsidiaries มี Loxbit ที่ดูแลลูกค้าในกลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคาร และประกันภัย มี PCC (บริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ จำกัด) ดูแลลูกค้าภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและธนาคารภาครัฐ NetONE (บริษัท เน็ท วัน เน็ตเวิร์ค โซลูชั่น จำกัด) ดูแลธุรกิจด้าน network security และ cyber security บริษัท L Hardware & Service ที่จะดูในส่วนของการบำรุงรักษาให้ลูกค้าของกลุ่มกับอีกกลุ่มจะเป็น associates/JVs อย่างกองทุน K2 ที่ร่วมลงทุนกับกองทุนสิงคโปร์ เพื่อเข้าไปลงทุนในเทคสตาร์ตอัพ หาอินโนเวชั่นใหม่ โดยปล่อยให้ VC โดยธรรมชาติเป็นคนนำไปเลยและก็เดินตามนโยบายหลักของเครือที่จะปิดบริษัทย่อยที่ไม่ใช่เทรนด์แล้ว

Q : อะไรที่ไม่ใช่เทรนด์

เราคงยังบอกไม่ได้ว่าจะปิดบริษัทไหน แต่ที่บอกได้ว่ามันไม่ใช่เทรนด์แล้วคือ ธุรกิจแบบ SI (system integrator) เป็นโมเดลที่จะตายในอีก 3 ปี บรรดาองค์กรต่าง ๆ ไม่ได้เน้นด้านฮาร์ดแวร์ มุ่งใช้คลาวด์แทนแล้ว แม้ว่าการสร้าง self services ให้ลูกค้าได้ทำธุรกรรมด้วยตัวเองกำลังมาแรง โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ยุบสาขาทิ้ง แล้วตั้งเป็นตู้อัตโนมัติแทน แต่พวกนี้จะถูกแทนที่โดยโมบายเพย์เมนต์ในอีก 5 ปี

ดังนั้นเราจะยังซัพพอร์ตด้านฮาร์ดแวร์ให้กับลูกค้า อย่างพวกเครื่อง EDC กับสร้างเซอร์วิสใหม่ขึ้นมารับเทรนด์อนาคต

Q : ธุรกิจสำหรับอนาคต

มุ่งไปที่คลาวด์ ปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 100 ล้านบาท 70% จะขยายระบบคลาวด์ให้ใหญ่ขึ้นอีก แล้วบวกเซอร์วิสให้ลูกค้าเลือกใช้ได้เพิ่มขึ้น อีก 30% จะลงทุนด้าน R&D ทั้งบล็อกเชน IOT big data AI ซึ่งยุคนี้ AI ไม่ใช่เกมของยักษ์ใหญ่ไอทีข้ามชาติอีกต่อไปแล้ว แต่มีโอกาสในการเจาะเฉพาะกลุ่ม อย่างล็อกซเล่ย์เองจะสร้างบริการเหล่านี้ให้เหมาะกับลูกค้าองค์กร เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้กับกลุ่มลูกค้าของเรา อย่างแพลตฟอร์มด้านภาษี จะไม่ใช่สำหรับ mass user ทั่ว ๆ ไป

รวมถึงการเกาะนโยบายแพลตฟอร์มของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ดาต้าแอนะไลติกส์ภาครัฐ เนชั่นแนลไอดี โดยเฉพาะในส่วนของเนชั่นแนลอีเพย์เมนต์ กระทรวงการคลังมีงบประมาณกลางอยู่ 5,000 ล้านบาท

Q : โครงการภาครัฐดีเลย์ตลอด

เป็นที่มาของนโยบายบริษัทที่จะบาลานซ์รายได้รัฐ-เอกชนให้สมดุล ตอนนี้ในธุรกิจไอที รายได้ 80% มาจากงานภาครัฐ แต่ตั้งเป้าใน 3 ปี ต้องบาลานซ์กัน ถึงได้เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มบริการใหม่ ๆ มาเป็นแคตตาล็อกสำหรับองค์กรธุรกิจมาเลือกใช้ โดยเฉพาะที่จะซัพพอร์ตการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงเพย์เมนต์ที่กลุ่มสถาบันการเงินกำลังต้องการ

จึงเห็นการนำกำไรของบริษัทมาลงทุน R&D เพิ่มขึ้นเพื่ออนาคต ซึ่งรายได้อาจไม่ได้เพิ่มเป็นพันล้าน แต่กำไรจะดีกว่า ซึ่งอาจไม่ได้เห็นผลแบบทันที แต่เชื่อว่าอีก 3 ปีตัวกำไรจะโตแบบดับเบิล เพียงแต่ถ้าในระหว่างทางมีโครงการประมูลภาครัฐ เราก็ไม่ได้จะทิ้ง

Q : จะสู้สตาร์ตอัพ ฟินเทคได้

จุดแข็งของล็อกซเล่ย์คือ ความเชี่ยวชาญในงานเฉพาะที่เราเข้าไปอยู่กับลูกค้ามาเป็น 20 กว่าปี เข้าใจเนื้อหาของลูกค้าว่าต้องการอะไร แล้วพัฒนาขึ้นเป็นโปรดักต์ได้เลย ขณะที่สตาร์ตอัพจะมีแค่ไอเดียแล้วพึ่ง VC แม้จะทำได้เร็ว แต่ลูกค้าองค์กรยังมีไม่น้อยที่เคลื่อนที่แบบช้า ๆ ต้องการคนไปซัพพอร์ตแบบเดิม ถึงมีโชว์เคสให้ดู

Q : มีโครงการ Loxley coin

พัฒนาโดยใช้บล็อกเชน เพื่อเป็นโชว์เคสให้ลูกค้า ทำให้เห็นว่าจะนำไปใช้ในหลายรูปแบบได้ด้วย อย่างที่เบสิกสุด คือ ใช้ออก L/C (letter of credit)coin ของเราจึงไม่ใช่เพื่อการระดมทุน แต่ถ้าจะทำก็แสดงว่าเรามีเซอร์วิสที่ดีมาก ๆ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่จะไป

Q : ธุรกิจไอทีในไทยยังไปได้

ทั้งอุตสาหกรรมจะยังดีมากด้วยนโยบาย 4.0 ไปอีกระยะ เพราะกระตุ้นธุรกิจให้ตื่นตัวลงทุนด้านไอที แต่ในฝั่งผู้ค้าไอทีต้องมีการปรับตัวอย่างมาก ธุรกิจไม่ซื้อฮาร์ดแวร์แล้ว ดังนั้นผู้ค้าต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จะไปซัพพอร์ตความต้องการของลูกค้าได้แต่ปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่กับวงการนี้มาคือ การขาดแคลนบุคลากร อย่างล็อกซเล่ย์ ยังหาอีก 50 ตำแหน่ง ก็หายาก เพราะที่สถาบันการศึกษาผลิตมาปีละหมื่นกว่าคน 50% เป็นคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นแค่ super user ไม่ใช่คนเทคนิค

Q : จะตั้งโรงเรียนเทรนนิ่ง

ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรม ก็พยายามเข้าไปคุยกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงวิทย์และกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เห็นปัญหา และเสนอโครงการที่จะนำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งหมดตั้งเป็นโรงเรียนเทรนนิ่ง เอานักศึกษามาเทรน 3-6 เดือน คนที่จบออกมามีการันตีตำแหน่งงานให้ทั้งหมด แต่กำลังดูว่าจะดึงภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาภาครัฐบอกแต่ว่ามีนโยบายจะสร้างคน แต่ยังไม่เห็นกลไกที่ชัดเจน ทั้ง ๆที่คนเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากขาดแคลนแล้ว อีกฟากหนึ่งคือคนเก่ง ๆ อย่างดาต้า ไซแอนทิสต์ก็ไม่อยู่ในไทย เพราะค่าจ้างต่ำมาก

ขณะที่สิงคโปร์ จีน พร้อมจ้างในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นต้องทำควบคู่กัน ทั้งสร้างคนเยอะ ๆ และทำให้มีการจ้างงานในราคาที่สูงขึ้นได้ เพราะนี่เป็นรากฐานสำคัญ