การเข้ามามีบทบาทของ AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้คนทำงานต้องรีสกิลและเพิ่มพูนความรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือแม้แต่ในมุมของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือโครงสร้างหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการในปัจจุบันมากขึ้น
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในยุคเปลี่ยนผ่านมาสู่การบริหารงานของอธิการบดีคนใหม่ “ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” (ดำรงตำแหน่งปี 2567-2571) มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนจุฬาฯ เป็น AI University และสร้างการเติบโตโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง ภายใต้นโยบาย “Chula Power of Togetherness”
ก้าวสู่ Global-Thai University
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า ความนิยมในการใช้งาน AI เข้ามามีบทบาทกับสถานศึกษาเป็นอย่างมาก ทีมผู้บริหารใหม่จึงตั้งใจที่จะสร้างการเติบโตให้จุฬาฯ ในแกนต่าง ๆ เริ่มที่ Inter Growth เติบโตเป็น Global-Thai University หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวเลือกในระดับโลก ผ่านการทำวิจัยระดับ International Research ให้มากขึ้น และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาหลักสูตรและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เช่น MIT และมหาวิทยาลัยชิงหัว เป็นต้น
“นอกจากนิสิตจะได้รับความรู้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำแล้ว ยังดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในไทยมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเวลานักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในไทยหลักสูตร 2-4 ปี ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยเป้าหมายระยะแรกต้องการเจาะไปที่กลุ่มคนจีน หรือในเอเชียก่อน”
อีกทั้งจุฬาฯ จะสร้างความร่วมมือกับองค์กรระดับโลก เพื่อให้เป้าหมายการเติบโตในระดับโลกสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) และสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) โดยแต่ละปีจุฬาฯ กับ WEF จะร่วมกันทำวิจัยเกี่ยวกับภาพรวมของตลาดแรงงาน ซึ่งปีหน้าจะมีการเปิดตัวรายงาน Future of Jobs 2025 ด้วย
“อีกหนึ่งความตั้งใจ คือการสร้างร่วมมือระดับนานาชาติ และนำซีอีโอของบริษัทระดับโลก เช่น Huawei, Google หรือ Meta มาร่วมพัฒนาหลักสูตรสอนนิสิต ซึ่งการจะทำให้เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกของเขาถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก”
เข้าถึงชุมชนมากขึ้น
นอกจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายระดับโกลบอล จุฬาฯ จะดำเนินกิจกรรมที่เข้าถึงสังคมมากขึ้นและนำองค์ความรู้ที่มีมาตอบปัญหาของสังคม พร้อมทั้งพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน เช่น การทำให้สยามสแควร์เป็นพื้นที่สำหรับแสดงความสามารถของกลุ่มต่าง ๆ หรือการทำธุรกิจบนถนนบรรทัดทอง ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น
“อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น คือการเปิดกว้างให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ เพื่อที่จะได้มีพื้นฐานในการประกอบอาชีพและไม่เป็นเหยื่อของการหลอกลวง ซึ่งสิ่งที่เรามองไม่ใช่แค่เรื่องของ Lifelong Learning แต่เป็น Lifelong Leading หรือการสร้างความรู้ให้นำหน้าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาจุฬาฯ มีโปรแกรม CHULA MOOC ที่เปิดให้คนนอกมาเรียนในสิ่งที่สนใจได้ฟรีในรูปแบบออนไลน์ แต่ในอนาคตต้องเชื่อมกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์มากกว่าเดิม”
จัดตั้ง Social Enterprise
ในแต่ละปีจุฬาฯ มีการสนับสนุนทุนการศึกษาและจ้างงานนิสิตเยอะมาก จึงเริ่มมองไปถึงการจัดตั้ง Social Enterprise ที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้ลองทำงานจริง ช่วยให้มีประสบการณ์มากกว่าแค่การเรียนตามหลักสูตร 4 ปี มีทักษะตรงกับความต้องการของนายจ้างมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่งต้องการคิดโปรโมชั่นสำหรับนักเรียน-นักศึกษา ก็ให้จ้างนิสิตเข้าไปรันโปรเจ็กต์แทนที่บริษัทจะทำเอง
“โมเดลที่วางไว้คร่าว ๆ คือเมื่อนิสิตมีรายได้ ก็จะมีการหักส่วนแบ่งรายได้เล็กน้อย เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป ถือเป็นการทำให้นิสิตได้เรียนรู้เกี่ยวกับอีโคซิสเต็มของธุรกิจและสังคม รวมถึงเป็นโครงการที่น่าจะสร้าง Social Impact และ Social Engagement ได้อย่างดี”
มุ่งสร้าง Integrated Growth
การจะพาจุฬาฯ ไปถึงการเป็น AI University และเติบโตในระดับโลกได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต สร้าง Integrated Growth ให้แข็งแรงจากภายใน รวมถึงต้องเชื่อมโยงกับศิษย์เก่าที่มีเครือข่ายใหญ่ขึ้นทุกปี เพื่อที่จะได้สร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มพูนทักษะของนิสิตปัจจุบัน หรือการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม เป็นต้น
“เรารู้ว่าแต่ละคณะมีความพร้อมในการปรับตัวกับเทรนด์ใหม่ ๆ ไม่เท่ากัน จึงมองไปถึงการแชร์ทรัพยากรข้ามคณะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นิสิตสายศิลป์ก็ต้องเทคคอร์สเกี่ยวกับ AI ส่วนนิสิตสายวิทย์ก็เรียนด้านภาษาเพิ่มเติม เพราะต้องเขียนพรอมพต์ในการสั่งการ เท่ากับว่ายุคนี้ต้องมีความร่วมมือระหว่างคณะมากขึ้น”
ทิศทางมหาลัยยุคใหม่
ศ.ดร.วิเลิศ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยยุคนี้ต้องสอนให้นิสิตมีองค์ความรู้แบบ Wisdom Based หรือสร้างความฉลาดในการต่อยอดและพลิกแพลงไปตามยุคสมัย เพราะการมีความสามารถในการเข้าใจโลก หรือทักษะในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะช่วยให้นิสิตหรือบัณฑิตอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“เราต้องไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่สอนแบบ Knowledge Based หรือมอบความรู้ตามตำราเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ติดตัวเท่ากับการมี Soft Skills หรือการรู้เท่าทันโลก เช่น ลูกศิษย์จากคณะบัญชีคนหนึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับ AI ทั้งที่ตอนเรียนไม่เคยมีการสอนสิ่งนี้มาก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวที่เกิดจากการสอนให้นิสิตมีความฉลาด”
อธิการบดีจุฬาฯ ทิ้งท้ายว่า ในยุคที่ตลาดแรงงานกำลังขาดแคลนคน สถานศึกษาต้องมองถึงการปรับหลักสูตรที่เอื้อก็ต่อการป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เพราะเวลา 4 ปีตามหลักสูตร ไม่สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงพอต่อความต้องการของนายจ้าง ทำให้การเรียนแบบ Non Degree หรือการเทคคอร์สระยะสั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสาขาต่าง ๆ ให้กับคนที่เรียนจบไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญมากขึ้นด้วย
“และในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่จะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 มองว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างคุณภาพของการศึกษาในองค์รวม สำหรับยุทธศาสตร์ของ ทปอ. คือการร่วมกันสร้างการศึกษาในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และดึงดูดนิสิตต่างชาติให้เข้ามาศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม”