Slack สูตรโตฉบับ “วอริกซ์” ปั้น Digital Headquarter

Warrix
วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล-สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์
สัมภาษณ์พิเศษ

การปูพื้นฐานเรื่องดาต้า และการแสวงหาเครื่องมือหรือโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน

“วอริกซ์” (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาสัญชาติไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยี และเข้าสู่การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภายในองค์กร เริ่มจากการปรับกระบวนการทำงานด้วยการใช้ “สแล็ค” (Slack) แพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารภายในองค์กรของ “เซลส์ฟอร์ซ” (Salesforce)

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) และ “สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ iiG บริษัทที่ปรึกษาในการทรานส์ฟอร์มองค์กร เกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

จุดเริ่มต้นการใช้ Slack

“วิศัลย์” กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตแบบ “กระจาย” ซึ่งดีกับทุกฝ่าย เพราะมีบทเรียนแล้วว่าการเติบโตแบบ “กระชาก” สร้างยอดขาย 3 เท่า ใน 1 ปี ทำให้พนักงานไม่มีความสุข และต้องสูญเสียพนักงานที่ทนต่อแรงกดดันไม่ไหวทุกครั้ง จึงเริ่มมองไปที่การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในองค์กร เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน และให้พนักงานไปทำงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น

“ผมโตมาจากสาย Sales & Marketing โฟกัสเรื่องต้นทุนและยอดขายหนักมาก สมมุติว่ามีทีมขายอยู่ 5 คน จะสร้างการเติบโตอีกเท่าตัว ถ้าให้เพิ่มทีมเป็น 10 หรือ 20 คน จะไม่ใช่การเติบโตที่ยั่งยืน เพราะคนมีความผันแปรทุกวัน ต่างจากการนำระบบอัตโนมัติมาใช้และเชื่อมกับประสบการณ์ของคน”

สำหรับการนำแพลตฟอร์มการสื่อสารอย่าง Slack เข้ามาใช้ในองค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาทดแทนแอปพลิเคชั่นแชตที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บ และค้นหาไฟล์ต่าง ๆ ต้องใช้เวลานานมาก ถ้าเอาเวลาที่พนักงานภายในบริษัทที่มีกว่า 300 คน ไปใช้ในการหาไฟล์คำนวณคร่าว ๆ พบว่าแต่ละปีใช้เวลามากกว่า 10,000 ชั่วโมง

ADVERTISMENT

Slack จึงเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เข้ามาช่วยให้การทำงานมีความว่องไวมากขึ้น เพราะสามารถเช็กทุกอย่างได้ในแอปเดียว ไม่ต้องเสียเวลาเช็กอีเมล์ หรือข้อมูลบนแอปอื่น ๆ อีก อีกทั้งยังมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม ทำให้ข้อมูลลูกค้าอยู่แค่ในแพลตฟอร์มของบริษัท

“ข้อมูลลูกค้าจะไม่อยู่กับแพลตฟอร์มแชตส่วนตัวของพนักงาน ดังนั้นต่อให้พนักงานลาออกไปแล้ว บริษัทก็จะยังมีฐานข้อมูลลูกค้า เวลามีพนักงานใหม่เข้ามาก็สามารถเชื่อมต่อการทำงานในโปรเจ็กต์นั้น ๆ ต่อได้ทันที และถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็จะส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ การย้ายระบบมาใช้ Slack จึงช่วยให้มาตรการรักษาความลับทางการค้ายกระดับขึ้น ทำให้เวิร์กโฟลว์ในการทำงานแข็งแรง”

ADVERTISMENT

“วิศัลย์” บอกด้วยว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เปรียบเทียบได้กับกรณีถ้ามีพนักงานลาออก 2 คนรับมาใหม่แค่ 1 คนก็ทำงานได้ แต่การจะทำให้ “ระบบ” ต่าง ๆ เกิดผลภายในองค์กร ต้องเริ่มจากการยอมรับของ “ผู้บริหาร” และผลักดันให้พนักงานใช้ แม้ทีมงานบางกลุ่มจะปรับตัวได้ช้า แต่ก็ยังดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้เลย

“ดาต้า” แกนหลักธุรกิจ

นอกจากให้ความสำคัญกับการวางเวิร์กโฟลว์ด้วยระบบอัตโนมัติ เมื่อ 2 ปีก่อนยังทุ่มงบประมาณกว่า 16 ล้านบาท เพื่อจัดการเรื่องดาต้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มจากการทำ Data Cleansing จนมาถึง Data Management และ Dashboard หรือการรายงานข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ

“การมีดาต้าช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่เรามองไม่เห็น (Opportunity Lost) เช่น ไม่มีสินค้าที่หน้าร้านแล้วปฏิเสธลูกค้าไปทันที ทั้งที่จริง ๆ สามารถโยกสินค้าจากสาขาใกล้ ๆ กันมาให้ลูกค้าได้ หรือการมีออร์เดอร์ขนาดใหญ่เข้ามา แต่ไม่พร้อมส่งสินค้า เพราะขาดไปแค่ตัวเดียว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ถ้า AI จับคีย์เวิร์ด หรือส่งแจ้งเตือนล่วงหน้า 90 วันได้ ก็ช่วยอุดรอยรั่วได้มากกว่า 30%”

ขณะเดียวกัน “ดาต้า” ยังมีความสำคัญกับการคาดการณ์ และการบริหารจัดการสต๊อก ซึ่งส่งผลต่อการบริหารกระแสเงินสด ช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้างยอดขาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหม่

“ตอนนี้เรามีการใช้ดาต้า และ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การจัดการระบบหลังบ้าน เช่น ถ้าจะสร้างการเติบโตตามเป้าที่ยอดเท่านี้ต้องใช้กำลังคนเท่าไร เพื่อที่จะบาลานซ์การเติบโตได้อย่างเหมาะสม สมมุติว่าจะเพิ่มการเติบโตอีก 100 ล้านบาท ก็เติมคนแค่ 2-3 คน ไม่จำเป็นต้องใช้ 10-20 คนเหมือนแต่ก่อน”

สร้างการเติบโตสู่ต่างประเทศ

หนึ่งในเป้าหมายการทรานส์ฟอร์มระบบการทำงานใน “วอริกซ์” ก็เพื่อสร้างความพร้อมในการขยายตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในสิงคโปร์, เมียนมา, มาเลเซียและจีน ที่จับมือกับพาร์ตเนอร์ยักษ์ค้าปลีกอย่าง “ไฮแม็ก” (HIMAXX)

“การจับมือกับไฮแม็ก ทำให้เราต้องอัพเกรดระบบหลาย ๆ อย่าง เพื่อทรานส์เฟอร์ข้อมูลระหว่างกัน เพราะซอฟต์แวร์เรื่อง Retail Operation ของเขาไปไกลมาก ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติหมด ระบบหน้าร้าน หรือ POS (Point of Sales) ก็ลีนมาก ๆ”

“วิศัลย์” กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน 95% ของยอดขายในบริษัทมาจากตลาดในประเทศ โดยช่องทางออนไลน์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ (Shopee) และติ๊กต๊อก (TikTok) ที่โดดเด่นเรื่องไลฟ์คอมเมิร์ซจึงโตแรงมาก ๆ เห็นได้จากยอดขายของดีลเลอร์รายหนึ่งในต่างจังหวัด ที่ไลฟ์ขายเสื้อโปโลได้มากถึงชั่วโมงละ 1,000 ตัว สร้างยอดขายต่อเดือนหลัก สิบล้านบาท

“การขายโมเดิร์นเทรดค่อนข้างแผ่ว เพราะคนเดินห้างน้อยลง ถ้าปูพรมขยายสาขาเพิ่มก็อาจจะไม่คุ้ม ฉะนั้นเป้าหมายในการสร้างการเติบโตในตอนนี้จึงไม่ใช่ว่าจะเพิ่มกี่สาขา แต่ต้องเป็นว่าจะขยายการลงทุนในเชิงโครงสร้างหรือระบบเท่าไรมากกว่า”

พลิกสู่ Digital Headquarter

“สมชาย” เสริมว่า การทรานส์ฟอร์มองค์กรของ “วอริกซ์” ถือเป็นการพลิกโฉมระบบของทั้งองค์กรเพื่อก้าวไปสู่การเติบโตในระดับภูมิภาค ดังนั้น สิ่งที่บริษัทเสนอให้จึงเริ่มตั้งแต่การปรับระบบหลังบ้าน หน้าบ้าน และการตลาด

“แน่นอนว่า Degree of Change หรือระดับการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อคนทั้งองค์กร สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนไมนด์เซตของคนทำงาน และวัฒนธรรมขององค์กรที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างแข็งแรง ซึ่งบน Journey ของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องมีแพลตฟอร์มกลางเข้ามาเชื่อมการทำงานของแต่ละฝ่าย ซึ่ง Slack จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้”

เป็นเหมือน Digital Headquarter หรือสำนักงานใหญ่บนโลกดิจิทัล ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว และเป็นศูนย์บัญชาการที่มีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว