สแกนกิจการอวกาศไทย พร้อมแค่ไหนชิงเค้ก 34 ล้านล้าน

space
สรรพชัยย์ หุวะนันทน์-ปฐมภพ สุวรรณศิริ

การประชุม APSCC 2024 (Asia-Pacific Satellite Communications Council) รอบล่าสุดจัดขึ้นที่ประเทศไทย มีผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศเข้าร่วมงานกันคึกคัก สมกับที่อุตสาหกรรมนี้กำลังผลิใบเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีใหม่ที่ราคาถูกลง ทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 34 ล้านล้านบาท ในปี 2040

ในการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยี บริษัทสเปซ เอ็กซ์ สามารถพัฒนาและทดสอบจรวดขนส่งแบบใช้ซ้ำขนาดใหญ่ได้สำเร็จ ส่งผลให้ต้นทุนการจัดส่งวัตถุจากผิวโลกขึ้นชั้นบรรยากาศถูกลงเกือบครึ่ง ช่วยเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยมีโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาทำหน้าที่แทนเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO)

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนหาคำตอบว่าประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะเข้ามาชิงเค้กอุตสาหกรรมอวกาศโลกที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ผ่านผู้เล่นคนสำคัญในฝั่งเอกชนและผู้กำกับดูแล

เทคโนโลยีเปลี่ยนสู่วงโคจรต่ำ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ โดยเฉพาะการที่ต้นทุนการขนส่งดาวเทียมถูกลงมาก นำมาพูดคุยอย่างกว้างขวางในงานประชุม APSCC 2024 ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีมหกรรม Thailand Space Week บนเวทีมีการสัมมนาเข้มข้นถึงบริบทของดาวเทียม LEO ที่มีมากขึ้น

“ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยคมตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงที่สัมปทานใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าหมดอายุ และทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังเตรียมวิธีการประมูลใหม่ เป็นช่วง

3 ปีที่ไทยคมต้องหาทางพึ่งพาตัวเองให้ได้ จึงพยายามมุ่งไปยังการเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ไม่ใช่แค่บริษัทดาวเทียม

Advertisment

“เรามองหารูปแบบบริการใหม่ ๆ และลูกค้าใหม่ ๆ ที่เหนือกว่าการสื่อสารแบบเดิม เช่นตอนนี้ไทยคมให้บริการด้านการเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าไม้และการเกษตร เริ่มทำโครงการกับกระทรวงเกษตรฯ ใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมประเมินความเสียหายของนาข้าวได้ โซลูชั่นนี้จะนำไปสู่บริการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจสอบการดูดซับคาร์บอนในป่า ที่สามารถให้บริการลูกค้าที่ต้องการใช้ข้อมูลทำรายงานด้านความยั่งยืนได้ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งในภูมิภาคนี้มีแค่ไทยคมที่มีโซลูชั่นดังกล่าว”

ไทยคมลุยสเปซเทค

อีกส่วนคือ การเป็นพาร์ตเนอร์กับโครงข่ายดาวเทียม LEO อย่างโกลบอล สตาร์ ซึ่งมีเกตเวย์ที่ปทุมธานี ทำตลาดอุปกรณ์ไอโอที และการส่งสัญญาณความปลอดภัยในพื้นที่ห่างไกล ส่วนวงโคจรดาวเทียม LEO ที่ประมูลได้แล้ว 3 ตำแหน่ง เป็นการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า และจะทยอยส่งดาวเทียมไทยคม 9, 9A และ 10 ขึ้นสู่งวงโคจร

Advertisment

“สเปซ เอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ พัฒนาเทคโนโลยีจรวดแบบใช้ซ้ำได้ เป็นเรื่องดีกับอุตสาหกรรม ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เวลาเราจะส่งดาวเทียมแต่ละครั้งต้นทุนกว่า 2-3 พันล้าน เป็นค่าจรวดขนส่งแค่ 40 วินาที หมดไปเป็นพันล้าน แต่ปัจจุบันต้นทุนการจัดส่งเหลือหลักร้อยล้านเท่านั้น ตรงนี้สร้างแรงดึงดูดให้ใครก็ส่งดาวเทียมได้ง่ายขึ้น การแข่งขันในเศรษฐกิจอวกาศก็มากขึ้น”

สำหรับวงโคจรใหม่ที่ประมูลได้ คือตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ครอบคลุมทวีปเอเชีย ใช้จรวด Falcon 9 ของสเปซเอ็กซ์ ในการส่งไทยคม 10 มีความจุข้อมูลสูงถึง 120 Gbps (จิกะบิตต่อวินาที) ราวปี 2570

“ปฐมภพ” กล่าวด้วยว่า ไทยคมให้ความสำคัญกับการช่วยรักษาวงโคจรของประเทศด้วย ซึ่งไทยยังเหลือสิทธิเข้าใช้วงโคจร 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก ที่ยังไม่มีใครประมูลสิทธิเข้าใช้ และอาจต้องส่งสิทธิคืนให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ล่าสุด กสทช.ได้ให้สิทธิไทยคมในการจัดหาดาวเทียมมารักษาวงโคจรตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ส่วนอีกสองตำแหน่งที่ว่างอยู่ยังติดปัญหาเรื่องเอกสารและระเบียบ

“การรักษาตำแหน่งนี้จะใช้วิธีลากไทยคม 9A ที่อยู่ในแผนส่งขึ้นวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกเข้ามา และมองหาตลาดต่อไป กรอบการลงทุนไทยคม 9, 9A และ 10 รวม 1.5 หมื่นล้านบาท ขออนุมัติผู้ถือหุ้นแล้ว การปรับแผนลาก 9A ไปตำแหน่งใหม่ไม่กระทบต้นทุนมากนัก เราเห็นความสำคัญของการรักษาวงโคจรอย่างมาก”

NT เริ่มต้นลุย Leo

หลังจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ลงทุน 400 ล้านบาทก่อสร้างเกตเวย์เพื่อรับสัญญาณของโครงข่ายดาวเทียม Eutellsat Oneweb เสร็จตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่ยังต้องรอ กสทช.ไฟเขียว ที่สุดก็ได้ฤกษ์ให้บริการ ม.ค. 2568

“สรรพชัยย์ หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เปิดเผยว่า NT และ Eutelsat OneWeb พร้อมเปิดให้บริการ Satellite Network Portal Gateway (SNP Gateway) เป็นทางผ่านให้โครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO OneWeb ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ในอาเซียน (CLMV) และบางส่วนของอินโดนีเซีย

“ด้วยตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อระดับประเทศ แต่ยังเชื่อมโยงไทยกับโครงข่ายการสื่อสารระดับโลกด้วย”

“คาดว่า NT จะมีรายได้ต่อปี 200 ล้านบาท จากค่าเช่าโครงสร้างพื้นฐาน และการค้าส่งสัญญาณบรอดแบรนด์ ที่น่าจะมีผู้ใช้บริการถึง 50,000 รายในปี 2568”

สำหรับ OneWeb มีดาวเทียม LEO โคจรรอบโลกกว่า 428 ดวง จากแผนทั้งหมด 648 ดวง และมีเกตเวย์กว่า 40 แห่งทั่วโลก เน้นให้บริการการสื่อสารสำหรับองค์กรเป็นหลัก เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่กำลังเติบโต เช่นเดียวกับโครงข่าย Starlink ของสเปซเอ็กซ์

การส่งเสริมและกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้บริษัทดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศไทย โดย กสทช.ระบุว่าต้องการพิจารณาลักษณะและผลกระทบอย่างถ้วนถี่ หลังมีการท้วงติงจากผู้ประกอบบางราย ขณะที่บริการ LEO เป็นเรื่องใหม่ แม้จะมีการให้อนุญาต 3 รายการคือ 1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียมต่างชาติ ระยะเวลา 5 ปี 2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียมตามระยะเวลาใบอนุญาตของ NT ที่จะสิ้นสุด 3 ส.ค. 2568 นี้ และ 3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระยะเวลา 5 ปี แต่มีเงื่อนไขต้องรายงานและพิจารณาผลกระทบต่อตลาดต่อเนื่อง

หากพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การอนุญาตดังกล่าวดูจะเป็นไปตามกรอบการส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2564 แต่การส่งเสริมกิจการอวกาศอย่างแท้จริง ทั้งในแง่ของนโยบาย แผน และเงินสนับสนุน อยู่ที่ พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกามากว่า 2 ปีแล้ว

โอกาสใหม่ท่าอวกาศยาน

ก่อนหน้านี้ นายธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมและควรสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศ โดยเฉพาะในการเป็น “ท่าอวกาศยาน” (Spaceport) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมในการส่งและรับจรวดเพื่อส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร โดย กสทช.มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการสร้างท่าอวกาศยาน

“ไทยเหมาะหลายด้าน เช่น ภูมิศาสตร์ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีพื้นที่ใกล้ทะเล ห่างผู้คน อากาศ และสภาพแวดล้อมไม่แปรปรวนจากภัยพิบัติ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้เปรียบกว่าฐานปล่อยจรวดที่มีในปัจจุบัน ทั่วโลกต้องการส่งดาวเทียม LEO เช่น Starlink มีแผนปล่อยดาวเทียมถึง 42,000 ดวง เช่นเดียวกับ Oneweb ของประเทศในยุโรป รวมทั้งจีนที่จะยิงนับหมื่นดวง ดาวเทียมประเภทนี้อายุสั้นแค่ 5 ปี กิจการอวกาศจึงเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้นที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง”

และในอนาคตอันใกล้จะมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การส่งคนขึ้นไปท่องเที่ยว หรือการสร้าง และส่ง Data Center บนอวกาศ จึงเป็นหนึ่งใน Sunrise Industry ที่เทคโนโลยีปัจจุบันรองรับในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว