ความคุ้นเคยของคนไทยและการเปิดกว้างของผู้กำกับดูแล ทำให้ตลาด “แอปเรียกรถ” (Ride Hailing) คึกคักเป็นพิเศษ ทั้งจำนวนผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแล้วถึง 11 ราย และมูลค่าตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
จากข้อมูลของ Statista ระบุว่า มูลค่าตลาดปี 2567 จะอยู่ที่ 1.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.5 หมื่นล้านบาท) และมีโอกาสขยับขึ้นเป็น 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ (5 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2572
ท่ามกลางตัวเลือกที่หลากหลาย “ไลน์แมน” (LINE MAN) ที่อยู่ในสมรภูมินี้มาตั้งแต่ 6 ปีก่อน ในยุคที่ยังใช้ชื่อ “LINE TAXI” ล่าสุดตัดสินใจอัพเกรดเปลี่ยนชื่อบริการเรียกรถเป็น “LINE MAN RIDE” ให้บริการครอบคลุมทั้งแท็กซี่ รถส่วนบุคคล และมอเตอร์ไซค์ รองรับการขยายตัวของสังคมเมือง และภาคการท่องเที่ยว
โตก้าวกระโดด
“ศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์” รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจบริการด้านออนดีมานด์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า บริการเรียกรถ LINE MAN RIDE มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.LINE MAN Eco (รถส่วนบุคคล หรือแท็กซี่ ระบบจะส่งรถที่ใกล้ที่สุดมาให้ผู้ใช้) 2.LINE MAN Taxi (เฉพาะแท็กซี่) และ 3.LINE MAN Bike (รถมอเตอร์ไซค์)
“LINE MAN Eco ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามด้วย LINE MAN Bike และ LINE MAN Taxi ซึ่ง LINE MAN Bike เติบโตถึง 390% หลังเริ่มให้บริการในช่วงต้นปี 2567 เนื่องจากเป็นบริการที่ตอบโจทย์ช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องการความรวดเร็วและการเดินทางที่คล่องตัว”
โดยหลังจาก LINE MAN RIDE ได้ใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้นปี 2567 ก็มีการเติบโตในแง่ปริมาณธุรกรรมถึง 60% เทียบกับการใช้งานระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-15 ต.ค. 2566
ชูราคาถูก-ปลอดภัย
บริการ LINE MAN RIDE มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “ราคาถูก ปลอดภัย” โดยคิดค่าบริการถูกกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ประมาณ 10% และเก็บส่วนแบ่งรายได้ (Commission) กับคนขับเพียง 10% ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในตลาด ส่วนด้านความปลอดภัยของผู้ใช้ มีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Trip Tracking) มีการตรวจสอบประวัติคนขับอย่างละเอียด ประกันครอบคลุมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร และระบบประเมินคะแนนแบบไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อให้บริการมีความโปร่งใส
“เราพยายามปิดช่องว่างของธุรกิจแอปเรียกรถ ที่ผู้ใช้เจอปัญหาค่าบริการแพงตั้งแต่โควิด-19 ระบาด จึงวางจุดยืนในการให้บริการด้วยราคาที่ถูก ซึ่งการเข้ามาของเราทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และช่วยให้ตลาดขยายตัว”
แอปไทยที่เข้าใจคนไทย
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานตามพฤติกรรมคนไทย ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้หลักของ LINE MAN ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม 10 ล้านคนต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Toll Selection ให้ผู้ใช้เจาะจงเลือกเส้นทางตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทางว่าต้องการขึ้นทางด่วนหรือไม่ ทั้งยังมีการใช้ Chat Stickers เพื่อสื่อสารกับคนขับอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพิมพ์ข้อความ และการชำระเงินผ่าน QR Payment ซึ่งกำลังจะเปิดให้ใช้บริการในเร็ว ๆ นี้
“เราเป็นแอปสัญชาติไทยที่เข้าใจคนไทย จึงออกแบบฟีเจอร์ และ Localize การให้บริการได้เต็มที่ ต่างจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่ต้องพัฒนาฟีเจอร์แบบ One Size Fit All หรือฟีเจอร์เดียวแต่สามารถให้บริการได้ทั้งภูมิภาค”
นำร่อง LINE MAN Car
“ศิวภูมิ” เล่าถึงมูฟเมนต์ใหม่ ๆ ที่จะมีตามมาด้วยว่ากำลังทดสอบระบบการเรียกรถประเภท “LINE MAN Car” ที่ให้บริการเฉพาะรถส่วนบุคคล เพื่อตอบความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการนั่งแค่รถส่วนบุคคล โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคาที่สูงกว่าบริการปกติ
รวมถึงมีบริการรถ EV สำหรับคนขับที่ต้องการเช่าขับรายวัน โดยโฟกัสที่รถยนต์เป็นหลัก เพราะมีความต้องการในกลุ่มคนขับมากกว่า
สำหรับแผนการขยายธุรกิจตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่การให้บริการให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศภายใน 2 ปี โดยในปี 2568 วางไว้ 15-20 เมือง ส่วนการขยายการให้บริการในพื้นที่สนามบินอยู่ในช่วงการศึกษาขั้นตอน และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ
“LINE MAN เป็น 1 ใน Top 3 ของผู้ให้บริการแอปเรียกรถในไทย มีเป้าหมายระยะยาวคือเป็นผู้นำตลาด เชื่อว่าด้วยศักยภาพ และอีโคซิสเต็มที่มีจะทำให้เราโตเร็วกว่าภาพรวมของตลาดราว 2-3 เท่า”
บาลานซ์ดีมานด์-ซัพพลาย
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตั้งราคาและการให้บริการ คือการบริหารดีมานด์และซัพพลาย โดยทำให้จำนวนคนขับในพื้นที่สมดุลกับจำนวนผู้ใช้บริการ
“ศิวภูมิ” ขยายความว่า ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District หรือ CBD) จะมีการบริหารซัพพลายทั้งแบบ Proactive หรือการประมาณการล่วงหน้าเพื่อนำคนขับเข้ามาเตรียมพร้อมในพื้นที่ และแบบ Reactive หรือการรับมือกับดีมานด์ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเริ่มใช้โมเดล “Dynamic Pricing” (Surge Pricing) หรือกลยุทธ์การตั้งราคาแบบยืดหยุ่น ที่จะมีการปรับราคาตามความต้องการ เพื่อจูงใจให้คนขับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
“โมเดล Dynamic Pricing เกิดมาเพื่อบาลานซ์ดีมานด์กับซัพพลายอยู่แล้ว สมมติว่าในพื้นที่มีคนเรียกรถ 100 คน แต่มีรถแค่ 20 คัน ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รถ ซึ่งการเพิ่มราคาจะช่วยให้คนขับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ท้ายที่สุดราคาก็จะเข้าสู่ภาวะปกติตามกลไกของตลาด”
ด้าน “อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์” รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai เสริมว่า โมเดล Surge Pricing เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลก โดยเฉพาะอูเบอร์ (Uber) เป็นเจ้าแรก ๆ ซึ่งพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการรถในเวลาเร่งรีบจะไม่คำนึงถึงเรื่องราคาอยู่แล้ว แต่จะคิดว่ามีรถให้ใช้บริการหรือเปล่า
สำหรับการตั้งราคาในการให้บริการทั้งช่วงเวลาปกติ และช่วงเวลาเร่งรีบ จะมีเกณฑ์หรือข้อกำหนดจากกรมการขนส่งทางบกกำกับไว้อยู่
RIDE เติมเต็มอีโคซิสเต็ม
“อิสริยะ” กล่าวด้วยว่า LINE MAN RIDE เป็นส่วนเสริมที่ทำให้อีโคซิสเต็มของ LINE MAN Wongnai แข็งแรงยิ่งขึ้น ล้อไปกับยุทธศาสตร์ในภาพรวมที่มีทั้งธุรกิจที่สร้างการเติบโตแต่กำไรอาจน้อย และธุรกิจที่สร้างรายได้หรือกำไรมาก
“LINE MAN Wongnai ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีก นอกจากบริการออนดีมานด์ เช่น Merchant Solutions (POS), Advertising, LINE PAY และ Financial Services ที่ช่วยสร้างการเติบโตให้บริษัทในทุกทิศทาง เพิ่มความพร้อมในการ IPO ตามแผนที่วางไว้”