
หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่นาน ราคา Bitcoin ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับหนึ่ง ก็พุ่งทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ชุมชนคริปโตฯ อยู่ในสภาวะคาดหวังนโยบายสนับสนุนจากคณะบริหารชุดใหม่ ของว่าที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่เคยลั่นวาจาว่าสหรัฐฯ จะเป็นเมืองหลวงของคริปโต
ก่อนหน้านี้ “นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ ไบแนนซ์ จำกัด ได้เผยแพร่บทความ “เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกการเงินดิจิทัล” โดยชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจจนกลายเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงเชิงนโยบาย
บทความอ้าง Public Citizen ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) เปิดเผยว่า เงินสนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งมาจากภาคสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการของอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดความชัดเจนด้านกฎระเบียบ
“นิรันดร์” ระบุด้วยว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเก็งกำไรสำหรับนักลงทุนเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนไม่สามารถเพิกเฉยได้ นี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังก้าวข้ามเข้าสู่การยอมรับที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในระดับสากล
เมื่อใดสหรัฐฯ เปลี่ยน เมื่อนั้นนโยบายคริปโตทั่วโลกขยับตาม
“นิรันดร์” กล่าวระบุด้วยว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จึงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับสากล โดยเศรษฐศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ มักส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดคริปโตทั่วโลก
รวมถึงยังมีอิทธิพลเหนือความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการตัดสินใจด้านกฎเกณฑ์ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติ Spot ETFs โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) เป็นตัวเร่งให้เกิดการยอมรับและเสริมสร้างความชอบธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
ในทำนองเดียวกันนั้น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่าง การปรับอัตราดอกเบี้ย ที่มีผลต่อกระแสเงินทุนและการเคลื่อนไหวของตลาด ทั้งในตลาดการเงินแบบดั้งเดิม และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การเลือกตั้งรัฐสภาของสหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายเกี่ยวกับคริปโตในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยทัศนคติของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันหรือชะลอการออกกฎหมายที่สำคัญ เช่น การร่างกฎหมาย FIT21 ที่มุ่งเน้นสร้างความชัดเจนในด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
“คำถามที่สำคัญจริงๆ อาจไม่ใช่ว่า ‘สหรัฐฯ จะเข้ามาควบคุมคริปโตหรือไม่’ แต่แท้จริงแล้วคือ ‘สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับคริปโต “อย่างไร” เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกต่างหาก”
ทั้งนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการคุ้มครองผู้ใช้ รัฐบาลทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับการควบคุมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบระดับโลกนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ในการนำอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลก้าวไปข้างหน้า ผ่านการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค