ไฮไลต์ – เทรนด์ การพัฒนาเครื่องมือ AI – LINE API พลิกโฉมบริการธุรกิจไทย

มัดรวมไฮไลต์-เทรนด์พัฒนาเครื่องมือ AI บน LINE รากฐานธุรกิจ เศรษฐกิจไทย จากงาน LINE Thailand Developers Conference 2024

LINE เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เชื่อมโยงคนไทยกว่า 56 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมธุรกิจ ร้านค้าทั้งใหญ่และเล็ก รวมถึงบริการภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ด้วยศักยภาพขนาดใหญ่นี้เอง LINE จึงมุ่งมั่นพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับบริการและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและธุรกิจให้ได้มากที่สุด 

LINE ตระหนักถึงการสร้างชุมชนนักพัฒนาทั้งภายในและภายนอก เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์หรือ Leverage กับ AI ในบริบทของเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในเชิงธุรกิจ และเชิงสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนของชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ LINE ในงาน LINE Thailand Developers Conference 2024 ที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้จาก “ตัวจริง” ในการใช้ LINE API ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์นิยมใช้ ร่วมกับ Generative AI ทั้ง ChatGPT, Gemini และอื่นๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกรายใหญ่ เอสเอ็มอี สุขภาพ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีภายในและภายนอก ในธีม Building the Future using LINE API and AI 

โดยเนื้อหามีหลากหลายระดับตั้งแต่ปูพื้นฐานของ LINE API และการใช้ AI ต่างๆ มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานและบริการ รวมถึงกรอบเฟรมเวิร์กของการจัดเก็บรวบรวมดาตา และการจัดการประมวลผลแบบแอดวานซ์ ทั้งบทบรรยายบนเวที และการเวิร์กช้อปกับ “ตัวจริง” ในแต่ละด้าน

ไฮไลต์ที่เห็นว่าถูกกล่าวถึงอย่างมาก นอกจากการใช้ประโยชน์เพื่อวิเคราะห์ และสร้างโซลูชันอัตโนมัติเพื่อธุรกิจแล้ว การสร้างแช็ตบอตบน LINE เสริมพลังด้วย AI ให้ดูมีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น และการใช้งาน AI อย่างปลอดภัย ก็สำคัญไม่แพ้กัน

LINE Technology ส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

การพัฒนาบริการบนแพลตฟอร์ม LINE ถือเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของทุกธุรกิจในไทย หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญสำหรับนักพัฒนาในการสร้างบริการให้เชื่อมต่อกับ LINE คือ LINE API ที่อยู่เบื้องหลังบริการที่เห็นกันอยู่มากมาย อย่างเช่น Chatbot ต่างๆ สำหรับร้านค้าและแบรนด์บน LINE นอกจากจะช่วยสื่อสารตอบโต้กับลูกค้าได้สะดวกสบายแล้ว แบรนด์ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จาก Chatbot ไปพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ ตอบสนองลูกค้าได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น

โดยต้องไม่ลืมว่า LINE ในประเทศไทยมีผู้ใช้กว่า 56 ล้านบัญชี ครอบคลุมคนทุกกลุ่มอายุในประเทศ ทำให้มีโอกาสมากมายสำหรับทั้งนักพัฒนาและภาคธุรกิจไทยในการพัฒนาบริการบนแพลตฟอร์มนี้ 

ด้วยเทคโนโลยีและผลกระทบที่แพลตฟอร์มมีต่อสังคม LINE API จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อวงการเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้คอมมิวนิตี้อย่าง LINE DEV และงาน LINE Thailand Developers Conference ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กลายเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ และเทคนิคสำคัญเกี่ยวกับ LINE API ให้เหล่านักพัฒนาไทย สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 

ตัวบ่งชี้สำคัญที่ทำให้เห็นว่า LINE API มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย คือการเติบโตของสมาชิกนักพัฒนาในคอมมิวนิตี้ LINE DEV ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 45,000 คน  และสถิติการใช้งาน LINE API จากนักพัฒนาทั่วประเทศไทย ทั้ง LINE Messaging API, LIFF, MINI APP และ LINE Login ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Messaging API ที่เติบโตขึ้น +70% จากปีที่แล้ว เป็น 540,000 Chatbots ในส่วนของ LIFF (LINE Front-end Framework) เติบโตขึ้น +30% เป็น 260,000 LIFF Apps

อัปเดตฟีเจอร์ใหม่แห่งปี กับเทคโนโลยี LINE API

ภายในงาน LINE ได้เผยฟีเจอร์ใหม่ของ LINE API มากมาย เพื่อให้การพัฒนาซอฟต์แวร์และโซลูชันในไทย มีประสิทธิภาพและใช้งานง่ายขึ้น

ที่น่าสนใจมากสุดคือฟีเจอร์ Text Message V.2 ของ LINE Messaging API ด้วยปัจจุบันบัญชีไลน์ทางการ (LINE OA) นิยมใช้ Chatbot มากขึ้น LINE จึงเพิ่มความสามารถให้ตัว Chatbot สามารถ Mention หาผู้ใช้ได้แล้ว โดยสามารถ Mention สมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม หรือ @All เพื่อ Mention หาสมาชิกทุกคนในกลุ่มได้ด้วย 

กลับกันผู้ใช้ก็สามารถ Mention หา LINE Chatbot ในกลุ่มได้เช่นกัน โดยพัฒนาฟังก์ชันให้ LINE Chatbot สามารถโต้ตอบเฉพาะเมื่อถูก Mention ได้ สร้าง Interactive Experience ใหม่ๆ ให้การพูดคุยโต้ตอบกับ LINE Chatbot สะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม

และอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาบริการ ยกระดับการทำงานของนักพัฒนาไทย ด้วยการผสมผสาน LINE API กับ AI ผ่านเทคนิคและกรณีศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งภายในงาน LINE Thailand Developers Conference 2024 ครั้งนี้ ก็ได้มีตัวจริงจากอุตสาหกรรมมาแลกเปลี่ยน รวมถึงนักพัฒนาภายในของ LINE ที่ช่วยเสริมความรู้เกี่ยวกับการจัดการฐานข้อมูล เฟรมเวิร์ก และการรักษาความปลอดภัยจาก AI ด้วย

ไฮไลต์ ดึง AI เชื่อมต่อกับ LINE ช่วยแก้ปัญหาธุรกิจ มีความเป็นมนุษย์ และปลอดภัย

นอกจากจะมีการอัปเดตฟีเจอร์ความสามารถของ LINE API ในหัวข้อ Building the Future: LINE API Updates in 2024 แล้ว อีกส่วนที่น่าสนใจคือการใช้ LINE API ร่วมกับ AI ของนักพัฒนาไทยในแง่ของการสร้างและพัฒนาบริการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการแชร์กรณีศึกษาหลากหลายส่วนบริการที่น่าสนใจ ตัวอย่างดังนี้

อุตสาหกรรมสุขภาพ – บริการเภสัชกรรมทางไกล บริษัท ARINCARE ได้ร่วมมือกับ Skooldio ใช้ LINE API และ AI Gemini สร้างแช็ตบอตที่สามารถคัดกรองอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย ก่อนส่งเคสให้กับเภสัชกร เพื่อให้เภสัชกรมีเวลาให้คำปรึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาของการใช้ระบบเภสัชกรรมทางไกลคือการที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากส่งข้อความเพื่อขอรับบริการพร้อมๆ กันบน LINE OA ทำให้ผู้ให้บริการดำเนินการตามขั้นตอนได้ล่าช้า

และส่งผลให้ผู้ใช้งานไม่รอจนเสียลูกค้าในระบบ ทางผู้พัฒนาเน้นย้ำด้วยว่าแช็ตบ็อตนี้ ควรเน้นการออกแบบ UX/UI ให้ดูเป็นมนุษย์ (Humanized) เพื่อสร้างความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและเชื่อถือได้ในการใช้งาน

ธุรกิจค้าปลีก กรณีตัวอย่าง CJ Express ซึ่งมีผู้ติดตาม LINE OA กว่า 3.2 ล้านคน ที่นิยมเข้ามาใช้บริการบน LINE OA หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสินค้า หาสาขา และอื่นๆ การคัดเลือกคำตอบแบบอัตโนมัติให้ถูกต้อง แม่นยำจึงมีความสำคัญ

เพราะผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์ม CJ มีมากมาย หลากหลาย และเป็นร้านค้าปลีกในไทยที่มีถึงพันกว่าสาขา จึงได้นำ AI Gemini และ Vertex AI ร่วมกับ LINE API มาพัฒนาเป็น Chatbot ช่วยค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงให้ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถใช้ทั้งเสียงและรูปภาพในการค้นหาสินค้าผ่าน LINE OA ได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อจัดการกับปัญหา AI ให้ข้อมูลผิดหรือแสดงสินค้าจากแบรนด์อื่น CJ Express ได้ใช้เทคนิค Retrieval Augmented Generation (RAG) และสร้าง AI Agent ผ่าน Vertex Agent Builder ทำให้การตอบกลับของ AI อยู่ในบริบทที่เฉพาะเจาะจงบนสินค้าของ CJ Express และมีความแม่นยำขึ้น

อีคอมเมิร์ซ และ บริการออนไลน์ ส่วนนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาโซลูชัน หรือ ซอฟต์แวร์ สำหรับให้บริการกลุ่ม SMEs หรือพ่อค้าแม่ค้าที่เปิดร้านบน LINE โดยนักพัฒนาจาก LINE ได้นำเสนอไอเดียการอัปเกรดระบบจัดการคลังสินค้า ด้วยการใช้เทคโนโลยี OpenAI API เชื่อมต่อกับ LINE SHOPPING API ช่วย SMEs ที่มีร้านค้าอยู่บน LINE SHOPPING ในการจัดการสต็อกสินค้าผ่านเสียงได้ โดยร้านค้าเพียงแค่พิมพ์คำสั่งหรือส่งเสียง Chatbot ก็จะจัดการให้ ซึ่งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปต่อยอดให้เข้ากับบริการหรือร้านค้าของตน 

โซลูชันที่โดดเด่นน่าสนใจอีกอย่างคือ B.A.A.S จากบริษัท BeTask Consulting ที่มีการใช้งาน LINE API ร่วมกับ Gemini และ Vertex AI สร้างเป็นโซลูชันช่วย SMEs ไทยหา Potential Customer ให้แบบอัตโนมัติ ผ่านการวิเคราะห์หาข้อมูลกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสซื้อจาก LINE OA ของร้านค้า

โดยดึงข้อมูลประวัติลูกค้าทั้งหมดจาก LINE UserID แล้วแปลงข้อมูลมาวิเคราะห์หากลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ LINE ที่มีโอกาสเข้ามาใช้บริการ เช่น เคยทักมาถามราคา ถามบริการ และอื่นๆ จากนั้น แปลงข้อมูลลูกค้าเป็นชุดรหัสแบบ vector แล้วนำไปเทียบเคียงกับลูกค้าอื่นๆ ที่อยู่ใน LINE OA เพื่อหาความคล้ายคลึงกัน

อีกทั้งยังช่วยสร้างคอนเทนต์ Campaign การตลาดให้ร้านค้าพิจารณา เพื่อนำไปเผยแพร่ให้ผู้ใช้ LINE ในกลุ่มเป้าหมายที่วิเคราะห์แล้ว ทั้งหมดทำงานให้โดยอัตโนมัติ ส่งผลให้อัตราการตอบกลับจากลูกค้าสูงถึง 30-40% จาก Marketing Campaign ที่ถูกส่งออกไป

สร้างความปลอดภัยในการใช้งาน AI – AI Guardrails หัวข้อสำคัญหนึ่งในการสัมมนาคือการสร้างเกราะป้องกันความ “มั่ว” เพื่อควบคุมการทำงานของ GenAI หรือ Chatbot ที่มีเบื้องหลังการพัฒนาโดย GenAI ต่างๆ ไม่ให้มีความหลอนหรือความผิดพลาดของข้อมูล

โดยแนะนำเฟรมเวิร์กเพื่อสร้างระบบ AI ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ ในเซสชันนี้มีการแนะนำวิธีการและเฟรมเวิร์กแบบต่างๆ รวมไปถึงตัว AI Guardrails ซึ่งเป็น GenAI ของ SCB 10x ที่สามารถนำมาช่วยคัดกรองการใช้งาน AI Chatbot ให้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยขึ้นได้

โซลูชันตรวจสอบสลิปผ่าน LINE – อีกนึ่งเซสชันที่น่าสนใจ คือระบบ Chatbot ตรวจสอบสลิปชำระเงินต่างๆ จาก SlipOK ที่ได้มีการใช้เทคโนโลยี LIFF และ Messaging API อย่าง Flex Message เชื่อมต่อกับ SlipOK API พัฒนาเป็นระบบ Chatbot ช่วยตรวจสอบสลิปปลอมให้โดยอัตโนมัติ ทั้งสลิปจากธนาคารและสลิปที่มาจาก True Money  รองรับการใช้งานทั้งในกลุ่มแชตและบน LINE OA ผ่าน Webhook ได้ อีกทั้งมี Open API เพื่อเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ได้ง่ายดาย 

ภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์กชอร์ปร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายกลุ่มสาขา และการบรรยายอีกหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันศักยภาพของนักพัฒนาไทยในวงกว้าง เพื่อการวางรากฐานบริการ และธุรกิจที่ล้ำสมัย นำไปสู่เศรษฐกิจไทยที่สามารถขับเคลื่อนให้เติบโตไปอีกได้ด้วยเทคโนโลยี