อุกฤษฏ์ วงศราวิทย์ กับธุรกิจ “ดาต้าเซ็นเตอร์”

อุกฤษฏ์ วงศราวิทย์
อุกฤษฏ์ วงศราวิทย์

คลื่นของการที่บริษัทเทคระดับโลกเข้ามาลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ในประเทศไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้จุดกระแสความสนใจพร้อมกับเกิดการถกเถียงในวงกว้างว่า ดาตาเซ็นเตอร์จะให้ประโยชน์ต่อประเทศซึ่งเป็นฐานที่ตั้งได้มากน้อยเพียงใด เพราะในด้านหนึ่งก็มองว่าดาตาเซ็นเตอร์เป็นเพียงการลงทุนใช้พื้นที่ในไทย และไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานมากนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “อุกฤษฏ์ วงศราวิทย์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ และประธานบริหารสายงานโซลูชันและเทคโนโลยี บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ G-ABLE ซึ่งเป็นหนึ่งในกูรูไอทีของไทย ถึงแนวโน้มของคลื่นการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งฉายมุมมองเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์หลาย ๆ ด้าน

ดาต้าเซ็นเตอร์บูม

อุกฤษฏ์ แชร์ข้อมูลจากประสบการณ์ของจีเอเบิล ซึ่งให้บริการบูรณาการระบบไอทีแก่องค์กรธุรกิจในไทยมายาวนานกว่า 35 ปี และตัวเขาเองที่ทำงานในด้านนี้มา 30 ปีว่า หลายสิบปีก่อนโอกาสอยู่ที่เรื่องอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ แต่ในวันนี้ต้องพูดเรื่องคลาวด์ ซึ่งมีดาต้าเซ็นเตอร์เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต้องมาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนมากในไทยและในอาเซียน

คลื่นการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียนจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เนื่องจากในปี 2025 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะบรรลุกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Digital Economy Framework Agreement : DEFA) ทำให้ตลาดดิจิทัลของ 10 ประเทศรวมเข้าด้วยกัน

มีการใช้จ่ายลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เม็ดเงินด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาในภูมิภาคจำนวนมาก และดาต้าเซ็นเตอร์หรือคลาวด์เป็นหนึ่งในนั้น

อุกฤษฏ์บอกอีกว่า ในเร็ว ๆ นี้จะมี Equinix ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเรื่องพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น ระบบไฟฟ้าน้ำ พลังงานสะอาด พื้นที่ให้คลาวด์โพรไวเดอร์เช่า จะเข้ามาลงทุนในไทย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

ดาต้าเซ็นเตอร์ไม่สร้างงาน ?

สำหรับคำถามที่ว่าประเทศจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด ในเมื่อดาต้าเซ็นเตอร์แทบจะไม่สร้างงานในประเทศ อุกฤษฏ์มองต่างออกไป

อุกฤษฏ์อธิบายว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในพรมแดน จะทำให้ลูกค้าองค์กรที่กำลังพิจารณาย้ายฐานข้อมูล เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพเชิงระบบตัดสินใจเก็บข้อมูลไว้ในประเทศดังเดิม แม้ว่าตัวดาต้าเซ็นเตอร์จะไม่ได้สร้างงาน

ADVERTISMENT

แต่สิ่งที่ตามมาอย่างแรก คือ โครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสิ่งที่ตามมาอีก คือ เทคโนโลยีและการ “ย้ายเวิร์กโหลด” หรือการทำงานและการประมวลผลข้อมูลของธุรกิจหรือองค์กรกลับสู่ประเทศไทย

จากเดิมที่องค์กรในไทยไปใช้บริการคลาวด์ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ แต่ AWS เคยเล่าว่าถ้าเขาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่ไหน เวิร์กโหลดจะย้ายไปที่นั่น ถ้าสร้างที่ไทย เวิร์กโหลดจากสิงคโปร์จะย้ายมาไทย ซึ่งจะเกิดการจ้างงานในอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อเวิร์กโหลดและปริมาณการถ่ายโอนข้อมูลย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศ ก็จะนำไปสู่การติดตามรายได้ที่เกิดในประเทศ และการเรียกเก็บภาษี และอื่น ๆ

ดังนั้น จีเอเบิล มองว่าผลที่ตามมาจากการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ไม่ได้มีแค่การย้ายระบบจากดาต้าเซ็นเตอร์จากต่างประเทศมาอยู่ในไทยเท่านั้น แต่ลูกค้าองค์กรในประเทศไทยก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นในการที่จะย้ายดาต้าเบสจากเซิร์ฟเวอร์แบบออนพรีมิสไปสู่คลาวด์

“งานที่ต้องทำ มีทั้งในแง่ของการย้ายโครงสร้างพื้นฐาน แอปพลิเคชั่น และดาต้าขององค์กรที่จะต้องย้ายสู่ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศ สุดท้ายงานที่จะเกิดคือเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะดาต้ามหาศาลกำลังถ่ายโอนขึ้นคลาวด์สาธารณะ”

ย้ายโครงสร้างพื้นฐาน

ความโดดเด่นของไทยในยุคที่ดาต้าเซ็นเตอร์บูม คือ ภาคธุรกิจของไทยมีการปรับตัวใช้คลาวด์สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังที่เห็นได้จากข้อมูลของการ์ตเนอร์ คือ การวัดอัตราส่วนระหว่าง Infrastructure as a Service (IaaS) หรือการสร้าง/ย้ายโครงสร้างพื้นฐานจากเซิร์ฟส่วนตัวสู่คลาวด์ ต่อการใช้ Platform-as-a-Service (PaaS)

สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 1 กล่าวคือ ในทุก ๆ การสร้างและย้ายไปสู่คลาวด์ 100 ครั้ง จะมีการใช้ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นบนคลาวด์ 100 ครั้ง

ในสภาวะที่การใช้งานคลาวด์ในองค์กรต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การธนาคารและประกันภัย โทรคมนาคม และกลุ่มพลังงาน ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำคลาวด์มาใช้ตามความต้องการขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว ด้านโทรคมนาคมก็ต้องการทำ Modern App และจัดการดาต้า เพื่อนำดาต้าที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ เช่น การทำบริการ และการแจ้งเตือนลูกค้า น่าจะเพิ่มโอกาสการจ้างงานตำแหน่งใหม่ ๆ ในอนาคต

“ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากงานใหม่ ๆ เหล่านี้ยังมีน้อย โดยเฉพาะในไทย เพราะนอกจากจะต้องมีบริการที่ครบถ้วนตั้งแต่การย้ายโครงสร้างพื้นฐาน แอปพลิเคชั่น ดาต้า และไซเบอร์ซีเคียวริตี้แล้ว ยังต้องใช้สกิลเซตสูงมาก อย่างเช่นการทำแอปพลิเคชั่นให้เหมาะสมกับคลาวด์”

อนาคตซอฟต์แวร์ไทย

ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ และประธานบริหารสายงานโซลูชั่นและเทคโนโลยีของจีเอเบิล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตามมาคือ “มาร์เก็ตเพลซ” หรือตลาดซอฟต์แวร์ที่เปิดกว้างทั่วโลก เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ (Independent Software Vendor : ISV) จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการขายและติดตั้งระบบให้ลูกค้า ต่างจากในอดีตที่จะต้องเข้าไปติดตั้งซอฟต์แวร์เข้ากับเซิร์ฟเวอร์ของลูกค้าทุกราย

ISV สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็น SaaS แขวนแอปไว้บนมาร์เก็ตเพลซของคลาวด์นั้น ๆ ซึ่งการเป็น SaaS ไม่ต้องไปขายทีละที่ ติดตั้งทีละองค์กร เพราะผู้ใช้สามารถติดตั้งและจ่ายตามการใช้กับระบบคลาวด์นั้น ๆ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นักพัฒนาและบริษัทซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ

“เราได้คุยกับพันธมิตรอย่าง AWS และ Microsoft ที่มีการสนับสนุนการทำแอปรุ่นใหม่ที่เป็น SaaS โดยจีเอเบิลก็มี ISV อย่าง Blendata บริษัทในเครือที่ทำเรื่องการบริหารจัดการ Big Data ซึ่งการมุ่งเน้นด้านนี้จะเป็นโฟกัสสำคัญของบริษัทเราในปีหน้า สอดคล้องกับภาพรวมในระดับประเทศที่ต้องผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยสามารถเติบโตได้ในตลาดโลก”

อุกฤษฏ์ทิ้งท้ายด้วยว่า กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้ซอฟต์แวร์ไทยคว้าโอกาสในตลาดโลกได้ คือ การผูกติดซอฟต์แวร์ของคนไทยเข้าไปให้บริการในลักษณะแพ็กเกจโซลูชั่น และทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าแต่ละราย เพราะปัญหาสำคัญ คือ ซอฟต์แวร์ไทยมักจะไม่ได้รับความเชื่อมั่น แม้ว่าประสิทธิภาพจะไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าของต่างชาติ