“ทุเรียนดิจิทัล” สู่แพลตฟอร์มการเกษตรแห่งชาติ

kaset
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดตัวโครงการ One TambonOne Digital : ทุเรียนดิจิทัล โดยใช้แพลตฟอร์ม KasetOne มาเป็นตัวกลางในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลการทำการเกษตร โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย เพื่อให้เกิดการบันทึกแบบ “ตรวจสอบย้อนกลับ” เช็กได้ว่าทุเรียนแต่ละลูกที่ส่งไปขายปลูกตรงไหน ที่สวนใคร มีใบรับรอง GAP (Good Agricultural Practic) หรือไม่

สิ่งเหล่านี้จะทำให้มาตรฐานการผลิตทุเรียนยกระดับไปอีกขั้น

“พรรณธนู วรรณกางซ้าย” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนึกถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งปัญหาหนี้สิ้น รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

“การส่งออกทุเรียนนับว่ามีความสำคัญมาก มีสัดส่วนส่งออกมาที่สุด 69% ของผลไม้ไทย หรือราว 9.9 แสนตัน เราส่งไปจีนกว่า 97% ซึ่งตอนนี้กำลังถูกท้าทายจากทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเริ่มพัฒนาการผลิตดีมากขึ้น จึงต้องยกระดับมาตรฐาน และการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าทุเรียนไทย ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาช่วย”

ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมีอยู่ 162,293 ครัวเรือน ใช้พื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 1.02 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิตราว 1.53 ล้านตัน โดย 69% หรือ 991,557 ตัน ของผลผลิตทั้งหมดส่งออกไปต่างประเทศ และ 97% ของทุเรียนที่ส่งออกส่งตรงไปตลาดจีน คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 141,055 ล้านบาท หรือปริมาณ 928,976 ตัน

ขณะที่การผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและจีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2567 การนำเข้าทุเรียนจากไทยลดลงเหลือ 67.98% เมื่อเทียบกับปี 2564

ADVERTISMENT

เชื่อมโยงสตาร์ตอัพ ยกระดับการเกษตร

“ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า อธิบายให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการส่งออกทุเรียนว่า ส่วนสำคัญคือเรื่องการทำให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ที่จะนำไปสู่การวางแผนนโยบาย เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตร (National Agriculture Platform) ของประเทศ

“OTOD ทุเรียนดิจิทัล ต้องการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้ประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อจดบันทึกข้อมูลติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 6,000 ราย ภายใน 2 ปี บนแพลตฟอร์มจะรวบรวมโซลูชั่นที่จำเป็นสำหรับการยื่นขอรับรองมาตรฐานข้อกำหนดการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) แก่เกษตรกรกว่า 12,000 ราย ในพื้นที่ 23 จังหวัด”

ADVERTISMENT

ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการขอ GAP ถึงการส่งออกมีสตาร์ตอัพจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ต้องทำคือกำหนดมาตรฐานให้สตาร์ตอัพทำตาม เพื่อให้สะดวกในการขอบริการจากภาครัฐ โดยเกษตรกรเลือกใช้บริการสตาร์ตอัพได้ผ่านบัญชีบริการดิจิทัล ที่มีตราสัญลักษณ์มาตรฐาน DSure จากดีป้าได้

สำหรับแพลตฟอร์มทุเรียนดิจิทัล ประกอบด้วยหลายส่วน ส่วนแรกคือ เกษตรกรทั่วไปจะใช้แอป KasetSure เก็บข้อมูลแปลง การเพาะปลูก และข้อมูลอื่น ๆ จากนั้นจะมี API เชื่อมไปยัง Dashboard ของแพลตฟอร์ม “ปฐพี” ซึ่งรวมรวมข้อมูลจากเกษตรกรทั้งหมดที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูได้ ช่วยให้พวกเขาพิจารณาอนุญาต GAP หรือ GMP ได้เร็วขึ้น

สวมสิทธิส่งออก แก้ยาก

“ต้องเร่งให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด ในเบื้องต้น 6,100 ราย จาก 23 จังหวัดนำร่อง แพลตฟอร์มทั้งหมดช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไทย การบันทึกกิจกรรมในแปลงตามหลักมาตรฐาน เพื่อติดตามการใช้สาร/ยา วันที่ใช้สาร เหตุผลที่ใช้ วิเคราะห์ช่วงอายุการเติบโตของทุเรียนแต่ละช่วง ซึ่งระบุวันกําหนดตรวจคุณภาพเนื้อแห้งของทุเรียนได้ มีการติดตามทุเรียนตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง แล้วตรวจสอบย้อนกลับจากปลายทางไปยังต้นทางได้”

เมื่อรวมกับแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี จากการเสริมทักษะให้เป็น “เกษตรกรดิจิทัล” 12,200 คน และได้ผู้ใช้ 61,000 ราย ช่วยส่งเสริมเป้าหมายการกลับมาเป็นอันดับหนึ่งในตลาดทุเรียนได้ โดยคาดการณ์การเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น 20% สามารถป้องกันการตัดและจำหน่ายทุเรียนอ่อนเนื่องจากมีการตรวจสอบย้อนกลับ จะทำให้ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ราว 19,820 ตัน จากปริมาณผลผลิต 152,500 ตัน

“มาตรฐาน GAP ตอนนี้ครอบคลุมเพียง 10% ของพื้นที่ปลูกทุเรียน การจะทำให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตรของประเทศ และลดขั้นตอนการขอมาตรฐาน และจัดการข้อมูลการผลิตสะดวกขึ้น เพื่อปูทางไปสู่ตลาดอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา”

ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล ดีป้า เสริมว่า กลไกการสนับสนุนให้ใช้งานดิจิทัลกับการเกษตรจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้กระบวนการ GAP เร็วขึ้น แต่ในส่วนของการสวมสิทธิในการส่งออกนั้น ยอมรับว่ายังนำเทคโนโลยีไปแก้ได้ยาก เพราะเป็นการใช้เล่ห์กลมาก เช่น บางครั้งผู้ส่งออกถอดฝาตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งติดสัญลักษณ์แสดงสิทธิไปเลย