เจาะ 5 อินไซต์ e-Conomy SEA 2024 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?

ไทย-e-Conomy 2024

สำรวจ 5 อินไซต์ เศรษฐกิจดิจิทัล “ไทย” มูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายงาน e-Conomy SEA 2024 โดย “Google” และพาร์ตเนอร์

แต่ละปีกูเกิล (Google), เทมาเส็ก (Temasek) และ Bain & Company จะร่วมกันจัดทำรายงาน “e-Conomy SEA” เพื่อติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเจาะรายละเอียดที่ 6 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

สำหรับรายงาน e-Conomy SEA 2024 ที่เผยแพร่ในปีนี้มีการระบุถึงภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลของ “ไทย” ในแง่มุมที่น่าสนใจ 5 ประเด็น ได้แก่

1.เศรษฐกิจดิจิทัลทะลุ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์

มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19% แบ่งตามหมวดหมู่เป็นดังนี้

  • มูลค่าสินค้ารวมภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19%
  • มูลค่าสินค้ารวมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32%
  • มูลค่าสินค้ารวมภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6%
  • มูลค่าสินค้ารวมภาคธุรกิจสื่อออนไลน์ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7%

จะเห็นว่าภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากความนิยมของวิดีโอคอมเมิรซ์ที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์การซื้อสินค้า แบบมีปฏิสัมพันธ์และคอนเทนต์ที่น่าติดตามของวิดีโอคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคสนใจ และนําไปสู่การซื้อของออนไลน์

ในขณะที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ก็เติบโตไม่แพ้กัน สะท้อนถึงสัญญาณเชิงบวกจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากผ่อนปรนข้อกำหนดของวีซ่า รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจาก 57 ประเทศ) โครงการวีซ่าสําหรับผู้ทำงานด้านดิจิทัล และโครงการขอวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival : VOA)

ADVERTISMENT

2.สินเชื่อดิจิทัลขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2573

  • การชำระเงินดิจิทัล – มูลค่าการทำธุรกรรมโดยรวม (Gross Transaction Value) 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 2.5-3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573
  • บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล – ยอดคงค้างสินเชื่อ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28% และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 5-6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573
  • ความมั่งคั่งทางดิจิทัล – มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ (Asset Under Management) 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573
  • ประกันดิจิทัล – เบี้ยประกันภัยรายปี (Annual Premium Equivalent) 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13% และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573

3.กรุงเทพฯ-ปริมณฑลครองแชมป์ต้องการ AI สูงที่สุด

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีความสนใจและความต้องการด้าน AI สูงที่สุด โดย 3 อุตสาหกรรมหลักที่ทำให้เกิดความสนใจในการค้นหาเกี่ยวกับ AI ได้แก่ การศึกษา เกม และการตลาด

4.ผู้บริโภคมีแนวโน้มหาข้อมูลแบบไม่เจาะจงแบรนด์

การสำรวจหมวดหมู่ (ปี 2566) – ไม่เจาะจงแบรนด์ (แบบกว้าง) 69% และเจาะจงแบรนด์ 31%

ADVERTISMENT

สัดส่วนการใช้ภาษาเพื่อค้นหาสินค้าในภาคธุรกิจต่าง ๆ

  • อีคอมเมิร์ซ – ไทย 79% อังกฤษ 19% และอื่น ๆ 2%
  • การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ – ไทย 72% อังกฤษ 25% และอื่น ๆ 4%
  • การท่องเที่ยวออนไลน์ – ไทย 63% อังกฤษ 29% และอื่น ๆ 7%
  • วิดีโอสตรีมมิ่ง – ไทย 79% อังกฤษ 20% และอื่น ๆ 1%
  • การเงินดิจิทัล – ไทย 70% อังกฤษ 25% และอื่น ๆ 5%

Top 5 ครีเอเตอร์ตามหมวดหมู่ผู้บริโภค ได้แก่ เกม อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่นและสไตล์ การท่องเที่ยว และภาพยนตร์

5.นักท่องเที่ยวชาวไทยเน้นใช้จ่ายในเอเชีย-แปซิฟิก

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาออกช่วงครึ่งปีแรก 2567 เติบโต 270% นับตั้งแต่ปี 2563 และเมื่อเจาะรายละเอียดการใช้จ่ายรายภูมิภาคจะพบว่าแต่ละภูมิภาคมีสัดส่วน ดังนี้

  • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 60%
  • เอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) 8%
  • อเมริกาเหนือ 24%
  • ยุโรป 7%
  • ตะวันออกกลาง 1%

ขณะที่หมวดหมู่รายจ่ายหลักในการเดินทางต่างประเทศแบ่งเป็นดังนี้

  • ช็อปปิ้ง 58%
  • อาหาร 17%
  • ที่พัก 13%
  • การดูแลสุขภาพ 3%
  • อื่น ๆ 9%

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุด้วยว่า การเปิดตัว “กลยุทธ์ 4 ปี” ของรัฐบาล ยังช่วยดึงดูดผู้นําด้านเทคโนโลยีระดับโลกและส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางข้อมูลและ AI โดยครอบคลุมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดขั้นตอนกระบวนการสมัคร และอํานวยความสะดวกในการอนุมัติใบอนุญาต เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสํานักงานภูมิภาคในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น