ไปรณีย์ไทยล้ำยุค เสริมทีม AI ใช้ “ควอนตัม คอมพิวติ้ง” วางแผนโลจิสติกส์

ไปรษณีย์ไทย เสริมทัพ ทีมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 5 ทีม เตรียมใช้ประโยชน์จาก ควอนตัม คอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ข้อมูลการขนส่งโลจิสติกส์ในประเทศ คาดการณ์-วางแผนอนาคตล่วงหน้า

เรียกได้ว่าล้ำไปอีกขั้น หลังบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีคนใหม่ “ตฤณ ทวิธารานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบริการดิจิทัล ซึ่งเข้ามาร่วมงานได้สองเดือนแล้ว ก็มีการจัดทัพจัดทีมเทคโนโลยีสำหรับปรับ “ปัญญาประดิษฐ์” มาใช้งานในองค์กร และการพัฒนาบริการดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ Connecting-the-Dots นำสิ่งที่ทุกคนต้องการเชื่อมโยงได้ด้วยทรัพยากรที่โดดเด่นของไปรษณีย์ไทย

“ตฤณ” กล่าวว่า ปณท ต้องการให้มีการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายในองค์กร อย่างน้อยต้องลดได้ 5% จึงได้มีการสำรวจแนวทางที่เป็นไปได้ในเบื้องต้นคือการนำการประมวลผลข้อมูลมาช่วยในการ Optimized ระบบขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง พลังงานที่ใช้ เวลา และกำลังคนที่ต้องจัด ตลอดจนการช่วยในระบบงานระบบเอกสาร ระบบรับส่งที่เดิมเคยใช้คนในการบันทึก

“สิ่งสำคัญคือ AI ต้องเข้ามาช่วยลีนระบบงานให้เร็วขึ้น ไม่ใช่มาเพิ่มระบบงาน หรือลดคนออกไป เพื่อให้คนมีเวลาไปทำงานที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น”

โดยมีการจัดสรรทีมเทคโนโลยี 5 ทีม เพื่อปรับใช้ AI ในองค์กรโดยเฉพาะ ทีมแรก เป็นทีม Optimized ข้อมูล เพื่อสนับสนุนระบบงาน เช่น การคำนวณเส้นทางขนส่งที่ดี เร็ว และประหยัดเชื้อเพลิง หรือการจัดการระวางขนส่ง ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และปริมาณของรถขนส่ง

ทีมที่สอง เป็นเรื่องการจัดหาเครื่องมือและทำระบบให้เป็นอัตโนมัติ เช่น การนำเครื่องมือ IOT อย่างกล้องและเครื่องวัดคำนวณขนาดน้ำหนักกล่อง โดยเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยทำให้สามารถจัดสรรการคำนวณพื้นที่ระวางในรถขนส่ง ช่วยให้การทำงานเป็นออโตเมชั่น ไม่เสียเวลาในการใช้มือวัดขนาดกล่องและกรอกข้อมูลเองยกระดับองค์กร ทำให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ADVERTISMENT

“การนำเอไอมาใช้งาน เพื่อลีนระบบงานไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก ไม่ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอขึ้นมา เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการคลาวด์-เอไอ มีมาตรฐานทางจริยธรรมและมาตรการด้านความปลอดภัยที่ดี แต่ในงานบางส่วนอาจต้องมีการลงทุนใช้เครื่องมือ”

“อย่างเช่นในงานของทีมที่สอง ที่ต้องทำให้ระบบรับพัสดุเป็นออโตเมชั่น ต้องมีเครื่องอ่านกล่อง ประกอบด้วยกล้องและตัวชั่งน้ำหนัก สำหรับตัวชั่งน้ำหนัก ปณท มีอยู่แล้ว แต่กล้องที่ใช้อ่านเอกสารนั้นต้องมีการซื้อเพิ่ม”

ADVERTISMENT

“อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลปริมาณพัสุด เราสามารถเริ่มใช้เครื่องมือเหล่านี้กับพื้นที่บางแห่งได้ หรืออาจเริ่มด้วยบริการแบบ B2B ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง เช่น การสแกนระเบียนวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเขาอาจจะนำไปเชื่อมโยงกับบริษัท หรือแหล่งจ้างงานอื่น ๆ ที่ต่อไปเวลาคนมาสมัครงาน ก็จะสามารถขอเรซูเม่ หรือเอกสารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้ทันที โดยมี ปณท เป็นตัวกลางให้ผ่านบริการดิจิทัลอื่นของ ปณท”

ทีมที่สาม คือ ทีมวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเครื่องมือเอไอสามารถหาอินไซต์ แล้วนำข้อมูลมาสร้างมูลค่า วิเคราะห์พฤติกรรมการส่งของของลูกค้าและนำมาสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เฉพาะกลุ่ม

ทีมที่สี่ คือ การนำ AI ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาทำแผนธุรกิจทำให้มีสินค้าและบริการเกิดใหม่ และทีมสุดท้าย คือ Post Next เป็นผู้การพัฒนาระบบและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว เช่น Prompt POST-Postbox

ควอนตัม คอมพิวติ้ง วิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ไทย

ก่อนหน้านี้ “ตฤณ” มีประสบการณ์ทำงานด้านศูนย์คาดการณ์อนาคต Foresight Center สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และยังเป็นอาจารย์พิเศษที่บรรยายในด้านการวิเคราะห์ประมวลผลด้านอนาคตศาสตร์ จึงเห็นว่าเทคโนโลยีที่ตอนนี้ ปณท จะสามารถใช้ประโยชน์ได้เร็วกว่าใคร คือ “ควอนตัม คอมพิวติ้ง”

ด้วยความที่ข้อมูลด้านโลจิสติกส์มีความซับซ้อนสูงและมีปริมาณมหาศาล สามารถนำพลังคำนวนแบบควอนตัม ที่มีให้บริการในสถาบันคอมพิวเตอร์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกให้บริการอยู่แล้ว โดยทั่วไปใช้กันในฝั่งโทรคมนาคม พลังงาน และโลจิสติกส์ ซึ่งในบริบทประเทศไทยมีข้อมูลมากพอ

“ตฤณ” กล่าวด้วยว่า ปณท ได้เริ่มนำกำลังการประมวลผลของ “ควอนตัม คอมพิวเตอร์” มาช่วย จะทำให้ ปณท เป็นหนึ่งในองค์กรที่สามารถวิเคราะห์คาดการณ์ วางเส้นทาง กำลังคน และบริหารต้นทุนล่วงหน้าได้แล้ว และนับได้ว่าเป็นรายแรก ๆ ในไทยที่เริ่มใช้งาน

ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับ “ควอนตัม คอมพิวติ้ง” ในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์นั้น แม้จะอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังไม่แพร่หลาย แต่ในเบื้องต้นเริ่มมีการนำมาใช้แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์บ้างแล้ว เนื่องจากคอมพิวเตอร์ดิจิทัลแบบดั้งเดิม ไม่สามารถกำหนดตัวแปรที่ซับซ้อน และวิเคราะห์ได้ทันท่วงที

การประมวลผลแบบควอนตัมมีศักยภาพที่จะปฏิวัติระบบโลจิสติกส์ด้วยการแก้ไขปัญหาการเพิ่มประสิทธิภาพที่ซับซ้อน ซึ่งคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมมักประสบปัญหาอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่การคาดการณ์และวางแผนด้านห่วงโซ่อุปทายโลจิสติกส์หลายด้าน เช่น

การเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทาง : อัลกอริทึมควอนตัมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทางการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษ ซึ่งมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการจัดส่งในปลายทาง ซึ่งต้องพิจารณาตัวแปรต่าง ๆ มากมาย

การจัดการห่วงโซ่อุปทาน : การประมวลผลแบบควอนตัมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อุปทานได้ด้วยการคาดการณ์อุปสงค์ที่แม่นยำยิ่งขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพระดับสินค้าคงคลัง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า

การจัดการการหยุดชะงักของบริการ : การวิเคราะห์ด้วยควอนตัมสามารถจำลองสถานการณ์การหยุดชะงักต่าง ๆ และวัดผลกระทบที่มีต่อเครือข่ายโลจิสติกส์ได้ “แม่นตรง” และครอบคลุมกว่าดิจิทัลคอมพิวเตอร์ จะช่วยในการตัดสินใจวางแผนรองรับ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินงานและการบริการลูกค้าให้เหลือน้อยที่สุด

การจัดการพาหนะขนส่ง : การประมวลผลแบบควอนตัมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพตารางการบำรุงรักษาฟลีต ขนส่งและบรรทุกสินค้า ทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรจะถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่าเทคโนโลยี ควอนตัม คอมพิวเตอร์ ทั่วโลกยังอยู่อยู่ในช่วงเริ่มต้น และกำลังพัฒนาให้มีความแม่นตรงและควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ได้