ปิดฉากสัมปทานฮัลโหลบ้านทรู TOT รับช่วง29ต.ค.ของบฯ อัพเกรดหมื่นล้าน


“ทีโอที” พร้อมดูแลลูกค้าเบอร์บ้าน “ทรู” 9 แสนราย หลังสัมปทานสิ้นสุด 29 ต.ค. นี้ ยืนยันใช้เบอร์เดิมได้ต่อเนื่อง แต่จ่ายเงินที่ทรูช็อปไม่ได้ แล้ว แจง 25 ปีได้ส่วนแบ่ง 41,000 ล้านบาท จาก 2.39 แสนล้าน แถมข้อพิพาท 14 คดี มูลค่าฟ้อง 3.3 หมื่นล้าน เตรียมของบฯ กสทช. ปีละ 3 พันล้าน อัพเกรดโครงข่ายรับนโยบายเพิ่มเบอร์บ้านเป็น 10 หลักภายในปีཻ

นายอนุรุต อุทัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ได้เตรียมระบบและทีมงานเพื่อดูแลทรัพย์สินและลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานให้บริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวงระหว่างทีโอทีกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในวันที่ 29 ต.ค. 2560 เพื่อให้ลูกค้าที่เหลือ 9 แสนราย ใช้งานได้ต่อเนื่อง รวมถึงออกแพ็กเกจพิเศษให้ด้วย

“ลูกค้ายังใช้เบอร์เดิมได้ ไม่ต้องทำสัญญาใหม่ บิลต่าง ๆ ก็เหมือนเดิม เพียงแต่จ่ายค่าบริการที่ทรูช็อปไม่ได้แล้ว แต่สามารถชำระได้ที่ศูนย์บริการของทีโอทีที่มีอยู่ 400 แห่งทั่วประเทศ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มี 100 แห่ง และยังมีช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส อีเพย์เมนต์ต่าง ๆ ได้”

ส่วนการรับมอบทรัพย์สินได้ตั้งคณะทำงานตรวจนับและตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตามเงื่อนไข คาดว่าจะใช้เวลารับโอนทั้งหมด 4 เดือน ทั้งยังเตรียมลงทุนอัพเกรดโครงข่ายใหม่ให้เป็นไฟเบอร์ออปติกด้วยเทคโนโลยี IP phone เพื่อให้บริการลูกค้าใช้งานได้ทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ให้เสร็จภายในปี 2564 ก่อนที่ชุมสายเดิมจะหมดสภาพใช้งานในปี 2568

สำหรับทรัพย์สินที่รับโอนมีมูลค่าราว 86,000 ล้านบาท ตลอด 25 ปีมีรายได้จากสัมปทานทั้งหมด 239,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งรายได้ของทีโอที 41,000 ล้านบาท หรือ 16% ตามสัญญา ที่เหลือเป็นของทรู โดยเคยมีลูกค้าสูงสุด 1.9 ล้านเลขหมาย ไม่ถึงที่อนุมัติไว้ 2.6 ล้านเลขหมาย

“รายได้ฟิกซ์ไลน์ทีโอที รวมลูกค้าทีโอที 2.3 ล้านราย บมจ.ทีทีแอนด์ที 3 แสน อยู่ราว 8,000 ล้านบาทต่อปี จากรายได้รวม 30,800 ล้านบาท อนาคตจะให้บริการคู่บรอดแบนด์และคอนเวอร์เจนซ์กับมือถือ ซึ่งทีโอทีมีคลื่น 2300 และ 2100 MHz อยู่”

ขณะเดียวกันทีโอทียังเตรียมทำแผนการลงทุนอัพเกรดโครงข่ายและระบบเพื่อรองรับแผนที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจาก 9 หลักในปัจจุบันให้เป็น 10 หลัก เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พิจารณา โดยยื่นแผนขอรับเงินสนับสนุนปีละ 3,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดเกือบ 10,000 ล้านบาท ทั้งต้องขยับแผนอัพเกรดให้เสร็จเร็วขึ้นตามที่ กสทช. กำหนดคือ มิ.ย. 2563″

นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมาย บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทจากสัมปทานนี้อยู่ในอนุญาโตตุลาการและชั้นศาล รวม 14 คดี แบ่งเป็นกรณีทีโอทียื่นฟ้องทรูฯ 10 คดี รวมมูลค่าพิพาท 23,000 ล้านบาท ทรูยื่นฟ้องทีโอที 4 คดี มูลค่า 10,000 ล้านบาท