“กทปส.” ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ 6 หมื่นล้าน ภารกิจหนุน R&D ไทย

สัมภาษณ์

กทปส. หรือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้ กสทช. เป็นหนึ่งในกองทุนที่มีเงินถุงเงินถัง ด้วยเงินสมทบจากราว 2 – 2.5 % ของรายได้ผู้รับไลเซนส์จาก กสทช. ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมระดับแสนล้านรายรับสะสม ณ มิ.ย. 2560 อยู่ที่ 61,134 ล้านบาท “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับรักษาการผู้จัดการกองทุน กทปส. “นิพนธ์ จงวิชิต”

Q : กองทุนมีเงินเยอะมาก

จริง ๆ เงินก้อนใหญ่ล็อกไว้กับโครงการ USO ของ กสทช. ที่ต้องเดินตามแผนที่วางไว้และเป็นภารกิจหลัก อย่างปี 2556 – 2559 อยู่ 13,653 ล้านบาท และที่ต้องคืนกระทรวงการคลังหลังจบโครงการแจกคูปองทีวีดิจิทัลอีก เบ็ดเสร็จมีเงินเหลือที่ไม่มีภาระผูกพัน 19,236 ล้านบาท

Q : ให้ทุนแต่ละปีไม่เยอะ

มีคนขอทุนเข้ามาเยอะจริง แต่ที่ผ่านการกลั่นกรองมีน้อย ไม่ถึงกรอบงบฯที่ตั้งไว้ แม้จะเปิดให้ขอทุนได้หมดถ้าตรงตามวัตถุประสงค์กองทุน คือจะเป็นโครงการวิจัยพัฒนาฝั่งโทรคมนาคม บรอดแคสต์ การสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อ พัฒนาบุคลากร คุ้มครองผู้บริโภค แต่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองจะดูว่ามันต้องเจ๋งจริง ๆ ถึงจะให้ และการตั้งงบประมาณแต่ละโครงการก็ต้องเมกเซนส์ ไม่ใช่ตั้งงบฯ บุคลากรไว้มากถึง 50% เพราะกองทุนก็ต้องตอบคำถาม สตง.ได้

Q : สัดส่วนการให้ทุน

50% เป็นโครงการวิจัยพัฒนา 30% เป็นโครงการบริการทั่วถึง โครงการด้านคุ้มครองผู้บริโภคหรือพัฒนาคนราว 10-15% ส่วนงานวิจัยที่ให้ทุนมี 3 ประเภท คือ 1.งานวิจัยพื้นฐาน หาความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น 2.แอปพลายรีเสิร์ช คือเห็นปัญหาในปัจจุบัน อยากจะเข้าไปแก้ไขตามโจทย์ที่ตั้งไว้ 3.ดีเวลอปเมนต์รีเสิร์ช นำความคิดความรู้ใหม่อยู่แล้วจากงานวิจัย 2 ประเภทก่อนมาพัฒนาเป็นโปรดักต์ใหม่เป็นสิทธิบัตรที่ผ่านมาจะมีที่เป็นเบสิกรีเสิร์ชไม่ถึง 10% ที่เหลือเป็นแอปพลายกับดีเวลอปเมนต์รีเสิร์ช

Q : มีจดสิทธิบัตรแล้ว

โครงการสายอากาศแถบความถี่กว้างที่มีอัตราการขยายสูง สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดินที่ห่างไกลจากสถานีส่งสัญญาณ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่จะทำให้รับชมทีวีดิจิทัลได้ดีในพื้นที่ชนบทโดยไม่ต้องตั้งเสาสูง ๆ ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเครื่องมือแพทย์สำหรับการกายภาพ โดยใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมในการส่งสัญญาณ

การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Q : มีที่ไม่ประสบความสำเร็จไหม

ก็มี แต่ก็ได้ทดลองพิสูจน์ทฤษฎีที่ตั้งไว้ว่ามันเวิร์กไหม เป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเราจะมีคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล มีผู้อำนวยเนคเทคเป็นประธาน คอยตรวจงานว่าเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ หรือกรณีที่พิสูจน์ทฤษฎีแล้วไม่เป็นไปอย่างที่คาด แต่จะขอทุนต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงใหม่ คณะอนุกรรมการก็จะเป็นผู้พิจารณาว่า ควรให้ทุนต่อหรือไม่

ส่วนที่ไม่เวิร์กโดยสิ้นเชิงก็มีอยู่โครงการหนึ่ง คือเป็นการมองกันคนละแง่ กองทุนตีความว่าต้นแบบมันต้องเป็นสเป็กที่ดีกว่านี้ แต่ทางเจ้าของโครงการมองว่าที่ผลิตมาก็ตรงตามเงื่อนไขแล้ว ก็ตกลงกันว่าไม่ให้เงินสนับสนุนต่อ

Q : ขอบเขตที่อยากให้วิจัยเพิ่ม

ตามแผนระยะ 5 ปีของกองทุนคือเรื่อง IoT (อินเทอร์เน็ตออฟธิงก์) ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความไม่ปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต และที่สนับสนุนนโยบาย 4.0 โดยเฉพาะ Smart Agriculture ซึ่งตอนนี้เรื่องพวกนี้ยังมีคนทำน้อย เพราะอย่างฟินเทคมีกลไกตลาดทำอยู่เยอะ

Q : เนคเทค-ดีแทคก็ทำ

ยังลงไม่ลึกและเยอะพอ ไม่ใช่แค่ใช้ IoT วัดค่าสิ่งแวดล้อมเท่านั้น โจทย์คือให้สมาร์ทฟาร์มเมอร์ไปไกลกว่านั้น เรามีทุนประเภทที่ 1 ที่จะเปิดให้ผู้ขอรับทุนส่งโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนมาให้พิจารณาได้ ปีนี้ตั้งงบฯ ส่วนนี้ไว้ 300 ล้านบาท เปิดรับข้อเสนอราว พ.ย.นี้ และเปิดให้ SMEs กับสตาร์ตอัพเสนอไอเดียได้ด้วย รวมถึงทุนประเภทที่ 2 ที่บอร์ดกองทุนจะเป็น

ผู้กำหนดหัวข้อที่มีปีนี้เตรียมงบฯไว้ 670 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดกำลังกำหนดหัวข้อตามนโยบายของ กสทช.

แต่ไม่รวมในส่วนของทุนต่อเนื่องอีก 30 ล้านบาทที่ขอได้เฉพาะกลุ่มที่เคยได้รับทุนแล้วผลงานดี กับที่ต้องให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.อีก 500 ล้านบาท

รวมแล้วทั้งปี 2561 จะมีกรอบวงเงินสำหรับให้ทุนทั้งหมด 1,500 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2556 ที่ให้ทุน 10 โครงการ รวม 32.53 ล้านบาท ปี 2557 อนุมัติ 33 โครงการ รวม 155.71 ล้านบาท ปี 2558 อนุมัติ 32 โครงการ 248 ล้านบาท

Q : สิทธิบัตรเป็นของกองทุน ไม่ดึงดูด

ส่วนใหญ่ที่มาขอทุน เป็นส่วนราชการและมหาวิทยาลัย วิจัยเพราะอยากทำ อยากพิสูจน์ไอเดีย ไม่ได้มองเชิงธุรกิจจึงทำให้งานวิจัยขึ้นหิ้งไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงแต่เมื่อปีนี้เราเปิดให้สตาร์ตอัพ

SMEs ขอทุนไปวิจัยสร้างชิ้นงานได้ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องมาคิดกัน ตอนนี้บอร์ด กทปส. อนุมัติให้มีตั้งคณะกรรมการบริหารสิทธิบัตรบริหารทรัพย์สินทางปัญญาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เพราะถ้ากำหนดให้สิทธิบัตรงานวิจัยเป็นของกองทุน กลุ่มสตาร์ตอัพเขาไม่มาแน่ จากนี้จะต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกที เพราะจะให้สิทธิ์เอกชนไปทั้งหมดเดี๋ยวก็มีปัญหากับ สตง.อีก

Q : เงินจะรั่วไหล

หลักคือต้องตรงวัตถุประสงค์กองทุน ถ้าไม่เข้าก็จบ ก่อนนี้มีหน่วยงานรัฐขอทุนจัดซื้อฮาร์ดแวร์ บอกเป็นโครงการวิจัยพัฒนา ก็ปฏิเสธไปเยอะ เพราะกรรมการกองทุนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เขาไม่ตามใจหรอก มั่นใจได้ว่าเงินไม่รั่วไหลผิดวัตถุประสงค์ อย่างที่กระทรวงการคลังขอยืม 1.43 หมื่นล้านได้ เพราะมีวัตถุประสงค์เปิดไว้ แต่ พ.ร.บ. ใหม่ไม่ได้ระบุแล้ว ดังนั้น


เงินกองทุนต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนด