“ไลน์แมน-วงใน” อัพสปีด POS-Payment เติมแขนขาอีโคซิสเต็ม

yod
ยอด ชินสุภัคกุล

ย้อนกลับไปในปี 2566 “ไลน์แมน-วงใน” (LINE MAN Wongnai) มีมูฟเมนต์ใหญ่ ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการของ FoodStory สตาร์ตอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS (Point of Sale) เพื่อขยายธุรกิจไปยังการพัฒนาโซลูชั่นสำหรับร้านค้า (Merchant Solutions) รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการของ Rabbit LINE Pay ระบบชำระเงินออนไลน์ และออฟไลน์ จากผู้ถือหุ้นเดิม อย่างบริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด (mPAY) มาบริหารเองทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อบริการใหม่เป็น “LINE Pay”

แต่ละจังหวะก้าวทำให้ LINE MAN Wongnai มีอีโคซิสเต็มครอบคลุมพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ภายในปี 2568 ตามแผนที่วางไว้

เจาะธุรกิจไลน์แมน-วงใน

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ฉายภาพให้เห็นภาพรวมของธุรกิจปัจจุบันของ LINE MAN Wongnai ว่ามีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.On-Demand Services คือแอปพลิเคชั่น LINE MAN ที่มีบริการทั้งฟู้ดดีลิเวอรี่, มาร์ต (Mart), เมสเซนเจอร์ (Messenger) และการเรียกรถรับส่ง (Ride) มีผู้ใช้ต่อเดือน 10 ล้านคน มีพาร์ตเนอร์ร้านค้า 5 แสนร้าน และจำนวนไรเดอร์ในระบบกว่า 1 แสนคน

2.Merchant Digital Solutions ระบบจัดการร้านค้า และ POS ที่มีผู้ใช้ 5.5 หมื่นร้าน และ 3.Payment & Financial Services ผ่าน LINE Pay เป็นระบบเพย์เมนต์ และอีวอลเลตที่มีผู้ใช้ลงทะเบียนกว่า 9 ล้านคน ล่าสุดมีการพัฒนาเครื่องรับชำระเงิน (EDC) ที่เชื่อมกับระบบ POS รองรับการจ่ายเงิน ทั้งการสแกน QR Code และบัตรต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าต่างชาติ และสร้างรายได้มากขึ้น

“เครื่อง EDC เริ่มใช้เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยให้อีโคซิสเต็มของบริษัทแข็งแรงขึ้น เพราะมีทั้งจุดจ่ายเงินออนไลน์ และออฟไลน์ สำหรับธุรกิจเพย์เมนต์ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างการเติบโตและขยายจุดการให้บริการในอนาคต”

มุมมองต่อตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่

ข้อมูลจากรายงาน SEA e-Conomy 2024 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า มูลค่าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ในประเทศไทยปี 2567 จะอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 7% ขณะที่ LINE MAN มีมูลค่าการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มตั้งแต่ ม.ค. 2566-2567 โต 35% ถือว่าโตกว่าตลาดค่อนข้างมาก

ADVERTISMENT

“ปี 2567 เป็นปีแห่งความจริงของธุรกิจดีลิเวอรี่ เพราะหน้าตาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยมีอยู่ 5-6 ราย ตอนนี้เหลืออยู่ 2-3 ราย สะท้อนว่าเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัย Economy of Scale สูง ผู้เล่นแต่ละรายก็ต้องปรับวิธีการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

สำหรับในปี 2568 “ยอด” มองว่า ภาพของธุรกิจดีลิเวอรี่จะยิ่งชัดจากปี 2567 ทั้งมีโอกาสเติบโตจากกลุ่มผู้ใช้ใหม่ หรือคนที่ยังไม่เคยใช้บริการก่อน เพราะอัตราการใช้บริการ (Penetration Rate) ในปัจจุบันยังไม่สูงมาก เช่น กลุ่มนักศึกษาที่สั่งอาหารมาทานเวลาสอบ พอเรียนจบก็ยังใช้บริการอยู่ หรือกลุ่มผู้ใหญ่ก็เปิดใจใช้บริการมากขึ้น

ADVERTISMENT

“พฤติกรรมของคนที่ใช้บริการดีลิเวอรี่ เมื่อเริ่มใช้แล้วจะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยเลิกใช้บริการ ทำให้ตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

สแกนตลาดกรุงเทพฯ-ตจว.

ปัจจุบัน LINE MAN ให้บริการใน 77 ทั่วประเทศไทย ครอบคลุม 328 อำเภอ ซึ่ง “ซีอีโอ” LINE MAN Wongnai อธิบายพฤติกรรม และการให้บริการในต่างจังหวัดว่า ในต่างจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีนักเรียน-นักศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเชียงใหม่ ขอนแก่น และมหาสารคาม บางเดือนยอดการทำธุรกรรมจึงน้อยกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงปิดเทอม

ส่วนพฤติกรรมในการสั่งอาหารจะสั่งไม่เยอะ แต่สั่งบ่อย เน้นทานหมดในมื้อเดียว ต่างจากผู้ใช้ในกรุงเทพฯ หรือย่านธุรกิจ (Central Business District : CBD) ที่มักสั่งปริมาณเยอะ ๆ ในออร์เดอร์เดียว และมีการแชร์กันในกลุ่ม ทำให้การทำการตลาดหรือแคมเปญต่าง ๆ จะต้องล้อไปกับพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น ลดเพิ่มเมื่อสั่งครบตามจำนวนครั้ง หรือแจกโค้ดส่วนลดเมื่อซื้อตามยอดที่กำหนด เป็นต้น

“ยอดการใช้จ่ายต่อบิล หรือที่เรียกว่า Basket Size ของผู้ใช้ในต่างจังหวัด และกรุงเทพฯ เมื่อเทียบเมืองที่มียอดบิลต่ำสุดกับมากสุดอย่างในย่าน CBD จะมีความแตกต่างกันประมาณ 2 เท่า มีปัจจัยมาจากค่าครองชีพที่แตกต่างกัน”

แผนการพัฒนาฟีเจอร์

ขณะเดียวกัน LINE MAN ยังมีการพัฒนาฟีเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น มีตัวเลือกการจัดส่ง ทั้งหมด 3 ตัวเลือก ได้แก่ 1.Direct-to-You (ส่งตรงทันใจ) 2.Normal (ส่งปกติ) และ 3.Low-cost (ส่งถูก) โดย 25% ของออร์เดอร์เลือกการจัดส่งแบบ Direct-to-You หรือ Low-cost

อีกทั้งมีฟีเจอร์ Multiple Pick-up หรือการแวะรับสินค้าจากร้านอื่นมาจัดส่งพร้อมกัน โดย 50% ของผู้ใช้เคยใช้ฟีเจอร์สั่งร้านที่ 2 ระหว่างทาง และฟีเจอร์เกี่ยวกับการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างการไม่รับเครื่องปรุงที่ลดการรับเครื่องปรุงโดยไม่จำเป็นไปกว่า 20 ล้านชิ้น ภายใน 2 เดือน

“LINE MAN พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นฟีเจอร์ที่อยู่เบื้องหลังการจัดการด้านต่าง ๆ ประมาณ 70% เช่น การแจ้งเตือนให้ไรเดอร์ไปรับอาหารที่ร้านในเวลาที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำรอบมากขึ้น อีก 30% เป็นฟีเจอร์ที่ปรากฏบนหน้าแอป เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็มีการเปิดตัว LINE MAN Mini App บน WeChat เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน”

ย้ำจุดยืน “ถูกสุดทุกวัน”

ซีอีโอ LINE MAN Wongnai ย้ำด้วยว่า กลยุทธ์ในการรักษาการเติบโตของ LINE MAN คือการรักษาจุดแข็งในเรื่องของอีโคซิสเต็ม สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และจุดยืนของแบรนด์อย่างแคมเปญ “ถูกสุดทุกวัน” ที่สร้างความคุ้มค่าทั้งเรื่องค่าส่งและค่าอาหาร เป็นจุดขายสำคัญที่จับใจผู้บริโภคชาวไทย

“ในแง่ของการทำงาน เราต้อง Stay Hungry and Very Aggressive เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ และสู้อย่างเต็มที่ เพราะตลาดยังมีการแข่งขันอยู่ แม้จะเหลือผู้ให้บริการอยู่ไม่กี่รายก็ตาม”

‘เชียงใหม่’ Top 3 ฟู้ดดีลิเวอรี่

นอกจาก “เชียงใหม่” จะเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่โกยเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศไทยด้วย “การท่องเที่ยว” มานานแล้ว ยังเป็นเมืองที่น่าจับตาเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่อยู่ไม่น้อย

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า เชียงใหม่เป็น Top 3 ของจังหวัดที่มีการสั่งอาหารบน LINE MAN มากที่สุด และมีจำนวน Active Rider กว่า 4,100 คนต่อปี ถือเป็นเมืองศักยภาพที่มีการเติบโตเป็นอันดับหนึ่ง

“เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีร้านอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลที่เรามีพบว่ามีอยู่กว่า 7.6 หมื่นร้าน โดย Top 3 ของอำเภอที่มีร้านอาหารอยู่มากที่สุดคือ เมืองเชียงใหม่ สันทราย และสันกำแพง”

อินไซต์น่าสนใจเกี่ยวกับการสั่งอาหารบน LINE MAN ใน จ.เชียงใหม่ ดังนี้

  • เมนูที่คนเชียงใหม่สั่งมากที่สุด ได้แก่ ส้มตำปูปลาร้า อเมริกาโน่ ชาไทย ข้าวมันไก่ และขนมจีนน้ำเงี้ยว
  • เมนูมาแรงที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ ชาไทย บะหมี่ไก่ฉีก ข้าวขาหมู หมาล่า และข้าวมันไก่
  • เมนูอาหารเหนือที่ถูกค้นหามากที่สุด ได้แก่ ขนมจีน ลาบคั่ว และข้าวซอย
  • เมนูขายดีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนสั่งมากที่สุดเมื่อมาเที่ยวเชียงใหม่ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว กะเพรา และหมาล่า

ล่าสุด LINE MAN Wongnai ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเทศกาลอาหารแห่งปี “LINE MAN Wongnai x ททท. ฟู้ดเฟสติเว่อร์ เรื่องกิน เล่นใหญ่เว่อร์” วันที่ 11-15 ธ.ค. 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่

ในงานมีบูทร้านอาหารทั่วประเทศกว่า 70 ร้าน ทั้งร้านดังในเชียงใหม่ เช่น สุกี้ช้างเผือก, โรตีป้าเด, ปาท่องโก๋ โกเหน่ง, ซ้วง บัวลอยช้างเผือก, ทับทิมกรอบเจ๊อ้วน เชียงใหม่ และร้านดังจากภาคอื่น ๆ เช่น เจ๊แดงสามย่าน, เนื้อแคมป์ไฟ, ถ้วยถังไอติม, อาม่งหม่าล่า, เปลว นครปฐม ก๋วยเตี๋ยวต้มยำโบราณ, หยกสด ขนมไทยใบเตย, Charlee and Friends และ Tiengna Coffee and Bakery Farm เป็นต้น

ร้านที่มาร่วมออกบูทจะได้ลองใช้ระบบ POS และการชำระเงินของ LINE MAN Wongnai รวมถึงยังมีบริการสั่งดีลิเวอรี่ผ่าน LINE MAN สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกมาร่วมงานด้วย

“จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงมุ่งผลักดันให้เป็นเมืองแห่งเทศกาล Chiang Mai Festival City โดยเฉพาะด้านอาหารท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ในฐานะ “ศูนย์กลางงานเทศกาลสร้างสรรค์”

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการนำศิลปะอาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ในการยกระดับการท่องเที่ยวของไทย ด้วยเทศกาลอาหารครั้งใหญ่แห่งปี ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงใหม่ให้กลับมาเป็นจุดหมายปลายทางที่แข็งแกร่งอีกครั้ง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 5 วันกว่า 65,000 คน เงินสะพัดกว่า 66 ล้านบาท”