“หัวเว่ย” แนบแน่นภาครัฐ ต่อยอดนวัตกรรมจุดพลุ 5G

ยังคงเดินหน้าสร้างสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องสำหรับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีแดนมังกร “หัวเว่ย เทคโนโลยี่” ล่าสุดจัดงานโชว์เคสนวัตกรรม Huawei Asia-Pacific Innovation Day 2018 พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เฟส 2 หนุนนวัตกรรม

2 ปี 5G ต้องมา หัวเว่ยช่วยหนุน

รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ร่วมฉายวิสัยทัศน์การก้าวไปสู่ยุค 4.0 โดยระบุว่า รัฐบาลลงทุนต่อเนื่องเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ภายในสิ้นปีนี้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ พร้อมเชื่อมต่อไปยังโรงเรียน อนามัย สาธารณสุข ทั้งจะเร่งเจรจากับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคนี้ ซึ่งดิจิทัลจะทำให้ก้าวข้าม GDP 4.8% ได้

“ที่เราคิดว่า 5G จะเกิดขึ้นได้ในอีก 5 ปี ช้าไป ประเทศจีนจะมี 5G ในปีหน้า เมื่อ 5G เกิด ทุกประเทศจะไปสู่ 5G ผลลัพธ์ภาคการผลิต ภาคบริการจะเกิดขึ้นรุนแรงมาก ประเทศไทยเราจะปักหมุดในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมี 5G ให้ได้ หารือกับ กสทช.และภาคเอกชนแล้ว โดยมีพันธมิตรเป็นผู้ช่วย เช่น หัวเว่ย”

โดยสิ่งที่อยากให้หัวเว่ยช่วยคือ การเปลี่ยนแปลงภาคชนบท และ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง เสริมสร้างด้านการศึกษา ซึ่งหัวเว่ยได้ลงทุน open platform ให้คนไทยได้ใช้ สานต่อนโยบายรัฐบาล “startup nation” รวมถึงลงทุน หัวเว่ย อะคาเดมี ในพื้นที่ EEC

“งบประมาณด้าน R&D ปีนี้จะเพิ่มขึ้น จาก 0.5 ต่อ GDP เป็น 0.78 ต่อ GDP และจะเพิ่มสูงกว่า 1% ให้ได้ เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าที่แท้จริง”

MOU พัฒนานวัตกรรม

ด้าน “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการ สนช. เปิดเผยว่า MOU ในเฟส 2 กับ “หัวเว่ย” มีระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 1.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับสูง (deep technology) 2.เสริมสร้างความร่วมมือและการสื่อสาร รวมทั้งขั้นตอนการวางแผนและพัฒนานวัตกรรม 3.สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและครบวงจร ต่อธุรกิจสตาร์อัพในไทย 4.ร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน พัฒนาบุคลากรผ่าน Huawei OpenLab และศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC 5.ช่วยให้การสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ นวัตกร เป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น 6.ช่วยปรับการวิจัยให้เป็นทฤษฎีทางไอซีทีใหม่ ๆ

“สัญญาฉบับใหม่นี้จะเปิดกว้างกว่าเดิม โดยจะครอบคลุมความร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่จำกัดแค่ในไทย นอกจากนี้จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึก เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยี 4.0 ซึ่งสิ่งสำคัญคือให้ผู้บริโภคและธุรกิจเห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี และนำไปปรับใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาคการเกษตร เฮลท์แคร์ และท่องเที่ยว”

ทุ่ม 81 ล้านเหรียญพัฒนา Lab

“โจ เคลลี่” รองประธานบริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า หัวเว่ยเตรียมงบฯลงทุน 81 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ Huawei OpenLab บ่มเพาะนักพัฒนาระบบคลาวด์ และสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที ในภูมิภาคอาเซียน โดย OpenLab ทั้งที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงเทพฯ จะใช้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาโซลูชั่นทางอุตสาหกรรมของท้องถิ่น ทั้งยังมีแผนลงทุนในสมาร์ทซิตี้กว่า 100 แห่งทั่วโลก

“เราไม่ได้เน้นการคืนทุนที่รวดเร็ว แต่มองระยะยาวในช่วง 3-5 ปี โดยเน้นการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นผลตอบแทนที่เป็นเม็ดเงินนั้นเป็นเรื่องรอง ในปีที่ผ่านมากรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าลงทุนอันดับ 1 ในเชิงธุรกิจสตาร์ตอัพของเอเชียและเป็นอันดับ 7 ของโลก”

เปิด Lab Smart Grid 

“กัว ผิง” ประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ เปิดเผยว่า ในเดือนหน้า หัวเว่ยจะร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิด lab สำหรับพัฒนา smart grid ที่จะช่วยพัฒนาระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการเข้าช่วยพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ในไทยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปิด OpenLab เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก มีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 800 ราย มีกลุ่มธุรกิจกว่า 200 รายที่ร่วมเเลกเปลี่ยนข้อมูล และมีพาร์ตเนอร์ที่ร่วมกันพัฒนาระบบกว่า 80 ราย และมีอีก 25 รายร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น ทั้งยังได้ยกตัวอย่างการสร้างเมืองอัจฉริยะ ที่หัวเว่ยเข้าไปมีส่วนร่วม อาทิ เมืองหยินตัน ในมณฑลเจียงซี ประเทศจีน ที่สร้างสมาร์ทซิตี้ด้านการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำขาดแคลนและไร้คุณภาพ โดยใช้ IOT กว่า 1 แสนตัว


ในการตรวจจับอุปกรณ์การส่งน้ำประปา เพื่อตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะเกิดปัญหาการรั่วของน้ำ รวมทั้งใช้วัดค่าการกรองน้ำ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้ช่วยลดการสูญเสียน้ำจาก 20% เหลือเพียง 11% หรือคิดเป็นมูลค่าน้ำ 2.5 ล้านตัน นอกจากนี้ยังช่วยให้ SMEs พัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ อีกกว่า 20 ชิ้น