NIA เดินหน้าปลุกลงทุน พา “สตาร์ตอัพ” ไทย Go Global

NIA
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง-ปริวรรต วงษ์สำราญ

ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นมา กระแสการลงทุน “สตาร์ตอัพ” จากนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ ดูจะคึกคักมากขึ้น แม้จะพิถีพิถันกับการเลือกลงเงินมากขึ้น แต่ก็เป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของสตาร์ตอัพรุ่นใหม่

สำหรับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ภายใต้การนำทัพของ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ยังคงบทบาทการเป็น “Focal Conductor” หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม สร้างการเติบโตให้กับสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการไทยภายใต้แนวคิด 4G คือ

1.Groom-การบ่มเพาะความรู้และสร้างเครือข่าย

2.Grant-การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า

3.Growth-การสร้างโอกาสขยายผลเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ

4.Global-การสร้างโอกาสต่อยอดสู่ระดับโลก

ADVERTISMENT

และในปี 2568 ยังมีอีกหลายสิ่งที่ NIA จะทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้าง “ยูนิคอร์น” (สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หน้าใหม่ให้กับประเทศต่อไป

ภาพรวมสตาร์ตอัพไทย

ดร.กริชผกากล่าวว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพประมาณ 2,100 ราย แบ่งเป็น ระยะ Preseed 700 ราย และระยะ Go-to Market หรือ Growth 1,400 ราย โดยอัตราการระดมทุนรอบ Seed เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2566 และมีการเติบโตสะสมตั้งแต่ปี 2564 เพิ่มขึ้น 3.3%

ADVERTISMENT

ส่วนผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัพโลกในปี 2566 โดยศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ตอัพ “StartupBlink” พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 54 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ถือว่าสตาร์ตอัพไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบนิเวศสตาร์ตอัพไทย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจนี้”

สตาร์ตอัพมาแรงปี 2568

สำหรับสตาร์ตอัพที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2568 ทั้งในไทยและต่างประเทศ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative AI) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง AI Agent ที่สามารถคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจได้เอง จะเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น การผลิต การแก้ปัญหางานบริการ และการลดการใช้ทรัพยากร

2.เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (GreenTech) หลายองค์กรให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ด้วยโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ตัวอย่างสตาร์ตอัพไทยในกลุ่มนี้ เช่น Carbonwize แพลตฟอร์มที่ช่วยองค์กรประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ และ AltoTech ที่นำ AI มาช่วยบริหารจัดการพลังงานในองค์กร”

3.เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นผู้นำในการดึงดูดการลงทุนเกี่ยวกับฟินเทค เห็นได้จากอัตราการระดมทุนในรอบ Seed ที่สูงถึง 26% ซึ่งสูงที่สุดในปี 2567 และเทคโนโลยีบล็อกเชนตามมาที่ 20%

“ในระบบพบว่ามีสตาร์ตอัพที่แอ็กทีฟอยู่ประมาณ 800 ราย โดย 300 ราย เป็นสตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทค สะท้อนว่าอุตสาหกรรมนี้โตมาตลอด และยังมีโอกาสโตยิ่งขึ้นในอนาคต”

พัฒนาย่านนวัตกรรม

ดร.กริชผกากล่าวต่อว่า หนึ่งในแผนงานสำคัญของปีนี้ที่จะช่วยให้ระบบนิเวศสตาร์ตอัพของไทยแข็งแรงขึ้น คือการพัฒนาย่านนวัตกรรม หรือพื้นที่ที่ให้สตาร์ตอัพได้เอานวัตกรรมมาทดลองใช้งานจริง ที่ผ่านมามีย่าน YMID (Yothi Medical Innovation District) และสวนดอกที่ทำเรื่องการแพทย์ ย่านอารีย์ที่ทำเรื่อง AI & Robotics และย่านที่ทำกับ True Digital Park จะเป็นเรื่อง Cyber Tech

“ตอนนี้อยู่ในช่วงพูดคุยกับหลายภาคส่วนเพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การนิคมอุตสาหกรรม เพื่อทำย่านนวัตกรรมสีเขียว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันสตาร์ตอัพสายพลังงาน อย่างสายการแพทย์ก็มีแผนที่จะทำ Med Park ขยายไปยังโซนศิริราชและจุฬาฯ ให้ครอบคลุมความหลากหลายของกลุ่มผู้ป่วย หรือสายครีเอทีฟก็มีเล็งพื้นที่โซนจตุจักรไว้”

ด้าน นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม เสริมว่า ปีนี้ NIA ยังมีแผนเรื่องการเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัพเข้าสู่ระบบ ตั้งเป้าไว้ที่ 200-400 ราย โดยสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นำงานวิจัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดเป็นสตาร์ตอัพสาย Deep Tech ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว และยังเป็นกลุ่มสตาร์ตอัพที่สามารถระดมทุนได้มากกว่ากลุ่มปกติ 10-15 เท่า

“นอกจากเพิ่มกลุ่มใหม่เข้ามา การทำให้กลุ่มเดิมเติบโตขึ้น ถ้าสตาร์ตอัพสามารถเติบโตจากซีรีส์ A ไป B ได้จะสบายมาก ๆ ซึ่ง NIA จะผลักดันทั้งเรื่องโปรแกรมสร้างการเติบโต การให้ทุน และการหาตลาดที่ใช่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างยูนิคอร์นไทยตัวใหม่ 1-2 ตัว ในช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งกลุ่มที่มีแววมาก ๆ คือกรีนกับฟินเทค”

พาสตาร์ตอัพ Go Global

ดร.กริชผกากล่าวด้วยว่า อีกส่วนที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างการเติบโตให้กับสตาร์ตอัพไทย คือการพาไปหาตลาดใหม่ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ที่ผ่านมา NIA มีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศมากมาย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จนทำให้มีสตาร์ตอัพหลายรายไปบุกเบิกตลาดใหม่ได้สำเร็จ

ตัวอย่างเช่น Tasted Better แป้งเสริมอาหารน้ำตาลต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ลองขยายตลาดไปเกาหลีใต้ได้แล้วประมาณ 3-4 เดือน และ BOTNOI วอยซ์บอตสำหรับการประมวลผลต่าง ๆ ที่เติบโตมากในประเทศออสเตรีย ซึ่งสถานทูตไทยของที่นั่นก็มีการใช้งานอยู่เช่นกัน

“เรื่องของการขยายตลาดไปต่างประเทศจะเห็นว่าในยุโรปกับเอเชียทำได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกายังเป็นไปได้ยาก เพราะไกลและในตลาดเดิมของเขามีสตาร์ตอัพหลากหลายอุตสาหกรรมอยู่แล้ว”

พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ

ดร.กริชผกาทิ้งท้ายเกี่ยวกับความคืบหน้า “พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ” ที่เป็นหนึ่งในภารกิจใหญ่ของหน่วยงานว่า ในภาพรวมยังเป็นไปตามแผน และกำลังอยู่ในช่วงของการตรวจสอบรายมาตราจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ทันเข้าพิจารณาในสภาปีนี้

“ประโยชน์ของ พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ จะช่วยให้สตาร์ตอัพได้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เพราะมีการขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลที่ชัดเจน และมีเงินก้อนสำหรับส่งเสริมสตาร์ตอัพโดยเฉพาะ นอกเหนือจากงบประมาณที่ NIA ลงทุนกับสตาร์ตอัพอยู่แล้วปีละ 600-700 ล้านบาท”

และเมื่อถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้รายละเอียดใน พ.ร.ฎ.การจัดตั้งสำนักงาน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดการให้ทุนแบบเดิม โดย NIA จะสามารถให้ทุนแบบ VC และมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานมีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนสตาร์ตอัพมากขึ้น รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสตาร์ตอัพว่าจะมีภาครัฐคอยสนับสนุนอีกทาง

ผู้อำนวยการ NIA บอกว่า ขั้นตอนการแก้กฎหมายเสร็จสิ้นเรียบร้อย กำลังจะเข้าสู่การตรวจสอบของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เพื่อปรับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน