
ทำความรู้จัก กฎ Must Carry กฎกำกับแพลตฟอร์มโทรทัศน์ ออกอากาศฟรีทีวีอย่างเท่าเทียม ทำไมถึงกลายเป็นเหตุข้อพิพาททำให้ กสทช.พิรงรองถูกฟ้อง ?
กลายเป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาคดี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ฟ้องร้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดยศาลตัดสินให้ กสทช.พิรงรองมีเจตนาใช้อำนาจกลั่นแกล้ง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เสียหาย ซึ่งผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนจะได้รับการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่ง กสทช.
ประเด็นคดีนี้ ไม่เพียงเป็นการฟ้องข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่เท่านั้น แต่สังคมยังจับตาถึงคำพิพากษา และการถูกฟ้องของผู้ที่ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ กสทช.พิรงรองตักเตือนจนกลายเป็นข้อพิพาทฟ้องร้องครั้งนี้
ย้อนข้อพิพาท ‘กสทช.พิรงรอง-ทรูไอดี’
คดีนี้สืบเนื่องจากการที่ กสทช.ออกหนังสือเตือนผู้ได้รับการอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียง ให้ระวังการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดรายการตามกฎ Must Carry ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม TrueID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT (แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ) ที่ยังไม่ได้อยู่ใต้กำกับดูแลตามระบบใบอนุญาตของ กสทช.
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา โดยระบุว่าพฤติการณ์ของ ดร.พิรงรองส่อเจตนาที่จะกลั่นแกล้งบริษัททรู แต่ ดร.พิรงรองยืนยันว่าการออกหนังสือเตือนเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลลิขสิทธิ์
โดยบริษัททรูมองว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อธุรกิจตน จึงได้ฟ้องร้องว่า กสทช.พิรงรองใช้อำนาจโดยมิชอบ ส่งผลเสียต่อธุรกิจ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา โดยระบุว่าพฤติการณ์ของ ดร.พิรงรองส่อเจตนาที่จะกลั่นแกล้งบริษัททรู แต่ ดร.พิรงรองยืนยันว่าการออกหนังสือเตือนเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลลิขสิทธิ์
กฎ Must Carry คืออะไร ?
กฎ Must Carry หรือประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 2555 เป็นกฎที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
กฎดังกล่าวเป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.นำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ หรือดัดแปลงผังรายการของสถานี
รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องถ่ายทอดรายการจากช่องทีวีดิจิทัลในทุกแพลตฟอร์ม โดยไม่สมารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้
ในกรณีรายการกีฬา กฎ Must Carry จะทำงานควบคู่กับกฎ Must Have มีผลบังคับใช้กับกิจการโทรทัศน์และรายการที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด โดยกฎ Must Have มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึง หรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป
โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้
- การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
- การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
- การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ (Asian Games)
- การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
- การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
- การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
- การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)
ยกตัวอย่าง การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งเป็นรายการถ่ายทอดสดตามกฎ Must Have คือต้องมีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี ไม่สามารถเลือกถ่ายทอดได้เฉพาะทางทีวีดาวเทียม ทีวีบอกรับสมาชิก (Pay TV)
ขณะเดียวกัน การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวี ต้องถ่ายทอดสดในทุกช่องทางการรับชม ทั้งเสาโทรทัศน์ (หนวดกุ้ง-ก้างปลา) ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางทีวีออนไลน์ (IPTV) ที่ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช. ตามกฎ Must Carry โดยไม่มีการจอดำ หรือตัดสัญญาณออกอากาศเกิดขึ้น
ช่องโหว่ ‘OTT’ ยังไม่อยู่ในอำนาจ กสทช.
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การฟ้องข้อพิพากนี้เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม TrueID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) ซึ่งยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามระบบใบอนุญาตของ กสทช.
ขณะเดียวกัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการออกอากาศบนแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี เป็นการออกอากาศผ่าน OTT นั้นยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องขออนุญาตจาก กสทช.
และการกระทำของจำเลยที่มีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ กสทช.ออกหนังสือเป็นทางการ และมีคำพูดในทำนองว่าตลบหลัง และการล้มยักษ์นั้น ทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การต่อสู้ของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักให้หักล้างพยานโจทก์ได้
ปัญหานี้แสดงให้เห็นช่องโหว่ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT ในประเทศไทย ที่ กสทช.ยังไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลได้ แม้จะมีความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อจะมีระเบียบและทิศทางในการกำกับดูแลมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยประเด็นด้านกฎหมาย และรูปแบบของแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากกิจการโทรทัศน์หรือการกำกับคอนเทนต์รูปแบบเดิม
นอกจากนี้ กฎเดิมอย่าง Must Have-Must Carry ยังคงมีปัญหาที่ต้องทบทวน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดรายการกีฬาที่ต้องถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทุกช่องทาง ซึ่งกระทบต่อตลาดลิขสิทธิ์กีฬาอย่างมาก และประเทศไทยเจอปัญหาเรื่องการถูกโขกราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาแล้ว
จากนี้ต้องจับตาการกำกับดูแลในด้านกิจการโทรทัศน์ ทั้งทีวีดิจิทัล ที่ใบอนุญาตปัจจุบันกำลังจะหมดอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และแพลตฟอร์ม OTT ซึ่งเป็นเรื่องไม่ใหม่ แต่ยังไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน รวมถึงกฎเดิม ๆ ที่เริ่มไม่สอดคล้องกับโลกคอนเทนต์ปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ และไม่กระทบต่อผู้ให้บริการ ผู้ผลิตคอนเทนต์มากจนไม่สามารถอยู่รอดได้