AIS-TRUE ชี้ ประมูลคลื่น 1.2 แสนล้านบาท ยังแพง แนะปรับเกณฑ์ประมูล

AIS-TRUE ชี้ ประมูลคลื่น 1.2 แสนล้านบาท ยังแพง แนะปรับเกณฑ์ประมูล

กสทช.เปิดเวทีรับฟังความเห็นเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ ปี 2568 หลังเคาะราคาขั้นต่ำรวม 1.2 แสนล้านบาท ด้าน “AIS-TRUE” มองพิจารณาราคาที่ยังสูงเกินกว่าต่างประเทศ แนะปรับเกณฑ์งวดเงินชำระค่าคลื่น

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวในการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 120 ล้านราย โดยใช้เครือข่าย 4G ประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91% ทั่วประเทศ

“มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่ภายในประเทศมากถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตของภาคการเกษตร การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัย การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ การพัฒนาด้านการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข การเข้าถึงทางการแพทย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอย่างทันท่วงที”

สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired Band) เทคโนโลยี FDD คือ ย่าน 850 MHz รองรับ 3G ย่าน 1800 MHz รองรับ 3G 4G และ ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired Band) เทคโนโลยี SDL และ TDD คือ ย่าน 1500 MHz รองรับ 3G ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G ย่าน 2300 MHz รองรับ 3G 4G และสามารถพัฒนาไปสู่ 5G ได้

และคลื่นความถี่ย่านสูง (High Band) เทคโนโลยี TDD คือ ย่าน 26 GHz รองรับ 5G การประมูลคลื่นความถี่นี้ จะประมูลด้วยวิธี Clock Auction ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการประมูล Multiband ในปี 2563 โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ในปี 2568 เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ สำหรับรองรับการใช้งาน และสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

AIS และ TRUE แสดงความกังวลเรื่องราคา

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Cognitive Tech-Co) มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านที่ กสทช.เตรียมเปิดประมูลในเดือนเมษายน 2568

ADVERTISMENT

“อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนั้น พิจารณาราคาคลื่นความถี่ ที่นำออกมาประมูลให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งหากราคาคลื่นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการหนุนให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุม และประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์นั้น”

โดย AIS พิจารณาทุกคลื่นความถี่ ส่วนคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5G ระดับสากล ถ้ากสทช.มีแผนจะนำออกมาประมูลในรอบนี้ ก็มีความสนใจ ซึ่งถือว่าเป็นการประมูลล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะนำมาร่วมประมูลในรอบนี้หรือไม่

ADVERTISMENT

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ที่ กสทช.นำมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทเห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อมุ่งส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดให้มีประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกัน และลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล

นอกจากนี้ บริษัทเห็นว่าราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ที่ระบุในร่างประกาศ แม้ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในอดีต แต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ

ประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และปั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา

“ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับสากลให้กับประเทศ และยังได้นำเสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

ตัวแทนจาก กสทช.ยืนยันว่า การกำหนดราคาประมูลเป็นไปตามหลักสากล และจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมในตลาดโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม กสทช.เปิดรับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย และจะพิจารณาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมก่อนเปิดประมูลจริง