มากกว่าบรอดแบนด์ “ทรูออนไลน์’ รุกตลาดสมาร์ทโฮม

true
สกลพร หาญชาญเลิศ-ฐานพล มานะวุฒิเวช

ตลาดเน็ตบ้านในปัจจุบันยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกไม่ใช่น้อย หากประเมินจากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยกับจำนวนครัวเรือนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ นั่นทำให้ผู้เล่นหลักในตลาดยังขับเคี่ยวแข่งกัน แม้จำนวนผู้เล่นดูจะลดลง เมื่อ AIS เข้าซื้อกิจการของ 3BB จนส่วนแบ่งตลาดขยับขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง ที่ 4.94 ล้านราย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2567)

ไม่ใช่เท่านั้น NT หรือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ก็ประกาศว่าจะกลับเข้ามารุกตลาดบรอดแบนด์จริงจังอีกครั้ง

โดยก่อนหน้านี้ “พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ระบุว่า หลังกลับมาทบทวนอย่างละเอียดพบว่าธุรกิจบรอดแบนด์ยังสามารถทำกำไรได้จึงจะมีการปรับโมเดลในการทำธุรกิจใหม่ โดยหาพันธมิตรเข้ามารับผิดชอบในการให้บริการในเขตนครหลวง

ปัจจุบัน NT มีฐานลูกค้าบรอดแบนด์ราว 2 ล้านครัวเรือน มี 1.8 ล้านในต่างจังหวัด อีก 2 แสนในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ล่าสุด “ทรูออนไลน์” ประกาศว่า เน็ตบ้านทรูจะเป็นมากกว่าการเชื่อมต่อสัญญาณ

รุกตลาดสมาร์ทโฮม

“ฐานพล มานะวุฒิเวช” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า มูลค่าตลาดบรอดแบนด์ในประเทศไทยปี 2567 น่าจะอยู่ราว ๆ 6 หมื่นล้านบาท โตจากปีก่อนหน้าประมาณ 7% ส่วนในแง่ของการใช้งาน มีครัวเรือนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 10.5 ล้านครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนในไทยทั้งหมด 21-22 ล้านครัวเรือน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงบริการ (Penetration Rate) ประมาณ 50%

ADVERTISMENT

สำหรับ ทรูออนไลน์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 มีรายได้จากการให้บริการ 6,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5% โดยมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 3.72 ล้านราย และมีรายได้ต่อผู้ใช้บริการต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 524 บาท

“ต่อให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราจะขายบ้านได้น้อยลง แต่ก็ยังคงมีช่องว่างในตลาดของคนที่มีบ้านอยู่แล้วอีกประมาณ 50% ซึ่งยังไม่ได้ใช้บริการบรอดแบนด์ โดยบางส่วนยังเป็นกลุ่มที่ใช้แต่เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ประกอบกับการขยายตัวของเมืองที่ยังคงมีต่อเนื่อง ทำให้ตลาดบรอดแบนด์ยังมีโอกาสเติบโตต่อได้เรื่อย ๆ”

ADVERTISMENT

ด้าน “สกลพร หาญชาญเลิศ” หัวหน้าสายงานโพสต์เพย์ คอนเวอร์เจนซ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมว่า แกนหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของทรูออนไลน์ในปีนี้ เรียกว่า “Human Technology” หรือการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการใช้ชีวิตของคนในทุกมิติ โดยโฟกัสที่เซ็กเมนต์การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IOT และกลุ่มสมาร์ทโฮมที่มูลค่าตลาดโตเฉลี่ยปีละ 15-16%

“การที่ตลาดสมาร์ทโฮมขยายตัวสอดคล้องกับพฤติกรรมของครอบครัวใหม่ ที่ต้องการนำโซลูชั่นต่าง ๆ มาพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของคนในบ้าน เช่น กล้องไว้ติดตามผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยง เวลาไม่มีใครอยู่บ้าน”

เจาะกลยุทธ์ 3-Smart

ทรูออนไลน์จึงออกแบบและวางกลยุทธ์หลัก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุปกรณ์ IOT ในบ้าน เป็น 3 ด้าน

ประกอบด้วย 1.Smart Tech เน็ตบ้านแพ็กเกจ 2Gbps พร้อม WiFi 7 Router ผสานเทคโนโลยี Smart AI ที่มี PRO AI Network นำ AI มาใช้ตรวจสอบวิเคราะห์ และควบคุมเครือข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงมีเราเตอร์ 2 ระบบ ที่รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟเบอร์ และสำรองด้วยอินเทอร์เน็ตมือถือ ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดปัญหาการเชื่อมต่อผ่านไฟเบอร์ เราเตอร์จะเปลี่ยนไปใช้อินเทอร์เน็ตจากสัญญาณเน็ตมือถือแบบอัตโนมัติ

2.Smart Solution เราเตอร์ที่ปล่อยสัญญาณ WiFi และเป็น IOT Hub ในเครื่องเดียว ทำงานผ่าน Zigbee Gateway ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ Smart Home IOT เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว สัญญาณแจ้งเตือนภัย ปุ่มกดแจ้งเตือน เซ็นเซอร์เตือนภัยสำหรับประตูหรือหน้าต่าง และกล้องวงจรปิดที่มี AI จับเสียงร้องของเด็ก และการเคลื่อนไหวของคนและสัตว์ โดยลูกค้าสามารถควบคุมอุปกรณ์ทุกชิ้นในบ้านได้ผ่านแอป TrueX

และ 3.Smart Service & Privilege มีแอป True iService และ Mari Chat คอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงยังสามารถใช้ทรูพอยต์แลกรับสิทธิพิเศษที่ต้องการได้

“แพ็กเกจที่คนนิยมใช้ยังเป็นแพ็กเกจเริ่มต้นราคา 599-600 บาท แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มการเพิ่มโซลูชั่นต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ โดยปีนี้ทรูออนไลน์ยังมีโรดแมปในการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ อีกมาก อย่างน้อยในแต่ละไตรมาสก็จะได้เห็นของใหม่ออกมา”

จับเซ็กเมนต์คอนเทนต์

“สกลพร” กล่าวด้วยว่า นอกจากกลุ่มสมาร์ทโฮมจะเป็นเซ็กเมนต์หลักในการทำตลาดในปีนี้ ยังมีเซ็กเมนต์ของคนที่ชอบดูคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่โตขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมของคน ซึ่งที่ผ่านมาทรูออนไลน์ก็มีนำแพ็กเกจของ Netflix เข้ามาบันเดิลเพิ่มด้วย

พร้อมกันนี้ ทรูออนไลน์ เปิดตัวแพ็กเกจพร้อม “TrueID TV Gen 3” กล่องทีวี AI อัจฉริยะที่ทำให้ทุกคนในบ้านสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายผ่าน AI Fitness, เล่นเกมผ่านการเคลื่อนไหวด้วยโหมด AI Game, ร้องเพลงคาราโอเกะ กับแอป Plern Karaoke และสั่งการด้วยเสียงผ่าน Google Assistant ซึ่งราคาแพ็กเกจ TrueOnline x TrueID TV Gen 3 จะเริ่มต้นที่ 799 บาท/เดือน สำหรับความเร็ว 500Mbps/500Mbps

“เซ็กเมนต์นี้มีความโดดเด่น แต่ยังไม่ได้นำมาใช้เป็นอาวุธในการทำตลาดขนาดนั้น เนื่องจากมีโจทย์ที่ต้องคิดว่าจะจับกลุ่มนี้ด้วยกลยุทธ์อะไร เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิสระสูง สามารถรับชมคอนเทนต์ได้จากหลายช่องทาง”

ทิศทางการแข่งขัน-การลงทุน

เมื่อถามถึงทิศทางการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์ “ฐานพล” มองว่า ผู้ให้บริการแต่ละรายจะเน้นที่เรื่องความเร็วและการให้บริการเหมือน ๆ กัน แต่มีจุดขายที่แตกต่าง ทั้งยังโฟกัสเกี่ยวกับลูกค้าคนละมุม อย่างทรูออนไลน์ เน้นที่การเติมเต็มไลฟ์สไตล์คนทุกเพศทุกวัย ผ่านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IOT

ส่วนเรื่องของคอนเทนต์ ทรูก็มีคอนเทนต์สำหรับผู้ชมแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว อย่างกลุ่มกีฬาก็มีครอบคลุมหลายรายการ เช่น NBA ฟุตบอล กอล์ฟ และฟอร์มูลาวัน (F1) เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในธุรกิจบรอดแบนด์ในปีนี้บอกได้แต่เพียงว่า จะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษาโครงข่าย การขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า และการขยายแบนด์วิดท์ให้รองรับการใช้งานตามพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การรับชมสตรีมมิ่งที่ต้องมีการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก

“สกลพร” ยังทิ้งท้ายด้วยว่า หลัง “ทรู” และ “ดีแทค” ควบรวมกิจการกันแล้ว ก็มีเป้าหมายที่จะดึงลูกค้าดีแทคเข้ามาใช้บริการทรูออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเห็นแนวโน้มที่ลูกค้าดีแทคเข้ามาเป็นลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไว้วางใจ และการสื่อสารว่าเป็นแบรนด์เดียวกัน นอกเหนือจากเรื่องของโปรโมชั่นต่าง ๆ