มองโจทย์ OTT เมืองไทย เมื่อยังไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน

OTT
ภาพจาก Adobe Stocks

เมื่อตลาดแพลตฟอร์ม OTT เมืองไทย ยังไร้กฎหมายกำกับดูแล เกิดอะไรขึ้น และควรทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่เป็นธรรม

จากกรณีคดี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ฟ้องร้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประเด็นหนังสือเตือนผู้ได้รับอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียง ให้ระวังการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดรายการตามกฎ Must Carry ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม TrueID ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT (แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ) ที่ยังไม่ได้อยู่ใต้กำกับดูแลตามระบบใบอนุญาตของ กสทช.

โดยศาลตัดสินให้ กสทช.พิรงรองมีเจตนาใช้อำนาจกลั่นแกล้ง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เสียหาย ซึ่งผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนจะได้รับการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่ง กสทช.

ประเด็นใหญ่ที่เป็นข้อถกเถียงหลักของสังคม คือ การกำกับดูแล OTT ที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แม้กระทั่งเจ้าภาพที่เป็นผู้กำกับแพลตฟอร์มเหล่านี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมองปัญหาการกำกับดูแล OTT ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น

รู้จัก OTT คืออะไร ?

OTT หรือ Over-The-Top คือ การให้บริการเนื้อหาต่าง ๆ ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต และสามารถเข้าถึงได้ในหลากหลายประเภทอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งลักษณะเนือหาที่ให้บริการอาจมีทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอ

ADVERTISMENT

สำหรับผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการเนื้อหาในรูปแบบวีดิโอ จะสามารถแบ่งตามประเภทการหารายได้ออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • Subscription Video on Demand (SVOD) คือ การให้บริการประเภทเก็บค่าบอกรับสมาชิก เช่น Netflix หรือ Prime Video
  • Advertising Video on Demand (AVOD) คือ การให้บริการที่หารายได้จากการเก็บค่าโฆษณา เช่น YouTube
  • Electronic Sell Through (EST) คือ การให้บริการโดยเก็บค่าบริการ 1 ครั้งต่อการดาวน์โหลด 1 เนื้อหา โดยเนื้อหาดังกล่าวจะสามารถเก็บไว้รับชมกี่ครั้งก็ได้ เช่น iTunes
  • Digital Rental คือ การเก็บค่าบริการเป็นรายครั้งที่รับชม ได้แก่ บริการ PAY-PER-VIEW

สำหรับประเทศไทย แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง OTT ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Netflix, VIU, VIPA, oneD เป็นต้น โดยมีการคาดการณ์รายได้ว่า รายได้กลุ่มแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ปี 2568 เฉพาะประเทศไทย จะอยู่ที่ 818 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้กลุ่มใหญ่ที่สุด ยังคงเป็นบริการแบบ SVOD

ADVERTISMENT

ไทยยังไร้อำนาจกำกับ OTT ?

แม้ OTT จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในวันนี้ เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าดัง ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยมาหลายปีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดูเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการ คือ กฎหมายและการกำกับดูแล ที่ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีเจ้าภาพหรือผู้ที่กำกับดูแลแพลตฟอร์มลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้ กสทช. มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT มาแล้ว มีการศึกษา จัดทำร่างประกาศ กสทช. จนกระทั่งบรรจุเข้าวาระการประชุม เพื่อให้ กสทช. ทั้ง 7 คนได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อ มาตั้งแต่ปี 2566 แต่เรื่องดังกล่าว ยังไม่มีการหยิบมาถกเถียงในที่ประชุม กสทช. ทั้ง 7 คน

ประเด็นหนึ่งที่ต้องกลับมาพิจารณา คือ การกำหนดหน้าที่ ขอบเขตการดูแล กสทช. ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่นั้น เกิดขึ้นในยุคที่ยังมีแค่วิทยุ-โทรทัศน์ภาคพื้นดิน และยังควบคุมแค่ระบบทีวีทางอินเตอร์เน็ต หรือ IPTV เท่านั้น ยังไม่ได้มีการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

อีกข้อหนึ่งที่ต้องมองต่อ คือ การกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT ไม่ได้มีเพียงแค่การกำกับให้ OTT มีใบอนุญาต และอยู่ในกติกาที่วางไว้เท่านั้น แต่ยังต้องมีเรื่องการควบคุมเนื้อหา เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ออกอากาศทางฟรีทีวี หรือช่องทางดั้งเดิม

กำกับ OTT ในไทย เอายังไงต่อ ?

จากกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับ กสทช.พิรงรอง นำมาสู่การตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของ กสทช. จากนี้ ในการกำกับดูแล และรักษาผลประโยชน์ของประชาชน จนถึงการกลับมาดูเรื่องการกำกับ OTT ในประเทศไทย ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการกำกับดูแล และการปกป้องผลประโยชน์

นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวบนเวทีเสวนา ‘พิรงรอง Effect’ ระบุว่า ในกฎหมายควบคุมสื่อสารมวลชนของกสทช.ยังใช้กฎหมายฉบับเก่าที่พูดถึงการควบคุม IPTV เพียงเท่านั้น ยังไม่มีการทำกฎหมายเพื่อควบคุม OTT แต่อย่างใด โดยเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้มีแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติและตั้งคณะการทำงานเพื่อดูแล OTT ที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศโดยเฉพาะขึ้นมา

แต่ร่างนี้ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.แต่อย่างใด และเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่กำกับ OTT ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดในประเทศที่มากำกับดูแล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟ้องร้อง และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกฎหมายที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลแต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาของสื่อใน OTT ทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนที่จะกำกับดูแลเนื้อหาสำหรับบุตรหลานหรือใครก็ตามของสื่อ OTT ในเวลานี้

“ผมจึงอยากตั้งคำถามว่าเมื่อไร ถึงจะมีการตั้งกฎหมายเพื่อมาควบคุม OTT อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะมี เพราะธุรกิจประเภทนี้เติบโตขึ้นทุกวัน หากไม่มีการควบคุมผลต่อมาคือธุรกิจทีวีดิจิทัลจะไม่มีงบในการจ่ายเงินให้กับพนักงานจนต้องตัดพนักงานออกไป เนื่องจากการขายโฆษณาผ่านทางผู้ให้บริการ OTT นั้นได้ผลกว่าการขายให้กับสถานีโทรทัศน์ทั่วไป รวมไปถึงเนื้อหาต่างๆที่ไม่ได้ถูกควบคุม ทั้งที่ควรจะมีคนเข้ามากำกับดูแลเช่นกัน” นายระวี กล่าว

ขณะที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. กล่าวในรายการตอบโจทย์ ทาง Thai PBS ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในแพลตฟอร์ม OTT ต้องสนับสนุนให้มีการกำกับดูแล เพราะเมื่อ OTT จากต่างประเทศ เข้ามาได้เม็ดเงินในไทย หากไม่มีการกำกับดูแลจะกระทบผู้ประกอบการไทยในที่สุด

จากนี้ต้องจับตาตลาดแพลตฟอร์ม OTT ในประเทศไทย โดยเฉพาะการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม อยู่ในกติกา มาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้ใคร แพลตฟอร์มใดได้เปรียบ-เสียเปรียบเกินเหตุ และเพื่อให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ยังเดินหน้าต่อได้

ข้อมูลจาก สำนักงาน กสทช.