
คอลัมน์ : มองข้ามชอต ผู้เขียน : กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ภาคก่อสร้างเป็นประเภทกิจการที่มีจำนวนลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงเป็นลำดับต้น ๆ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการพึ่งพาแรงงานพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งยังต้องทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยระดับสูง โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมระบุว่า ในปี 2023 มีลูกจ้างในกิจการก่อสร้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานอยู่ที่ 9,767 คน เพิ่มขึ้น 15% จากในปี 2022
ข้อมูลจาก McKinsey & Company ระบุว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้างได้ถึง 30% ทั้งนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดความเสี่ยงในการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย จากการทำงานสำหรับแรงงานในภาคก่อสร้างได้หลากหลายรูปแบบ
ทั้งการนำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้างในอดีตมาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้างที่กำลังดำเนินโครงการ และนำมาสู่การกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ การนำ AI มาใช้กับอุปกรณ์และเครื่องจักรก่อสร้าง
พื่อสั่งการให้ทำงานก่อสร้างทดแทนการใช้แรงงานในขั้นตอนการก่อสร้างที่มีความอันตราย รวมถึงกำหนดให้มีการแจ้งเตือนในกรณีที่มีความผิดพลาดในการใช้งานหรือการติดตั้ง และแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือการบำรุงรักษา
อีกทั้งยังสามารถนำ AI มาใช้กับอุปกรณ์ Sensor เพื่อติดตามเฝ้าระวังข้อมูลในพื้นที่ก่อสร้างได้แบบ Real Time เช่น ระบบตรวจวัดฝุ่นละอองและก๊าซต่าง ๆ ที่มีการแจ้งเตือนเมื่อถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแรงงาน อุปกรณ์ติดตัวแรงงานที่สามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เมื่อแรงงานเกิดอุบัติเหตุหรือมีปัญหาทางสุขภาพ เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือได้ทันที
ตัวอย่างของการนำ AI มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับแรงงาน และปรับปรุงกระบวนการดำเนินโครงการก่อสร้างอย่างโดดเด่น ได้แก่ บริษัท Obayashi Corporation ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกับบริษัท Osaka Gas อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ “AI Weather Forecast Service for Construction Work” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก
โดย AI จะเรียนรู้จากข้อมูลภูมิอากาศในอดีต เช่น ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน เพื่อคาดการณ์ภูมิอากาศล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน เมื่อค่าคาดการณ์สูงเกินกว่าระดับค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้ทบทวนการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างที่อาจได้รับผลกระทบ
ไม่ว่าจะเป็นในช่วงลมแรงมากหรือฝนตกหนัก ที่อาจต้องเลื่อนกิจกรรมก่อสร้างบางกิจกรรมออกไป เช่น งานเทคอนกรีต งานยกของด้วยเครน ไปจนถึงในช่วงฤดูร้อนที่แรงงานอาจต้องหยุดกิจกรรมก่อสร้างเพื่อป้องกันโรคลมแดด
SCB EIC มองว่า แนวโน้มการให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเข้มข้นมากขึ้นในภาคก่อสร้างไทย อาจส่งผลให้ผู้ว่าจ้างโครงการก่อสร้างกำหนดบทลงโทษที่มีความรุนแรงมากขึ้นในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้าง
รวมถึงอาจกำหนดให้การมีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสำหรับแรงงานเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเข้าประมูลงานก่อสร้างในระยะข้างหน้า ส่งผลให้การเริ่มนำ AI มาใช้ในภาคก่อสร้างเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้าง
รวมถึงลดความเสี่ยงในการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสำหรับแรงงาน จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างในการเข้าประมูลงานได้ในอนาคต โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างบริเวณกว้าง มีขั้นตอนการก่อสร้างที่ซับซ้อน และใช้แรงงานพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการก่อสร้างได้
อย่างไรก็ดี การนำ AI มาใช้ในภาคก่อสร้างนั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างจำเป็นต้องรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความพร้อม ทั้งแรงงานมีฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานพื้นฐาน
นอกจากนี้ยังต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ต้นทุนการใช้ AI มีแนวโน้มลดลง ในระดับที่จูงใจให้ผู้รับเหมาก่อสร้างลงทุนนำ AI มาใช้ ควบคู่ไปกับการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างที่ลงทุนใน AI และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง