
กสทช. เปิดเวทีรับฟังความเห็นประมูลคลื่นความถี่ปี 2568 ผุดโมเดล “TIMO” ตัวกลางแมตช์ความต้องการใช้คลื่นระหว่าง “ผู้ชนะประมูล-MVNO” หวังส่งเสริมการแข่งในตลาดมือถือ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568
โดยการประชุมดังกล่าวมีการเปิดรับความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ โอเปอเรเตอร์ และซัพพลายเออร์ โดยตัวอย่างของประเด็นที่มีการเปิดรับความคิดเห็น เช่น ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) การกำหนดจำนวนงวด ระยะเวลาการชำระเงิน และความเหมาะสมของวิธีการอนุญาต เป็นต้น
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ และดูจะได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย คือการเสนอไอเดียเกี่ยวกับผู้ให้บริการแบบอิสระ “TIMO” (Thailand Independent Market Operator) หรือกลไก “ตัวกลาง” ที่ กสทช. มองว่าจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของ “รายย่อย” หรือกลุ่มโอเปอเรเตอร์โครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) ในธุรกิจโทรคมนาคมมากขึ้น
บทบาทของ TIMO คือการเป็น Middleman ที่บริหารธุรกรรมการซื้อขายระหว่าง MVNO และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (Mobile Network Operator : MNO) ดำเนินการแบบตลาดซื้อขายสินทรัพย์ (Forward & Spot Markets) ในระดับ Wholesale มีรายได้จาก Comission Fees เปรียบได้กับ Clearing House ของตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ TIMO เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นมารองรับเงื่อนไขของการประมูลที่ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลต้อง “Set aside” หรือกันความจุโครงข่าย (Capacity) อย่างน้อย 10% ให้ผู้ให้บริการรายอื่นได้เช่าใช้ด้วย รวมถึงจะช่วยแก้ปัญหาความแออัด (Congestion) ให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยราคาที่เหมาะสม
จุดเริ่มต้นของ TIMO เกิดจากการที่ กสทช. มองว่าปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมในไทยตอนนี้มี MNO รายใหญ่เพียง 2 ราย และอาจไม่มีแรงจูงใจในการให้บริการระดับ Wholesale หรือถ้าต้อง Set aside ให้รายย่อย/รายเล็ก ก็อาจนำไปสู่การขายคลื่นความถี่ให้ MNO ในภายหลัง เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการลงทุนที่เพียงพอ
ดังนั้น กสทช. จึงเชื่อว่าการมี “ตัวกลาง” มาทำหน้าที่แมตช์ความต้องการซื้อขายในระดับ Wholesale น่าจะเหมาะสมกับสภาพการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้ยังมีคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับ TIMO หลากหลายประเด็น ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่อยู่ในช่วงศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตหน้าที่ที่ส่งผลกับความเป็นไปของตลาด และการผลักดันให้กลุ่ม MVNO ประกอบธุรกิจต่อได้อย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจ MVNO ภายใต้โครงสร้างของ ทีโอที (TOT) และ กสท. (CAT) เดิม ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากต้นทุนค่าโรมมิ่งสูง ขณะที่เอ็นที (NT) ไม่มีคลื่นความถี่รองรับหากไม่ต่อใบอนุญาต ทำให้ผู้ให้บริการ MVNO ต้องเร่งหาทางออก โดยพึ่งพาผู้บริการเครือข่ายอื่น
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ให้ที่ปรึกษาต่างประเทศศึกษาตลาด MVNO ได้มีข้อเสนอ ผู้ให้บริการมือถือและบริการข้อมูลแบบขายส่งแก่ธุรกิจต่าง ๆ หรือ MVNO อาจเป็นโมเดลที่ช่วยให้ MVNO สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตลาดเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น เน้นเจาะกลุ่ม LGBTQ ที่มีกำลังซื้อสูง
ล่าสุด กสทช. ได้เร่งหาทางออกเพื่อช่วยเหลือผู้ให้บริการ MVNO ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยหนึ่งในแนวทางที่กำลังพิจารณา คือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการข้อมูลแบบขายส่งแก่ธุรกิจต่าง ๆ (Mobile Virtual Network Aggregator : MVNA)