‘พิรงรองEffect’ ชี้ไม่มีกม.คุม OTT เสี่ยงเสียอธิปไตยในอุตฯสื่อ แนะตั้ง “สตรีมมิ่งแห่งชาติ” สู้

ขอบคุณภาพจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรณีอาจารย์พิรงรอง อดีตกรรมการ กสทช. ถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่ เผยให้เห็นถึงช่องโหว่ของการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไข อาจนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในอุตสาหกรรมสื่อ และการล่มสลายของธุรกิจทีวีดิจิทัลได้ แนะเร่งออกกม.คุม OTT – ตั้งสตรีมมิ่งแห่งชาติสู้

ในการเสวนา “พิรงรอง Effect” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ซึ่งเสนอประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นในการออกกฎหมายกำกับดูแล OTT (Over-the-Top) การตั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ การปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ

เร่งออกกฎหมายคุม OTT ก่อนเสียอธิปไตยในอุตสาหกรรมสื่อ

OTT หรือแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล เช่น YouTube, Netflix, Disney+ และ Prime Video มีบทบาทสำคัญ หลังผู้บริโภคจำนวนมากหันไปใช้บริการเหล่านี้แทนการดูทีวีแบบดั้งเดิม เนื่องจากความสะดวกสบายและเนื้อหาที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังไม่มีการกำกับดูแล OTT อย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การไหลออกของรายได้โฆษณาไปยังต่างประเทศ และการขาดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

“ระวี ตะวันธรงค์” ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ฉายภาพว่า ขณะนี้กฎหมายกำกับดูแลสื่อของไทยยังครอบคลุมถึงเพียง IPTV เท่านั้น ส่วนกฎหมายเรื่อง OTT นั้นแม้จะร่างเสร็จแล้ว แต่ติดอยู่ในขั้นรอนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. มาตั้งแต่ พ.ย. ปี 2566 จึงเกิดเป็นช่องว่างของการกำกับดูแล

“ถามว่า OTT จดทะเบียนกับใครในประเทศไทยไม่มี ไม่มีใครให้จดทะเบียน OTT เป็นการตั้งชื่อออกมาว่าเราคือ OTT” 

ด้าน “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรศุ” ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เตือนว่า หากประเทศไทยไม่มีมาตรการกำกับดูแล OTT อุตสาหกรรมสื่อจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคจากข่าวลวงหรือเฟคนิวส์  จนอาจนำไปสู่การ สูญเสียอธิปไตยในอุตสาหกรรมสื่อ

ADVERTISMENT

โดย “สุภิญญา กลางณรงค์” อดีตกรรมการ กสทช. ได้เสนอว่า กสทช. ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการผลักดันกฎหมายกำกับดูแล OTT เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของแพลตฟอร์มดิจิทัลและความเป็นธรรมในตลาดสื่อ

หวั่นทีวีดิจิทัลล่มสลาย แนะตั้ง “สตรีมมิ่งแห่งชาติ” สู้

ทีวีดิจิทัลของไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากการแข่งขันที่รุนแรงของแพลตฟอร์ม OTT “ระวี ตะวันธรงค์” อธิบายว่า การขาดการกำกับดูแล OTT จะทำลายธุรกิจทีวีดิจิทัลที่กำลังต้องรอต่อสัญญาอีก 4 ปี เพราะ OTT มีการเติบโตต่อเนื่อง และค่าโฆษณาถูกกว่า ขณะที่ทีวีดิจิทัล ยังต้องลุ้นว่าจะมีการประมูลใบอนุญาตหรือไม่ ทำให้ธุรกิจย้ายเม็ดเงินโฆษณาจากโทรทัศน์ไปอยู่บน OTT มาขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ADVERTISMENT

ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขาดทั้งสภาพคล่องทางการเงินและความมั่นใจ นำไปสู่การลดคนซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่ปี 2567 แล้ว 

ขณะเดียวกัน พนักงาน 4,000-5,000 คน ที่ถูกปลดจะออกมาทำออนไลน์ซึ่งไม่มีการกำกับดูแล การแข่งขันบนออนไลน์จะดุเดือดเป็นเรดโอเชี่ยนทำให้เงินค่าโฆษณาอาจเหลือเพียง 5 – 10 บาท และส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม

แนวทางแก้ไขที่ถูกเสนอคือ การจัดตั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ (National Streaming Platform) เพื่อให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยสามารถแข่งขันกับ OTT ต่างชาติได้ 

โดย “ระวี ตะวันธรงค์” ระบุว่า หากประเทศไทยมีแพลตฟอร์มของตนเอง ที่สามารถรวมเนื้อหาจากช่องทีวีไทยทั้งหมด และใช้โปรแกรมโฆษณาแบบ Matrix Advertising เหมือนกันทุกช่อง ช่วยให้ไม่เพียงสามารถแข่งขันกับ OTT ได้ แต่จะพยุงราคาโฆษณาไม่ให้ต่ำเกินไป ช่วยให้อุตสาหกรรมสื่อไทยสามารถอยู่รอดในยุคดิจิทัล

เจ้าหน้าที่รัฐอาจใส่เกียร์ว่าง เกรงถูกฟ้องร้อง

กรณีของอาจารย์พิรงรองทำให้เกิดความกังวลว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย เพราะกลัวถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่ “รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต” ตั้งข้อสังเกตว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญ อาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรง เช่น การที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเจ้าหน้าที่กลัวว่าจะถูกฟ้องจากบริษัทเอกชน หรือการที่อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมถูกปล่อยให้มีการผูกขาด เพราะ กสทช. ไม่กล้าออกกฎระเบียบควบคุม OTT

แนวทางแก้ไขที่เสนอคือ ควรมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานโดยสุจริต เช่น การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันข้อครหาที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้อง

ห่วงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลจากที่ประชุมหน่วยงานรัฐ

อีกหนึ่งปัญหาที่ถูกพูดถึงในการเสวนาคือ การรั่วไหลของข้อมูลจากที่ประชุม กสทช. ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องอาจารย์พิรงรอง

“รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต” ชี้ว่าข้อมูลจากที่ประชุมองค์กรกำกับดูแล เช่น กสทช. ควรได้รับการรักษาความลับ เพราะการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ

เรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ยังทำให้กรรมการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบรักษาความลับของหน่วยงานรัฐไม่เฉพาะกับกสทช. แต่เป็นทุกหน่วยงานรัฐ