
Binance Academy เผยแพร่บทความชวนทำความเข้าใจการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีแบบ P2P หลังตำรวจไซเบอร์ ดีอี แบงก์ ชี้ชัดว่าเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพ ถูกโอนออกเป็นคริปโตผ่านระบบ P2P พร้อมเพิ่มมาตรการคุมแพลตฟอร์มคริปโตเพิ่มใน พ.ร.ก.ปราบโจรไซเบอร์
ในเบื้องต้นคาดว่าภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 นี้ พระราชกำหนดมาตรการและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะพร้อมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคบใช้ ซึ่งส่วนสำคัญคือการสร้างมาตรการให้ “สถาบันการเงิน-ค่ายมือถือ-แพลตฟอร์มดิจิทัล” ต้องรับผิดชอบร่วมกรณีปล่อยปละให้แก๊งมิจฉาชีพฉวยใช้บริการของตนไปก่ออาชญากรรม
หนึ่งในมาตรการที่เพิ่มขึ้นมา คือ การควบคุมการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีแบบ P2P (Peer to Peer) ซึ่งตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมถึงธนาคารหลายแห่งระบุตรงกันว่า “บัญชีม้าสุดท้าย” ของอาชญากรไซเบอร์ได้แปลงเงินบาทไปเป็นคริปโต เฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท
ดร.กร พูนศิริวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และผู้อำนวยการโครงการ BINANCE TH Academy บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ได้เผยแพร่บทความเพื่อชวนผู้อ่านทำความเข้าใจว่า การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีแบบ P2P คืออะไร และความเสี่ยง การป้องกันภัย คืออะไรบ้าง
P2P: โอกาสของอนาคตการเงิน หรือกับดักที่แฝงมากับตลาดคริปโต?
ในช่วงที่ตลาดคริปโตกำลังเฟื่องฟู การซื้อขายแบบ P2P (Peer-to-Peer) กลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐประกาศมาตรการควบคุมที่มีผลบังคับในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ทว่าการควบคุม P2P ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หลายประเทศในเอเชียเองก็มีแนวทางการจัดการที่แตกต่างกัน อย่างญี่ปุ่นเลือกที่จะห้าม P2P โดยสิ้นเชิง และเน้นการซื้อขายผ่าน Exchange ที่ได้รับอนุญาต
ขณะที่สิงคโปร์อนุญาตแต่มีการควบคุมที่เข้มงวด ส่วนเกาหลีใต้ก็กำหนดว่าการเทรดประเภทนี้ต้องผ่านระบบธนาคารที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ความเข้าใจกลไกและบทบาท P2P ในตลาดคริปโต
P2P เป็นการทำธุรกรรมการเงินโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่อาศัย “ความเชื่อใจกัน” มีความคล้ายคลึงกับ ‘การซื้อขายสินค้าโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย’ โดยเริ่มจากการตกลงราคา และเลือกวิธีการชำระเงินโดยมีการจ่ายเป็นสกุลเงินบนใช้คริปโต
ต่อมา P2P ได้รับความนิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมีความสะดวกและยืดหยุ่น ซึ่งการซื้อ-ขายประเภทนี้ ทำให้ผู้คนสามารถเลือกทำธุรกรรมกับใครก็ได้ และกำหนดราคาที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย และยังสามารถทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศสามารถเกิดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
นอกจากการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล P2P ยังสามารถทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มตัวกลาง ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความเสี่ยงต่างกัน อย่างไรก็ตามการแลกเปลี่ยน P2P กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำผิดกฎหมาย ถูกใช้ในการหลอกลวง หรือหาประโยชน์ของผู้ไม่หวังดีเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในช่วง Bull Market เช่น การใช้สลิปปลอม การสวมรอยบัญชี และการใช้บัญชีม้าเพื่อฟอกเงิน
นำไปสู่การอายัดบัญชีผู้ใช้งาน ซึ่งแท้จริงแล้วแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการต่างมีมาตรการป้องกันให้กับผู้ใช้
แต่บางรายเลือกที่จะทำธุรกรรมแบบ P2P นอกกระดานเทรด
รูปแบบการหลอกลวง P2P ที่ต้อง “พึงระวัง”
การหลอกลวงที่มิจฉาชีพพยายามโน้มน้าวเหยื่อให้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงนอกแพลตฟอร์ม Exchange ผ่านระบบ P2P นั้น อาจมีหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ดังนี้:
1.เริ่มต้นติดต่อเข้ามาในช่องทางออนไลน์: มิจฉาชีพจะติดต่อกับเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มการส่งข้อความ
(chat) หรือออนไลน์คอมมูนิตี้ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อบนโซเชียลมีเดีย
โดยแอบอ้างเป็นผู้ค้าหรือบริษัทที่ถูกกฎหมายที่เสนออัตรา P2P ที่น่าดึงดูด พร้อมอ้างว่ามีประวัติการทำธุรกรรมที่ขาวสะอาด และจำนวนการทำธุรกรรมสูง
2. สร้างความไว้วางใจ: มิจฉาชีพจะทุ่มเวลาสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ โดยมักจะแชร์เอกสารปลอม
ประวัติการทำธุรกรรมปลอม นอกจากนี้มิจฉาชีพยังทำธุรกรรมสำเร็จหลาย ๆ
ครั้งกับเหยื่อก่อนเพื่อล่อให้ตายใจ จนสุดท้ายเหยื่อสูญเงินก่อนโตในที่สุด
3. ชวนไปเทรดนอกกระดาน: หลังเหยื่อไว้วางใจแล้ว มิจฉาชีพจะเสนอให้ทำธุรกรรมนอกแพลตฟอร์ม
และโน้มน้าวให้เหยื่อปล่อยเหรียญคริปโตโดยตรง
ขั้นหลอกลวง: มิจฉาชีพจะเสนอให้เหยื่อทำธุรกรรมด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจ
เมื่อเหยื่อตกหลุมพลางจนโอนสกุลเงินดิจิทัลไปยังกระเป๋าเงินของมิจฉาชีพ ก็จะไม่สามารถติดต่อได้อีกต่อไป ส่งผลให้เหยื่อสูญเหรียญคริปโตและไม่มีทางกู้คืนได้
วิธีหลีกเลี่ยงการหลอกลวงผ่าน P2P
1. เลือกเทรดกับผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม และผู้ประกอบการที่ ก.ล.ต รับรองเท่านั้น :
ดำเนินธุรกรรมผ่านผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจาก ก.ล.ต. (สามารถคลิกดูรายชื่อได้ที่
https://market.sec.or.th/LicenseCheck/views/DABusiness?dealer)
2. ระวังข้อเสนอที่ดูดีเกินจริง: หากข้อเสนอ P2P ที่คุณได้รับดูดีเกินจริง
ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
3. หมั่นเรียนรู้ด้วยตัวเอง (DYOR): ขยันติดตามและศึกษาข้อมูลข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันกับกลลวงที่มีการอัปเดตตลอด เพราะ “ความรู้” เป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ไม่หลงไปพัวพันกับมิจฉาชีพ และขบวนการฉ้อโกง