จับตาศึกประมูลรอบใหม่ ผุดโมเดล TIMO เสริมแกร่ง MVNO

MVNO
สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์-สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2568 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่รวดเดียวถึง 6 คลื่นด้วยกัน รวม 450MHz มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท หากคำนวณจากราคาตั้งต้น ส่วนหนึ่งเพราะสิทธิในคลื่น 850MHz, 1500MHz, 2100MHz และ 2300MHz ในความดูแลของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะหมดอายุในเดือน ส.ค. 2568

6 แถบคลื่น ประกอบด้วย

1.คลื่น 850 MHz จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz เริ่มต้น 6,609 ล้านบาท

2.คลื่น 1500 MHz จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz เริ่มต้น 904 ล้านบาท

3.คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz เริ่มต้น 
6,219 ล้านบาท

4.ความถี่ 2100 MHz (FDD) จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz เริ่มต้น 3,391 ล้านบาท

ADVERTISMENT

5.ความถี่ 2100 MHz (TDD) จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz เริ่มต้น 497 ล้านบาท

6.ความถี่ 2300 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 MHz เริ่มต้น 1,675 ล้านบาท

ADVERTISMENT

7.ความถี่ 26 MHz จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 MHz เริ่มต้น 
423 ล้านบาท

และต้องจับตาดูว่าในการประมูลคลื่นรอบนี้จะมีผู้เข้าแข่งขันที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (Mobile Network Operator : MNO) กี่ราย หรือจะมีเพียง 2 ราย คือ เอไอเอส และทรู ดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์

เปิดทาง MVNO ร่วมชิงคลื่น

อย่างไรก็ตาม “สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธาน กสทช.กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ยังมีความหวังว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าร่วมท้าชิงใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมด้วย ซึ่งหนึ่งในผู้เล่นรายใหม่ที่ว่า คือผู้ให้บริการโทรคมนาคมโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการข้อมูลแบบขายส่ง (Mobile Virtual Network Aggregator : MVNA)

ซึ่งการประมูลคลื่นในครั้งนี้ ใช้วิธีการประมูลแบบ Clock Auction วิธีเดียวกับการประมูลแบบ Multiband ในปี 2563 โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ และมีการนำคลื่นไปใช้ประโยชน์เฉพาะทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Private 5G และ Telemedicine เป็นต้น

“ก็หวังว่าจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตของภาคการเกษตร, การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัย, การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ และการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน”

ประธาน กสทช.กล่าวต่อว่า ตนเพิ่งไปจังหวัดน่านเพื่อมอบรถโมบายสำหรับตรวจรักษาอาการหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องพึ่งพาการทำซีทีสแกนก่อนมาถึงโรงพยาบาล ทำให้ในระยะแรกต้องใช้คลื่นโลว์แบนด์เพื่อการติดต่อสื่อสาร และเมื่อรถเข้ามาใกล้ก็จะต้องใช้คลื่นมิดแบนด์ และไฮแบนด์สำหรับส่งข้อมูลการรักษา ทำให้ในบริการเดียวจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่จำนวนมาก จึงมองว่าการจัดสรรคลื่นแบบ Multiband จะช่วยส่งเสริมบริการในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี

NT สะท้อนความจริงอีกด้าน

“สรรพชัยย์ หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) กล่าวว่า ปัจจุบัน MVNO ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน เช่าใช้งานคลื่นของ NT อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ด้วยค่าบริการโรมมิ่งสูงมาก ทำให้หลายรายขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ได้ บริษัทจึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงข่ายเอง ขณะที่คลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในเดือน ส.ค.นี้ NT ก็จะไม่เข้าร่วมการประมูลด้วย

“NT เรามี MVNO 5 ราย มีลูกค้ารวมกันราวหลักแสนราย เมื่อคลื่นหมดอายุก็จะต้องไปอยู่กับค่ายมือถือรายใหม่แทน แต่ถ้า กสทช.ต้องการให้ NT เข้ามามีส่วนในการผลักดัน MVNO ให้ก็ทำได้ แต่ กสทช.จำเป็นต้องออกกฎระเบียบ เพื่อควบคุมอัตราค่าโรมมิ่งให้เป็นธรรม”

หาวิธีส่งเสริม MVNO

ด้าน “สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์” กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ MVNO ภายใต้โครงสร้างของทีโอที (TOT) และ กสท. (CAT) แต่เดิมไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากต้นทุนค่าโรมมิ่งสูง ขณะที่ NT ไม่มีคลื่นความถี่รองรับหากไม่ต่อใบอนุญาต ทำให้ผู้ให้บริการ MVNO ต้องเร่งหาทางออก โดยพึ่งพาผู้บริการเครือข่ายอื่น

ล่าสุดสำนักงาน กสทช.ให้ที่ปรึกษาต่างประเทศศึกษาตลาด และมีข้อเสนอมาว่าโมเดลการส่งเสริม MVNA (Mobile Virtual Network Aggregator) มีความเป็นไปได้ โดย MVNA จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายหลัก (MNO) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ MVNO เปิดตัวบริการได้ง่ายขึ้น

“MVNA จะดีลกับ MNO นำคลื่นที่ประมูลได้ในลอตใหม่มาขายส่งแก่ธุรกิจต่าง ๆ ช่วยให้ MVNO ดำเนินธุรกิจได้ โดยลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโฟกัสการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น การทำ Private 5G ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Pink MVNO เจาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีกำลังซื้อสูง เป็นต้น”

ผุดโมเดล TIMO

นอกจากนี้ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้เสนอไอเดียเกี่ยวกับ “TIMO” (Thailand Independent Market Operator) ซึ่งหมายถึงผู้ดำเนินการตลาดอิสระที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม MVNO ในธุรกิจโทรคมนาคมากขึ้น

บทบาทของ TIMO คือการเป็น “ตัวกลาง” บริหารธุรกรรมการซื้อขายระหว่าง MVNO และ MNO โดยดำเนินการแบบตลาดซื้อขายสินทรัพย์ในระดับค้าส่ง (Wholesale) มีรายได้จากค่าธรรมเนียม (Commission Fees) เปรียบได้กับ Clearing House ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดขึ้นเพื่อรองรับเงื่อนไขการประมูลที่ผู้ชนะต้องกันความจุโครงข่าย (Capacity) อย่างน้อย 10% ให้ผู้ให้บริการรายอื่นได้เช่าใช้ด้วย

จุดเริ่มต้นของโมเดลนี้เกิดจากการที่ กสทช.มองว่าปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้มี MNO รายใหญ่เพียง 2 ราย จึงอาจไม่มีแรงจูงใจในการให้บริการ Wholesale หรือถ้าต้อง Set Aside ให้รายย่อย/รายเล็กก็อาจนำไปสู่การขายคลื่นความถี่ให้ MNO ในภายหลัง เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการลงทุนที่เพียงพอ

“อธิป กีรติพิชญ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร redONE Thaland หนึ่งในผู้ให้บริการ MVNO แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการ MVNO กำลังเข้าสู่ช่วง Soft Landing ลดการดำเนินงาน และทยอยนำลูกค้าออกจากระบบก่อนหาโฮสต์รายใหม่ ทั้งเชื่อว่าการนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับ TIMO ของ กสทช.จะ “Win-Win” กับทุกฝ่าย

“โมเดล TIMO ยังคงมีความซับซ้อน และยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเงื่อนไขในการประมูลหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ กสทช.เสนอไอเดียนี้ เพื่อส่งเสริมกลไกการแข่งขัน”

กรณีศึกษาในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ TIMO ในหลายประเด็นด้วยกัน เนื่องจากเป็นโมเดลใหม่ที่อยู่ในช่วงของการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตหน้าที่ที่ส่งผลกับความเป็นไปของตลาด และต้นทุนการดำเนินการที่อาจเพิ่มขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าในอุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้าในต่างประเทศมี “ผู้ดำเนินการตลาดอิสระ” เช่นกัน เรียกว่า “IMO” (Independent Market Operator) เพื่อส่งเสริมการซื้อขาย และการจัดหาไฟฟ้าให้กับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และโปร่งใส เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้ง “IEMOP” (Independent Electricity Market Operator of the Philippines, Inc.) เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำหน้าที่ขายส่งไฟฟ้าแบบ Spot (Wholesale Electricity Spot Market : WESM)

สำหรับ TIMO ถือเป็นความพยายามของ กสทช. ที่จะนำโมเดล IMO มาส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมในบ้านเราที่เหลือผู้เล่นน้อยราย แต่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ยังต้องติดตาม