25 ปี “คอมมาร์ต” กับความท้าทายที่ไม่มีแบรนด์หน้าใหม่

commart
บุญเลิศ นราไท

มหกรรมสินค้าไอที “คอมมาร์ต” (COMMART) ครั้งแรกของปีกำลังกลับมาอีกครั้งในวันที่ 6-9 มี.ค. 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมาในคอนเซ็ปต์ “COMMART UNLOCK” ปลดล็อกขีดจำกัดในการซื้อสินค้าไอที ช่วยให้ผู้บริโภคปรับแต่งสเป็กคอมฯ ได้ดียิ่งขึ้น

และที่สำคัญปีนี้ยังเป็นปีที่ 25 ของการจัดงานคอมมาร์ตอีกด้วย หลังการจัดงานครั้งแรกในปี 2543

เป้า 3.3 พันล้านเท่าปีที่แล้ว

“บุญเลิศ นราไท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เออาร์ไอพี (ARIP) ผู้จัดงานคอมมาร์ต กล่าวว่า การจัดงานคอมมาร์ตครั้งแรกของปี 2568 ตั้งเป้าสร้างเงินสะพัดที่ 3,300 ล้านบาท เท่ากับเป้าของงานคอมมาร์ตครั้งสุดท้ายปี 2567 แต่ในงานครั้งที่ผ่านมา สร้างเงินสะพัดได้จริง 3,400 ล้านบาท

“ที่ตั้งเป้างานครั้งนี้ไว้เท่าเดิม เพราะมองตามความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจ และคิดว่ามู้ดการจับจ่ายของคนน่าจะไม่ต่างจากเดิมมาก”

โดยปกติใน 1 ปี คอมมาร์ตจะมีการจัดงานทั้งหมด 3 ครั้ง คือช่วงต้นปี กลางปี และปลายปี โดยช่วงต้นปีเป็นช่วงที่พอจะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่บ้าง แต่ไม่เต็มรูปแบบ กับการนำสินค้าเก่ามาลดราคา ไทม์ไลน์การจัดงานจะหลังงาน CES ประมาณ 2 เดือน ส่วนในช่วงกลางปีจะเป็นช่วงที่สินค้าใหม่มาแบบครบถ้วน ขณะที่ในช่วงปลายปีจะเป็นช่วง Giving Season ที่คนเริ่มซื้อสินค้าเป็นของขวัญ มีการอัดโปรโมชั่นส่งท้าย

“คอมมาร์ตครั้งแรกของปีนี้จะไม่ทันกับช่วงที่มีมาตรการลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว เพราะต้องรอของใหม่ที่จะเปิดตัวในงาน CES ต้นเดือน ม.ค.ก่อน อีกทั้งถ้าจัดเร็วขึ้นก็จะทำให้ไทม์ไลน์การจัดงานครั้งแรกของปี กับงานก่อนหน้าซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีที่ผ่านมาติดกันเกินไปด้วย มีผลกับการจัดสรรงบประมาณด้านการตลาด และการออกบูทของร้านค้าพาร์ตเนอร์”

ADVERTISMENT

ตั้งรับตลาด PC ฟื้น

“บุญเลิศ” กล่าวต่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณภาครัฐที่มาช้ากว่ากำหนดประมาณ 6 เดือน ทำให้เงินไม่กระจายลงมาข้างล่างเท่าที่ควร แต่ในช่วงไตรมาส 3 ได้อานิสงส์จากมาตรการ “เงินหมื่น” เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ตลาดคอมพิวเตอร์ PC เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นมา จนมียอดขายเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 ไตรมาส และน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 นี้ จากความต้องการที่มากขึ้น รวมไปถึงมูลค่าทางธุรกิจของ AI PC ที่ยังเติบโต บวกกับมีตัวเลือกสินค้าที่หลากหลาย

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2568 ยังมีสินค้าใหม่ ๆ เปิดตัวเป็นจำนวนมาก จึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนคอมฯ หรือโน้ตบุ๊กใหม่มากขึ้น เช่น โน้ตบุ๊กที่มีให้เลือกทั้งชิป AI และ ARM เป็นโน้ตบุ๊กติดชิป AI มาพร้อมซีพียู Intel Core Ultra กับ AMD Ryzen AI หรือมาพร้อมการ์ดจอ Intel Arc กับ RTX 40 Series ขึ้นไป ส่วนชิป ARM เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพสูง แต่ประหยัดพลังงาน

“ช่วงต้นปีเป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจเปลี่ยนคอมฯรุ่นใหม่ หรืออัพเกรดคอมฯเก่า รวมถึงยังมีกระแสความนิยม Personal Customization ที่โชว์ความเป็นตัวตนของผู้ใช้ ที่ต้องการปรับแต่ง DIY ได้ตามต้องการ จึงเชื่อว่างานคอมมาร์ตในครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากคนที่กำลังมองหาของใหม่”

ส่องสินค้าขายดีคอมมาร์ต

จากสถิติของงานคอมมาร์ตปลายปี 2567 พบว่าสินค้าขายดีอันดับ 1 ยังเป็นแล็ปทอป และโน้ตบุ๊ก โดยมีสัดส่วนยอดขายกว่า 49% เป็นโน้ตบุ๊กธรรมดา 34% และ AI PC 15% ตามมาด้วยคอมพิวเตอร์เซต และคอมฯ ประกอบ DIY 30% สมาร์ทโฟน 10% GPU/การ์ดจอ 6% และจอมอนิเตอร์ 5%

สำหรับแบรนด์ที่มียอดขายอันดับ 1 คือ Asus ตามด้วยอันดับ 2 Lenovo อันดับ 3 MSI อันดับ 4 Acer และอันดับ 5 HP และในครั้งที่จะถึงนี้ คาดว่าสินค้าขายดีในงานจะเป็นโน้ตบุ๊กที่มีให้เลือกทั้งชิป AI และ ARM รวมถึงการ์ดจอที่รองรับการประมวลผล AI เคสไซซ์มินิ และจอมอนิเตอร์คุณภาพสูงที่มีราคาถูกลง

25 ปี คอมมาร์ต

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการจัดงานคอมมาร์ตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “บุญเลิศ” เล่าว่า ช่วงที่จัดงานในยุคแรก ๆ คนยังไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบดิจิทัล ทำให้การจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องยังต้องเลือกซื้อจากแค็ตตาล็อก หรือหนังสือ COMMART

แต่พอเวลาเปลี่ยน วิถีชีวิตคนเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และมีความเข้าใจการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องปรับตัว และปรับรูปแบบการจัดงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ยังคงจุดแข็งว่า มาที่ “คอมมาร์ต” ได้ลองใช้และจับเครื่องจริงก่อน

“แผนการจัดงานในยุคที่การซื้อสินค้าเป็นแบบ O2O หรือ Online-to-Offline จะคำนึงถึงไทม์ไลน์ในการจัดงานมากขึ้น โดยจะไม่จัดให้ทับกับช่วงดับเบิลเดต หรือวันเลขคู่ เพราะร้านค้าพาร์ตเนอร์ที่มาออกบูทก็ต้องทุ่มการทำตลาดไปที่แคมเปญนั้น ๆ”

ไม่มีหน้าใหม่ในตลาด

ซีอีโอ ARIP ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา คอมมาร์ตไม่เคยลดสเกลการจัดงาน แม้จะเข้าสู่ยุคที่การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตมาก ๆ แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดมากในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คือไม่มีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดเลย ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของร้านค้าปลีก ถ้านึกถึงร้านรีเทลก็หนีไม่พ้น IT City, Advice และ Banana เป็นต้น หรือแม้แต่แบรนด์สินค้า เวลาคนจะซื้อโน้ตบุ๊กสักเครื่อง ก็มักมีแบรนด์ในใจอยู่แล้ว ไม่ได้คิดลองแบรนด์ใหม่ รวมถึงตอนนี้ไม่ได้อยู่ในยุคที่แต่ละแบรนด์มุ่งทำโฆษณาให้คนรู้จักแล้วด้วย

“ตอนนี้ Entry Barrier ของแบรนด์ใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดมีสูงมาก หลายแบรนด์เข้ามาได้พักเดียวก็ต้องออกไป เช่น 10 ปีก่อนมีแบรนด์โน้ตบุ๊กจากไต้หวันเข้ามาเปิดตัวในงานคอมมาร์ต แต่ปัจจุบันออกจากตลาดไปแล้ว เพราะสู้เรื่องการทำตลาดไม่ไหว หรือถ้าเข้ามาใหม่ก็ทำตลาดไปกับเจ้าเดิมดีกว่า ในมุมของคนจัดงานก็พยายามหาหน้าใหม่มาในงานมากขึ้น เช่น เจ้าที่ทำเรื่อง IoT หรือโซลูชั่นสมาร์ทโฮม เป็นต้น”