
นอกจากเทศกาล “วาเลนไทน์” (14 ก.พ.) ที่เวียนกลับมาอีกครั้ง จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของเหล่าคู่รัก ทำให้บรรยากาศโดยรอบอบอวลไปด้วยความอบอุ่น
ฝั่งคนโสดก็ขอใช้โอกาสนี้ในการตามหาใครสักคนมาปิดตายความเหงา และสานสัมพันธ์ เพื่อพัฒนาสถานะเป็นเจ้าของหัวใจ
ถ้าไม่ได้ด้วยพรหมลิขิต ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกลายเป็นตัวช่วยของทุกสิ่ง บรรดาเหล่าคนโสดก็มีตัวช่วย เป็น “แอปหาคู่” (Dating App)
สอดคล้องกับข้อมูลของแอปหาคู่ชื่อดัง “ทินเดอร์” (Tinder) ที่ระบุว่า ช่วงใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ (1 ม.ค.-14 ก.พ.) เป็นช่วงพีกของการใช้ Tinder เรียกได้ว่าคึกคักมากที่สุดในรอบปีก็ว่าได้
โดยในปี 2024 ที่ผ่านมา มีคนโสดเข้ามาอัพเดตประวัติส่วนตัวในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 486 คนต่อนาที มีการส่งข้อความหากันมากกว่า 2.1 ล้านครั้ง และมีการกด Like เพิ่มขึ้น 298 ล้านครั้งทั่วโลกภายในวันเดียว
จากข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า “แอปหาคู่” เข้ามามีอิทธิพลกับการสร้างความสัมพันธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คนโสดเคยใช้แพ็กเกจ แบบ “Freemium” ตามหาคนใหม่ ๆ แบบหอมปากหอมคอ มีไม่น้อยที่ขยับขึ้นมาเป็นแพ็กเกจ “Premium” ยอมจ่ายค่า Subscription เพื่อให้เจอคนที่ใช่ พร้อมสานสัมพันธ์ในระยะยาว
นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจแอปหาคู่ ทั้งในแง่ของมูลค่าตลาด และความหลากหลายที่เจาะไปตามเซ็กเมนต์ของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม เช่น Grindr เน้นฐานผู้ใช้กลุ่ม LGBTQ+ และ Muzz สำหรับใช้งานในกลุ่มชาวมุสลิมโดยเฉพาะ
รายงาน Dating App Report 2024 โดย Business Of Apps ระบุว่า มูลค่าตลาดแอปหาคู่ทั่วโลกปี 2023 อยู่ที่ 5.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.8 ล้านล้านบาท) โตจากปี 2022 กว่า 8% และมีผู้ใช้งานกว่า 349 ล้านราย
โดย Top 3 ของแอปหาคู่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในปี 2023 ได้แก่ Tinder, Bumble ที่ขับเคี่ยวกับ Tinder อย่างหนักในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และ Hinge ที่เน้นผู้ใช้กลุ่มที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว
ปัจจุบัน Tinder ให้บริการใน 190 ประเทศ มีฐานผู้ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 50 ล้านรายต่อเดือน ซึ่งในปี 2023 มีรายได้กว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (6.42 หมื่นล้านบาท) และยังเป็นแอปที่สร้างปรากฏการณ์ “Swipe” ปัดขวาให้แมตช์กับคนที่ถูกใจให้โด่งดังไปทั่วโลก
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่ Tinder ส่งมารักษาตำแหน่งผู้นำตลาดแอปหาคู่ในปีนี้ คือการพัฒนาหน้า “Explore” ซึ่งเป็นพื้นที่บนแอปที่ปรับแต่งตามความต้องการส่วนบุคคล ด้วยการจัดระเบียบโปรไฟล์ตามหัวข้อความสนใจที่มีร่วมกัน เช่น นักดูซีรีส์มาราธอน, เดตที่ร้านกาแฟ และคนรักธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้หาคู่เดตได้ตรงใจ และตรงกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต้องการมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะรายละเอียดมาที่ประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลของ Statista จะพบว่า มูลค่าตลาดแอปหาคู่ปี 2025 มีโอกาสแตะถึง 10.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (353 ล้านบาท) และโตต่อเนื่องเป็น 11.19 ล้านเหรียญสหรัฐ (378 ล้านบาท) ในปี 2029
ในแง่จำนวนผู้ใช้พบว่าปี 2025 มีอัตราการเข้าถึงบริการ (Penetration Rate) ที่ 4.3% ของจำนวนประชากร และจะขยับขึ้นเป็น 4.9% ภายในปี 2029 หรือประมาณ 3.3 ล้านคน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าคนโสดยุคดิจิทัลจำนวนไม่น้อย หันมาพึ่งพิง “แอปหาคู่” มากขึ้น