รุมทึ้ง Intel

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

บิ๊กเทคฯ ไม่น้อยกว่า 3 ราย กำลังจ้องเขมือบ-จับแยกส่วนยักษ์ชิปสหรัฐ Intel แม้ว่าผลประกอบการและมูลค่าหุ้นจะอยู่ในสภถานการณ์ย่ำแย่ ตกต่ำลงตลอด 5 ปี แต่ก็มีหลายส่วนที่ยังน่าดึงดูดใจให้เหล่าบิ๊กเทคฯ เข้าหาอยู่มาก 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสลือหนาหูกระพือมาจาก The Wall Street Journal ว่า บริษัท Broadcom ผู้ผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์ และโครงสร้างโทรคมนาคม และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ยักษ์ใหญ่ด้านชิปอีกราย กำลังเสนอข้อตกลงที่เป็นไปได้ที่จะเข้าซื้อกิจการของ Intel Corporation “อดีต” เบอร์หนึ่งของผู้ผลิตชิปในโลก

WSJ ระบุว่า Broadcom สนใจซื้อสินทรัพย์ทางปัญญาและกระบวนการออกแบบผลิตชิป ตระกูล Xeon และ Core ซึ่งเป็นชิปสำคัญในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก รวมถึงธุรกิจจับตาธุรกิจออกแบบและทำตลาด (Marketing Business)

ในขณะที่ TSMC กำลังสนใจ ซื้อ “โรงหล่อชิป” ซึ่ง Intel เพิ่งผ่านนโยบายให้กลับมาตั้งโรงงานหล่อชิปบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐ ตามนโยบาย Chips Act ของรัฐบาลสหรัฐ

แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันจากทั้ง 3 บริษัท แต่ก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีนักในองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง Intel ที่มูลค่าหุ้นร่วมลงถึง 60% ในปีที่ผ่านมา จนต้องปลดพนักงาน 15%

ชะตากรรมของ Intel ที่เรียกได้ว่าเป็น “หน้าตา” ของสหรัฐ ส่งความกังวลถึงรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่า Intel คือหนึ่งในบริษัทสำคัญด้านความมั่นคงของชาติ

ADVERTISMENT

โดยตั้งแต่ปลายปี 2022 ที่ผ่านมา Intel พยายามจะเปลี่ยนแปลงทิศทางของบริษัท หลังเผชิญแรงกดดันจาก “สงครามชิป” ก็ได้บรรลุแนวคิดย้ายฐานผลิตกลับสู่มาตุภูมิ สอดคล้องกับ CHIPS Act of 2022 ที่ทำให้ Intel ได้รับงบฯสนุนนจากรัฐบาลกว่า 7.9พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเร่งตั้งโรงงานหล่อชิปที่แอริโซนา

ทำให้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกกิจการโรงงานผลิตชิปของตัวเอง ออกจากบริษัทหลกที่ทำการตลาดและออกแบบชิป เพื่อให้มีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นอิสระ โดยรับคำสั่งผลิตจากทีมออกแบบชิปของบริษัทในลักษณะเดียวกับการรับจากลูกค้าภายนอก

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ Intel มีสะสมมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสียเปรียบในการผลิตชิปที่มี ทรานซิสเตอร์ขนาดเล็ก สำหรับอุปกรณ์พกพาแบบใหม่ อย่างสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์ซึ่งกลายเป็นกระแสหลักของโลก แทนคอมพีซีและเซิร์ฟเวอร์ โดยมี ARM และ Qualcomm ผู้ผลิตชิปมือถือเบียดมาร์เก็ตแชร์อย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา Qualcomm เป็นยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งรายที่สื่อนอกจำนวนมากโหมข่าวว่ากำลังแสดงท่าทีต้องการเข้าซื้อกิจการของ Intel ในช่วงที่ Pat Gelsinger ซีอีโอ Intel ในขณะนั้น กำลังจะลงจากตำแหน่ง ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาว มองว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนข้อตกลงในกรณีที่จะให้ Intel ถูกซื้อโดยบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนของโรงหล่อชิป ด้วยดีลที่เกี่ยวข้องกับโรงหล่อชิปจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐ ตามกฎหมาย CHIPS Act ที่ Intel ถูกกำหนดให้ต้องรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ในโรงหล่อที่แยกตัวเพื่อให้ขึ้นตรงกับผู้กำกับดูแลตามนโยบายชิป

ดังนั้นไม่ว่าภูมิทัศน์ด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจะทำให้ยักษ์ Intel จะล้มลุกคลุกคลานน่า “รุมทึ้ง” เพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Intel เป็น “หน้าตา” ของสหรัฐอเมริกาในสงครามเทคโนโลยีของยุคนี้ที่ข้อเสนอใด ๆ ล้วนท้าทายภาพความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีของประเทศ