
“ดีอี” เดินหน้านโยบาย “Cloud-First Policy” มุ่งสร้าง Digital Government-ผลักดันการทำงานแบบไร้กระดาษ เพิ่มความเร็วในการให้บริการประชาชน หวังยกระดับขีดความสามารถดิจิทัลของไทยสู่อันดับ 30
ศ.พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวผ่านการบรรยายหัวข้อ “ดิจิทัล-ไซเบอร์ สู่ความเชื่อมั่น” ในงานสัมมนา “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” ว่า “ดิจิทัล” เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สะท้อนผ่านตัวเลขการใช้อีเพย์เมนต์ (e-Payment) ที่มีมูลค่า 8 ล้านล้านบาทต่อปี และมูลค่าของอีคอมเมิร์ซที่ดำเนินการในปัจจุบันกว่า 6 ล้านล้านบาทต่อปี สูงกว่างบประมาณในการบริหารงานแผ่นดินที่มีอยู่ราว 3 ล้านล้านบาทต่อปีเท่านั้น
“เรื่องของ ‘ดิจิทัล’ และ ‘ความเชื่อมั่น’ จะเชื่อมกันได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันระดับไหน จากการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD (International Institute for Management Development) พบว่าปีที่ผ่านมาไทยอยู่ที่อันดับ 37 ส่วนเป้าหมายของกระทรวงดีอี คือการผลักดันให้ไทยอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งเป็นระดับท็อปของโลก”
การชี้วัดของ IMD เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย 1.องค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล ซึ่งมีส่วนที่วัดจากคะแนนสอบบางรายการด้วย เช่น PISA ที่วัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ 2.ความสามารถด้านดิจิทัล เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ระบบแพลตฟอร์ม และ 3.ความพร้อมในการดำเนินงานในอนาคต เช่น การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
“เรื่องของการใช้เทคโนโลยี ความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ไทยไม่เป็นสองรองใคร เคยขึ้นไปถึงอันดับที่ 18 ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลและกระทรวงดีอีมีความตั้งใจและภารกิจที่กำลังทำ เพื่อยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลให้ดีขึ้น”
ศ.พิเศษ วิศิษฏ์กล่าวต่อว่า ไทยมีความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีความพร้อมทั้งการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายและพลังงานที่ใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ จึงพยายามดึงดูดการลงทุนจากผู้ให้บริการในไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานด้านดิจิทัลที่มากขึ้น โดยเป็นการลงทุนในระดับที่สูงกว่า 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท
ต่อเนื่องมาจนถึงบริการคลาวด์ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำระบบของแต่ละหน่วยงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายของภาค ซึ่งรัฐบาลได้นโยบาย “Cloud-First Policy” กำหนดว่าใครต้องใช้คลาวด์ในการทำงานอย่างไร รวมถึงยังยกระดับการทำงานผ่านระบบดิจิทัล หรือ Paperless Document ซึ่งมีหลายกระทรวงที่นำร่องไปก่อนแล้ว เช่น กระทรวงดีอี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพาณิชย์
“รัฐบาลได้สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือบริการ Software as a Service ซึ่งปีหน้าจะมีบุคลากรภาครัฐใช้งานกว่า 1 ล้านคน ปัจจุบันใช้งานไปแล้วกว่า 1 แสนคน เชื่อว่าจะมีการสเกลอัพที่เร็วมาก เพราะมีหน่วยงานที่ทยอยเข้ามาใช้ระบบนี้เรื่อย ๆ จนกลายเป็น Digital Government ที่เชื่อมโยงการบริการประชาชนผ่าน Digital ID ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในไทยมีผู้ใช้งาน Digital ID แล้วไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน”
ปลัดกระทรวงดีอีทิ้งท้ายด้วยว่า นอกจากเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การดึงเม็ดเงินที่อยู่ใต้ระบบให้กลับมาหมุนเวียนในระบบได้นานขึ้น และเรื่องของการพัฒนาคนให้มี Digital Literacy ซึ่งกระทรวงดีอีจับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการทำระบบ Learn to Earn ผูกประวัติการเรียนรู้เข้ากับระบบ Digital ID เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้นายจ้างเอาไปใช้ในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ
“สิ่งที่กระทรวงดีอีทำมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่การทำงานให้กับกระทรวงดีอี แต่เป็นการยกระดับทุกกระทรวงให้มีความพร้อมกับการทำงานในโลกดิจิทัล”