หนังชีวิต กว่า Apple จะได้ใช้ชิป 5G ของตัวเอง เพื่อความ ‘เสถียร’ อีกขั้น

เปิดเรื่องราววิบากกรรมชิปโมเด็มของ Apple ที่พัฒนามา 5 ปี ในที่สุดก็ได้ใช้C1″ แล้ว เตรียมใช้ในไลน์อัพ iPhone17 แม้ยังไม่รองรับคลื่น mmWave แต่เชื่อมต่อ GPS โดยตรง แต่พร้อมปรับปรุงให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสําหรับสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์

Apple inc. ได้เปิดตัว iPhone 16e สมาร์ทโฟนรุ่นประหยัดไปเมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา รายละเอียดอีกส่วนที่น่าสนใจคือ เป็นผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนแรกที่ Apple ดีไซน์เพื่อรองรับชิปโมเด็ม หรือชิป 5G ที่ผลิตเองเรียกว่า Apple C1 เพื่อทำงานควบคู่กับชิปประมวลผล A18 ซึ่ง C1 เป็นโมเด็มที่ประหยัดพลังงานที่สุดเท่าที่เคยมีมาบน iPhone ซึ่งให้การเชื่อมต่อเซลลูลาร์ 5G ที่รวดเร็วและมีความ “เสถียร” เชื่อถือได้

ก่อนหน้านี้ Apple ใช้ชิป 5G จากบริษัท Qualcomm เนื่องจากยังไม่สามารถพัฒนาชิปของตัวเองได้ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่แน่นอนให้กับ Apple ในฐานะของผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างมาก เพราะ Qualcomm เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทำให้ได้เปรียบต้นทุน ในการนี้ Apple ฟ้องร้อง Qualcomm ในปี 2017 เรียกค่าเสียหาย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอ้างว่า Qualcomm เก็บเงินแพงเกินไป มีลักษณะการใช้อำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาดชิปโมเด็ม

จนกระทั่งช่วงวิกฤตชิปขาดแคลนในปี 2019 ชิปที่มีไม่เพียงพอในการผลิต Apple เห็นว่ายังต้องพึ่งพาการสั่งซื้อชิปจาก Qualcomm จึงยอมความจ่ายเงินที่ติดไว้เพื่อยุติปัญหา ทำให้ Apple ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลดการพึ่งพา Qualcomm ให้ได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ดีลยอมความของ Apple แลกมาด้วยการทำสัญญาผูกพันระยะยาวกับ Qualcomm โดย Apple ต้องซื้อชิปโมเด็ม 5G Snapdragon สำหรับใช้ในสมาร์ทโฟนของปี 2024, 2025 และ 2026 โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของดีลดังกล่าว

ในปีเดียวกัย 2019 ทาง Apple ทุ่มเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อหน่วยธุรกิจโมเด็มของ Intel และได้ถือสิทธิบัตรเทคโนโลยีไร้สายมากกว่า 17,000 รายการ ตั้งแต่โปรโตคอลสําหรับมาตรฐานเซลลูลาร์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมโมเด็มและการทํางานของโมเด็ม Intel จะยังคงสามารถพัฒนาโมเด็มสําหรับแอปพลิเคชั่นที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เช่น พีซี อุปกรณ์ Internet of Things และยานพาหนะไร้คนขับ นอกจากนี้ยังถ่ายโอนทรัพยากรบุคคลกว่า 2 พันคน เข้าร่วมการพัฒนาชิป 5G ให้สำเร็จให้จงได้

ADVERTISMENT

ชิป 5G ต้องทำในระบบเปิด ยากยิ่งกว่าหนังชีวิต

แม้จะอยู่ใต้ภาวะบีบคั้น แต่การพัฒนาชิปโมเด็ม 5G ใหม่ ยากกว่าการพัฒนาชิปสำหรับการประมวลผลของ Apple เองที่พวกเขาเชี่ยวชาญมาหลายสิบปี ดังนั้นระหว่างการพัฒนามาตลอด 5 ปี ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด

ในช่วงนั้น The Wall Street Journal มีรายงานพิเศษถึงปัญหาของการพัฒนาชิปโมเด็มของ Apple ตามแผนงานแรกต้องการนำมาใช้กับ iPhone รุ่น 15 แต่ผลทดสอบเมื่อปลายปี 2022 พบว่านอกจากความเร็วรับส่งจะไม่ดี ชิปยังร้อนมากด้วย แผงวงจรที่ต้องใช้ก็มีขนาดใหญ่เกินไป กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของ iPhone ทำให้ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้

ADVERTISMENT

รายงานอ้างถึงผู้บริหารของ Qualcomm ที่เปิดเผยว่าการพัฒนาชิปโมเด็มสำหรับรับส่งข้อมูลกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นซับซ้อนกว่าการทำชิปประมวลผลที่ติดต่อเฉพาะในอุปกรณ์มาก เพราะเป็นระบบเปิดที่ต้องรองรับการทำงานของคลื่นตามมาตรฐานแต่ละประเทศทั่วโลก แค่รองรับ 5G รุ่นล่าสุดนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องรองรับถอยไปจนถึง 2G 3G 4G สำหรับบางประเทศ สิ่งที่กินเวลามาก คือ กระบวนการทดสอบที่ต้องทำกับเครือข่ายมือถือแต่ละแห่ง

ดังนั้น การพัฒนาชิปเซตประมวลในระบบปิดเฉพาะอุปกรณ์จึงง่ายกว่า ชิปโมเด็มที่รองรับคลื่นความถี่สากล จึงประเมินว่า Apple ทำไม่สำเร็จใน iPhone รุ่นที่ 15-16

ชิป C1 เพื่อความ “เสถียร” ยิ่งขึ้น

การเปิดตัว iPhone16e ซึ่งเริ่มใช้ชิปโมเด็ม C1 ชิปที่ผลิตเองครั้งแรก นับเป็นก้าวสำคัญของ Apple สามารถทำเทคโนโนยีการเชื่อมต่อไปรองรับอุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบนิเวศผลิตภัณฑ์ของตนได้รวดเร็ว และ “น่าเชื่อถือ” หรือภาษาหนึ่งคือ “เสถียร” ขึ้น

“Johny Srouji” รองประธานอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ของ Apple ได้เปิดเผยกับ Reuters ว่า โมเด็มใหม่เป็นเพียงขั้นตอนแรกซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มสําหรับผลิตภัณฑ์อีกหลายรุ่น และเราจะปรับปรุงเทคโนโลยีนั้นต่อไปในแต่ละรุ่น เพื่อให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์มสําหรับเราที่จะใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับเทคโนโลยีนี้สําหรับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอย่างแท้จริง

“แม้ว่าโมเด็มของ Apple จะไม่รองรับ mmWave แต่ก็มีการเชื่อมต่อ GPS และดาวเทียมแบบกําหนดเอง สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อผู้ใช้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายข้อมูลมือถือได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม”

กระทบ Qualcomm

ดังที่กล่าวไปว่า การพยายามพัฒนาชิปโมเด็มของแอปเปิล คือ การลดการพึ่งพา Qualcomm ตามดีลเดิมที่แอปเปิลเคยตกลงซื้อชิปโมเด็ม ถึงปี 2026 ประเมินว่าบริษัทจะเป็นผู้ส่งมอบชิปให้กับแอปเปิล คิดเป็น 20% ของสมาร์ทโฟนที่แอปเปิลผลิตในปี 2026 และขยายต่อถึงปี 2027 

แต่เมื่อชิปโมเด็มของ Apple พร้อมแล้ว ชิปจาก Quacomm ยังจำเป็นไหม

“Srouji” กล่าวด้วยว่า โมเด็มใหม่ของ Apple ไม่ได้มีไว้เพื่อแข่งขันกับชิปที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายอื่น ๆ อย่าง Qualcomm, MediaTek และอื่น ๆ แต่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของ iPhone 16e และอุปกรณ์ในอนาคตโดยเฉพาะ เพื่อกําลังสร้างสิ่งที่แตกต่างอย่างแท้จริง ซึ่งลูกค้าของเราจะได้รับประโยชน์

นอกเหนือจาก iPhone 17 Air แล้ว Apple ยังสามารถเลือกใช้โมเด็มแบบกําหนดเองในผลิตภัณฑ์ระดับเริ่มต้นอื่น ๆ โดยค่อย ๆ เปิดตัวในช่วงสามปี เราสามารถเห็น MacBook ที่เปิดใช้งานเซลลูลาร์อันเป็นผลมาจากความพยายามเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากไทมไลน์ ในข้อตกลงระหว่าง Apple- Qualcomm ถึงปี 2027 จึงมีการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่า Apple จะเลิกใช้ชิปโมเด็ม Qualcomm ภายในปีเดียวกัน และ Apple มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะพัฒนาโมเด็ม Apple รุ่นต่อไปให้สนับสนุนคลื่นความถี่ mmWave

ดังนั้น ด้วยความเป็นไปได้จากข่าวหลุดก่อนหน้านี้ว่าในไลน์อัพผลิตภัณฑ์ iPhone 17 ที่จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือน จะมีรุ่นย่อยอีกรุ่น คือ iPhone 17 Air จะเริ่มใช้ชิป C1 ของ Apple ก่อนในขณะที่รุ่นหลักอย่าง 17Pro-Pro Max อาจจะใช้ชิปโมเด็มเดิมก็เป็นได้