
“สิ่งที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทยได้ ต้องทำลายภาพจำ ประชาชนไม่เชื่อว่าเราสามารถเป็นรัฐบาลดิจิทัล ถ้าท่านไม่เชื่อ ท่านไปที่กระทรวงดีอี ท่านจะไม่พบกระดาษแม้แต่ใบเดียว”
เป็นประโยคปิดท้ายของ “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มาบรรยายในหัวข้อ “ดิจิทัล-ไซเบอร์ สู่ความเชื่อมั่น” ในงานสัมมนา “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” ถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัลที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ
“วิศิษฏ์” เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ความเชื่อมั่นทางด้านดิจิทัล” เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรประชาชน ภาคธุรกิจทั้งในและต่างชาติจึงจะเกิดความเชื่อมั่น
“ความเชื่อมั่นจะเกิดก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ ความเข้าใจ แล้วรู้ว่าเราจะไปทางไหน ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราสามารถที่จะรู้ว่าประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในเรื่องนั้น ๆ ดีหรือไม่ดี สามารถที่จะมองในเชิงลึกได้หรือไม่”
ในโลกมีการวัดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดยหน่วยงานที่มีความเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบันนี้ คือ IMD (International Institute for Management Development) พบว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37 ขณะที่เป้าหมายของกระทรวงดีอี คือการผลักดันให้ไทยขึ้นไปอยู่อันดับที่ 30 ซึ่งเป็นระดับท็อปของโลกให้ได้
การชี้วัดของ IMD มาจากหลายปัจจัย 1.องค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล ซึ่งมีส่วนที่วัดจากคะแนนสอบบางรายการด้วย เช่น PISA วัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ 2.ความสามารถด้านดิจิทัล เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ระบบแพลตฟอร์ม และ 3.ความพร้อมในการดำเนินงานในอนาคต เช่น การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
“เรื่องการใช้เทคโนโลยี ความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ประเทศไทยไม่เป็นสองรองใคร เราเคยขึ้นไปถึงอันดับที่ 18 ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาล และกระทรวงดีอีมีความตั้งใจและภารกิจที่กำลังทำ เพื่อยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลให้ดีขึ้น”
จิ๊กซอว์ชิ้นแรก “ดาต้าเซ็นเตอร์”
ปัจจัยต่อมาเรื่องความสามารถด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เชื่อมต่อ แท็บเลต มือถือ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่รัฐบาล และเอกชนลงทุนสร้างว่ามีความพร้อม มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ
ปัจจัยที่ 3 ความพร้อมในการดำเนินงานในอนาคต กฎหมายที่มีรองรับ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และที่สำคัญ คือ การตั้งเป้าที่จะเป็น “รัฐบาลดิจิทัล”
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ ในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน มีความพร้อมทั้งการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายและพลังงานที่ใช้สำหรับ “ดาต้าเซ็นเตอร์” จึงพยายามดึงดูดการลงทุนจากผู้ให้บริการทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานด้านดิจิทัลที่มากขึ้น โดยเป็นการลงทุนในระดับที่สูงกว่า 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท
ปลัดกระทรวงดีอีย้ำว่า สาเหตุไม่ใช่เพราะดาต้าเซ็นเตอร์จะนำไปสู่การจ้างงาน แต่เป็นสิ่งที่รองรับ “ความต้องการใช้งานด้านดิจิทัล” ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะหากสร้างดีมานด์จากการใช้ แต่ไม่มีโครงสร้างรองรับจะเป็นปัญหา
ปักหมุดรัฐบาลดิจิทัล
อีกส่วนคือ ความพยายามที่จะสร้าง “รัฐบาลดิจิทัล” ซึ่งเป็นหน่วยวัดสำคัญของ IMD ในการวัดความสามารถของรัฐบาลผลักดันให้ภาครัฐต้องมีบริการ “คลาวด์” ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านั้นต้องเก็บประมวลผลบนแผ่นดินไทย และในปีหน้าระบบงานภาครัฐทั้งหมดจะขึ้นบนคลาวด์ ทำให้เป็น “ภาครัฐไร้กระดาษโดยสมบูรณ์” จะลดค่าใช้จ่ายลงมหาศาล
นโยบาย “Cloud-First Policy” กำหนดชัดเจนว่าใครต้องใช้คลาวด์ในการทำงานอย่างไร รวมถึงยังยกระดับการทำงานผ่านระบบดิจิทัล หรือ Paperless Document อีกด้วย
“หน่วยงานภาครัฐจำนวนมากในขณะนี้ ทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ท่านอาจไม่เชื่อก็ได้ แต่เราไปแล้ว เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายตัว ซึ่งมีหลายกระทรวงนำร่องไปก่อนแล้ว เช่น กระทรวงดีอี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพาณิชย์”
โดยรัฐบาลได้สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือ บริการ Software as a Service ซึ่งในปีหน้าจะมีบุคลากรภาครัฐใช้งานกว่า 1 ล้านยูสเซอร์ ปัจจุบันใช้ไปแล้วกว่า 1 แสนยูสเซอร์ เชื่อว่าจะมีการสเกลอัพที่เร็วมาก จะเห็นโลกเปลี่ยนแปลงที่ราชการ กลายเป็น “Paperless”
เมื่อหลังบ้านไร้กระดาษ จะทำให้การก้าวข้ามอุปสรรคในการติดต่อราชการเป็นไปได้
“เพราะเรามี Digital ID ที่มีประชาชนใช้งานกว่า 30 ล้านคนแล้ว เติบโตอย่างรวดเร็ว การใช้ดิจิทัลไอดีจะช่วยให้ประชาชนติดต่อ ยื่นคำร้อง ดำเนินการต่าง ๆ กับหน่วยงานภาครัฐได้ โดยที่ไม่ต้องไปสถานที่ราชการ ต่อไปแม้แต่การจดทะเบียนที่ดิน ท่านก็ไม่ต้องไปกรมที่ดินลดต้นทุนในการเดินทางติดต่อได้มาก”
ทั้งหมดคือจุดเชื่อมโยงว่าโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ ดาต้าเซ็นเตอร์ นำมาสู่การสร้างรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างไร
ระบบชำระเงินของรัฐ
และในการยกระดับความสามารถดิจิทัล สิ่งที่ต้องสร้างมีอีกหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ “อีเพย์เมนต์” เป็นประเด็นสำคัญ จากการที่ GDP ประเทศโตช้า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหา “เงินลงไปใต้ระบบ” ถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแล้วดึงเม็ดเงินที่ไหลลงไปใต้ระบบอย่างกรณีการหลอกลวงออนไลน์ก็ระดับหมื่นล้าน
อีกส่วนที่อาจมองข้ามไป คือ เงินอุดหนุนจากราชการที่จ่ายออกไป ไหลลงใต้ระบบอย่างรวดเร็ว จะนำไปชำระหนี้นอกระบบ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าสามารถสร้างระบบชำระเงิน ที่รู้ได้ว่าเงินที่จ่ายจากราชการไป แล้วไปจ่ายตรงไหน โดยเฉพาะที่ไม่ได้ลงไปใต้ดิน จะเป็นการเปลี่ยนโลกที่ทำให้รู้ว่าเงินเป็นแสนล้าน ไม่ว่าจากโครงการอะไรที่ใส่เข้าไปในระบบอยู่ตรงไหน ทำให้เงินหมุนในระบบนานขึ้น
เติมคอนเทนต์ต่อจิ๊กซอว์ “คน”
การพัฒนา Digital Literacy และ Digital Manpower เป็นเรื่องสำคัญของการแข่งขันดิจิทัล กระทรวงดีอีจึงจับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการทำระบบ Learn to Earn ผูกประวัติการเรียนรู้เข้ากับระบบ Digital ID เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้นายจ้างเอาไปใช้ในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ
“เราต้องทำอะไรก็ได้ให้ดิจิทัลมาย่นย่อการศึกษาให้เร็วขึ้น มีโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่หลายคนมองว่าไม่น่าเป็นประโยชน์มากนัก คือ การซื้ออุปกรณ์ไอที แท็บเลตไปให้คนใช้ แต่การมีอุปกรณ์เหล่านี้ให้เด็กไทยใช้เป็นหน่วยวัดด้านการแข่งขันดิจิทัลเช่นกัน เพราะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลได้ทุกคน เราจะสามารถเพิ่มเด็กที่มีทักษะ และการ เข้าถึงดิจิทัลได้มากกว่า 4 แสนคนต่อปี”
ปลัดกระทรวงดีอีกล่าวต่อว่า กระทรวงดีอีเห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการในการแจกอุปกรณ์ แต่เห็นว่าการแจกเฉย ๆ อาจไม่พอ ต้องมีคอนเทนต์ที่ดีที่เพิ่มเติมให้ได้ ไม่ว่าระบบภาษา คณิตศาสตร์ พื้นฐานคอมพิวเตอร์ เพราะทุกวันนี้ระยะเวลาการศึกษาหดสั้นลง เรียนแล้วใช้เลย สิ่งที่ต้องทำคือต้องสร้างระบบการศึกษาที่ทำให้รู้ว่า ใครเรียนอะไร เพื่ออะไร
“เป็นส่วนที่เราจะเพิ่มเติมอะไรให้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการร่วมกันทำ Data Credit Bank จาก Learn to Earn สามารถบอกได้จากดิจิทัลไอดีว่า คุณเรียนอะไรมา ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบการศึกษา ขณะนี้เราลงทุนไปแล้ว ข้อมูลในเครดิตแบงก์ ไม่ว่าจะอยู่ในกระทรวงใดก็ตามจะรวมกันให้นายจ้างสามารถเข้ามาพัฒนา และจ้างคุณทำงานได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงดีอีทำมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่การทำงานให้กระทรวงดีอี แต่เป็นการทำงานให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อยกระดับโลกดิจิทัลไทย
ลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัล
“วิศิษฏ์” ย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า จิ๊กซอว์สุดท้ายที่เป็นจุดอ่อน คือ ช่องว่างทางดิจิทัลหรือ Digital Divide เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ เพราะเมื่อเราบอกให้คนเข้าระบบดิจิทัลแล้ว ถ้าไม่ดูแลให้คนที่เข้าโลกดิจิทัลไม่ได้ จะเป็นปัญหาร้ายแรงทางสังคม
“ดิจิทัลดีไวด์ ที่คนส่วนใหญ่คิด คือ คนชายขอบที่อยู่ห่างไกล อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ตรงนี้แก้ได้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำในอนาคต แต่ว่าท่านเชื่อไหมว่า คนที่อยู่ข้าง ๆ ท่านในเมือง อาจไม่สามารถเข้าโลกดิจิทัลได้ เพราะเขาอาจไม่มีเงิน เขาอาจจะเป็นคนพิการ เขาอาจไม่มีความรู้ ความสามารถ นี่คืออีกสิ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯต้องจับมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเราได้เสนอหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการให้ดิจิทัลคูปองกับคนพิการ หรือคนที่มีฐานะยากจน”
ท้ายที่สุดมั่นใจว่าการขับเคลื่อนตัวชี้วัดจำนวนมากที่กล่าวไปได้ จะทำให้หลายสิ่งกำลังจะเห็นผลเป็น “รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ” ภายในปีนี้ ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอีเพย์เมนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และอื่น ๆ ก็ได้เริ่มไปแล้ว ที่เหลือคือการดูแลโครงสร้างทั้งหมด และกำลังคนที่ต้องเดินทางร่วมกัน