
อนุฯ สว.ดึง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หลังขึ้นค่าธรรมเนียมต่อเนื่อง หวังช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทย ฟาก “ETDA” แนะใช้การกำหนดเพดานราคาที่เคยใช้ในช่วงโควิดมาเป็นแนวทาง
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Creden.co และ PaySolutions ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุฯได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ถึงแนวทางที่จะช่วยดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ประเภท e-Marketplace เนื่องจากที่ผ่านมาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีการขึ้นค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย
“ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถึงเรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียม และผู้ให้บริการขนส่งอย่างไปรษณีย์ไทย ในเรื่องการถูกกีดกันการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงกรณีผู้ค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าของตนได้”
ล่าสุดในการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญ กขค.เข้ามาหารือ ซึ่งตอนแรก กขค.มองว่าไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซโดยตรง แต่ได้พยายามอธิบายว่า ที่เขาขึ้นราคาได้ อาจเพราะมีลักษณะของการทุ่มตลาดมาก่อน และเมื่อแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้น อีกแพลตฟอร์มก็ขึ้นตาม ทั้งกีดกันไม่ให้ผู้จัดส่งพัสดุบางรายเข้ามารับส่งสินค้า อันจะนำไปสู่การผูกขาดระบบขนส่ง เป็นต้น
นายภาวุธกล่าวด้วยว่า ยังมีลักษณะหลายประการที่เข้าข่ายการใช้อำนาจเหนือตลาด ซึ่งถือเป็นอำนาจกำกับดูแลของ กขค.
“คำถามสำคัญที่อยากทราบ คือจะขึ้นค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มไปถึงเมื่อไหร่”
อีกส่วนที่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก คือการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ปกปิดข้อมูลลูกค้าไม่ให้บรรดาร้านค้าเข้าถึง กล่าวคือคนที่ขายของบนแพลตฟอร์มจะไม่ทราบว่ากลุ่มลูกค้าของตนเองเป็นใคร มีการปิดเบอร์ ปิดชื่อ โดยอ้างว่าเป็นการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถทำการตลาดไปยังลูกค้าได้ด้วยตนเองได้ หรือย้ายลูกค้าไปพึ่งแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ อาจนับได้ว่าเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง
สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยทำได้ในวันนี้ คือลดการพึ่งพาแพลตฟอร์ม พยายามย้ายไปช่องทางอื่น ๆ แต่ยากเพราะไม่มีข้อมูล
นายภาวุธกล่าวด้วยว่า เมื่อ กขค.เข้าใจปัญหาแล้ว ได้รับปากว่าจะมีการหาแนวทางในการดูแล
“ในที่ประชุมมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA อยู่ด้วย เขาได้แนะว่าเรื่องค่าธรรมเนียมเคยมีการผลักดัน ‘เพดาน’ ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม และการจัดส่งอาหารในช่วงโควิดที่อาจนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อได้”
หลังจากนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากฝั่งแพลตฟอร์มด้วยว่ามีความคิดเห็น และแนวทางอย่างไร โดยตลอดปี 2567 ทั้ง Shopee Lazada และ TikTok ขึ้นค่าธรรมเนียมแล้ว 2 ครั้ง คือในเดือนเมษายน และอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม แม้จะเป็นการขึ้น 1% ไป 2% แต่เท่ากับต้นทุนเพิ่มขึ้น 1 เท่า
ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมการขึ้นค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไว้ โดยในช่วง เม.ย. 2567 “ช้อปปี้” ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมสินค้ารายกลุ่ม เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) เพิ่มเป็น 6% จากเดิม 5% ของราคาสินค้า, สินค้าบางประเภทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Exceptions of Electronics Items) เป็น 5% หรือ 8% จากเดิม 6% ส่วนสินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Nonelectronics Items) จะอยู่ที่ 5-8% จากเดิม 7%
ส่วนค่าธรรมเนียมสำหรับ Nonmall Sellers แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Nonelectronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น (Fashion Cluster) คิด 6% จากเดิม 5% รวมถึงสินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยของสินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น 5% จาก 4% ของราคาสินค้า
ขณะที่ Lazada ได้ปรับค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลซ (Marketplace Service Fee) มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2566 ในบางหมวดหมู่ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องเสียง กล้อง โดรน ฯลฯ) 4% จากเดิม 3%, สินค้าแฟชั่น (กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ) 5% เดิม 4%, สินค้าอุปโภค-บริโภค 4% เดิม 3% และสินค้าทั่วไป 4% จากเดิม 3%
สำหรับ TikTok Shop ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่น เดิมคิดอัตราคงที่ 4% มาเป็นการคิดแตกต่างกันตามหมวดหมู่ย่อยของสินค้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็นสินค้าแฟชั่น 4.00-5.35%, สินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) 4.28%, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 4.28%, สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องครัว 4.28%
โดยตลอดปี 2567 ทั้ง Shopee Lazada และ TikTok ขึ้นค่าธรรมเนียมแล้ว 2 ครั้ง คือในเดือนเมษายน และอีกครั้งเดือนกรกฎาคม