
whoscall เปิดเผยรายงานประจำปี เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ผ่านการรายงาน มิจฉาชีพจากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่าง ๆ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล พร้อมสำรวจกลลวงมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงประชาชน
“แมนวู จู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall) กล่าวว่า ปี 2567 ในประเทศไทยสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปีถึง 168 ล้านครั้ง เพราะมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
การหลอกลวงที่เติบโตมากที่สุดเป็นการใช้ SMS แนบลิงก์ จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 ในส่วนของจำนวนการโทร.หลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ซึ่ง Whoscall สามารถปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการโทร. และข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้งใน 1 วัน
หมายความว่า อัตราที่ Whoscall ตรวจจับข้อความแนบลิงก์ฟิชชิ่งมากกว่า 4.6 แสนครั้งใน 1 วัน
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เริ่มจัดระเบียบ ซิม เสา สาย ตั้งแต่กลางปี 2567 เช่น บล็อกเบอร์ต่างประเทศ, ปิดกั้นเบอร์ที่โทร.ออกเกิน 100 ครั้ง, ควบคุมเสาสัญญาณบริเวณชายแดน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “กชศร ใจแจ่ม” กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า การจัดระเบียบซิม เสา สาย ทำให้ค่ายมือถือตรวจจับ IP ได้ดีขึ้น หากพิจารณาร่วมกับมาตรการ 3 ตัด (ตัดไฟ-ตัดอินเทอร์เน็ต-ตัดน้ำมัน) ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าภาครัฐเอาจริงเอาจัง จึงอาจเห็นการลดลงของการลวงทางโทรศัพท์
ด้าน พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการการตรวจสอบ และวิเคราะห์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นมาตรการ 3 ตัด อาจส่งผลให้มีการหยุดชะงักของการหลอกลวงทางโทรศัพท์ เพราะโจมตีที่ศูนย์กลางของแก๊งอาชญากร ในแง่สถิติระยะสั้นเชื่อว่าลดลงแน่นอน แต่คงต่ำกว่า 40-50% เนื่องจากศูนย์กลางที่กำลังทลายมีกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่โทร.ไปลวงชาวต่างชาติหลายกลุ่ม แต่ถึงแม้ว่าสถิติในไทยจะยังไม่ลด แต่อาชญากรรมทางโทรศัพท์ในจีน, ลาว และอเมริกาน่าจะลดลง
ในระยะต่อไปจะเน้นการแอบอ้างผ่านข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง เนื่องจากมิจฉาชีพยังใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง เช่น SMS หลอกให้กู้เงินแนบลิงก์ฟิชชิ่ง รวมถึงการโฆษณาการพนัน
กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะแอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า หรือการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องนโยบายภาครัฐ เกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัลวอลเลต
นอกจากนี้ ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่ตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ “ID Security” ซึ่งพัฒนาขึ้นมาช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บและดีปเว็บ ทั้งพบด้วยว่าบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหล 97% เป็นอีเมล์ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลวันเดือนปีเกิด, ชื่อนามสกุล, พาสเวิร์ด และข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย