
LINE MAN Wongnai เผยอินไซต์ “ชาไทย Specialty” ขึ้นแท่นเครื่องดื่มสุดฮอต ยอดสั่งบน LINE MAN ปี 2567 แตะ 4 แสนแก้ว โตจากปีก่อนหน้า 81% รับแรงหนุนอุตสาหกรรมชาขยายตัว-กระแสชาไทยลิซ่าบูม
รายงานข่าวจาก LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า ร้านเครื่องดื่มที่ขายชาไทย Specialty เพิ่มขึ้นกว่า 205% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่หันมาดื่มชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น โดยปี 2567 มียอดสั่งดีลิเวอรี่รวมแตะ 4 แสนแก้ว โต 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครยังคงเป็นศูนย์กลางของเทรนด์ชาไทย Specialty โดยมีจำนวนร้านมากที่สุด คิดเป็น 46% ของทั้งประเทศ ตามมาด้วยนนทบุรีและชลบุรี
อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่ของตลาดเครื่องดื่ม Specialty ทั้งหมด กาแฟ Specialty ยังเป็นผู้นำตลาด ส่วนตลาดชาไทย Specialty กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หากเทียบอัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีล่าสุด (2565-2567) อ้างอิงจากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบว่า ยอดสั่งชาไทย Specialty โตขึ้นกว่า 3.3 เท่า เทียบกับกาแฟ Specialty ที่เติบโต 2.7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
รายงานระบุด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตของชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นในปี 2565 ที่อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
โดยพันธุ์ชาที่นิยมปลูกในไทย ได้แก่ ชาจีน (Chinese Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาไทยสีส้มที่พวกเราคุ้นเคย แล้วถูกพัฒนามาเป็นเมนู “ชาไทย Specialty” ที่สามารถเลือกรสชาติและกลิ่นหอมได้ เหมือนกับเมนูกาแฟ Specialty
นอกจากนี้ กระแส “ชาไทยลิซ่า” เมนู Thai up the World by Lisa ที่สร้างสรรค์โดย “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” ร่วมกับ Erewhon ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์ในสหรัฐ ผู้บริโภคกระแสหลักจึงสนใจเมนูชาไทยพรีเมี่ยมมากขึ้น

ด้านนางสาวมิญชยา บูรณะเศรษฐกุล เจ้าของร้าน KHIRI Thai Tea หนึ่งในร้านชาไทย Specialty ที่มียอดออร์เดอร์สูงสุดบน LINE MAN แสดงความเห็นว่า การที่ผู้บริโภคชาวไทยหันมาบริโภคเครื่องดื่ม Specialty จากตลาดกาแฟ Specialty ส่งผลให้เกิดตลาดชาไทย “Specialty” ตามมา
“รูปแบบของชาไทย Specialty จะเชื่อมโยงทุกกระบวนการพัฒนาชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้ใบชาจากเกษตรกรไทย พัฒนาโดยคนไทย และถ่ายทอดเป็นเมนูที่สะท้อนรสชาติแท้ของชาไทย”
ปัจจุบันร้านชาไทยหลายแห่งเริ่มคัดสรรใบชาคุณภาพจากแหล่งปลูกในประเทศ ซึ่งมี Taste Notes เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ชาเชียงรายให้กลิ่นอายดอกไม้และเบอรี่ ชาแม่ฮ่องสอนมีโน้ตของส้มและเนยสด ชาปัตตานีมีกลิ่นหอมของเนยถั่วและลูกสน
“ถ้าเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของชาไทยได้ดี และมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การพัฒนาเมนูใหม่ การขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น หรือการผลักดันจากแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่ชาไทย Specialty จะแมสใกล้เคียงกับกาแฟ Specialty อาจเกิดได้เร็วขึ้นทั้งในไทยและระดับโลก”