
บัญชีม้าคริปโตเคอร์เรนซี กลายเป็นช่องทางหลักของแก๊งสแกมเมอร์ ในการเปลี่ยนสกุลเงิน เพื่อโยกย้ายหลบเลี่ยงแล้วฟอกกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งมาตรการ “ล้มบัญชีม้า” ของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำลังคัดกรองรายชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์ เป็น 5 สี และได้อายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง “ม้าสีดำ” แล้วเฉียดแสนบัญชี
แต่สิ่งที่ภาครัฐและภาคธนาคารยังไม่มีโซลูชั่นที่ชัดเจนคือการควบคุมและสกัดกั้นการฟอกเงินด้วยคริปโต ที่แลกเปลี่ยนแบบ P2P กระนั้นก็มีการคาดการณ์ว่าจะนำรายชื่อเจ้าของบัญชีม้าธนาคาร ไปสั่งปิดบัญชีคริปโต ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของทางการไทยด้วย
ความเอาจริงเอาจังของภาครัฐที่ต้องการควบคุมเส้นทางการเงินในโลกคริปโต ทำให้ในปีนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Binance Asia-Pacific Regional Law Enforcement Day ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกับการสืบสวนด้านการเงิน เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจากประเทศไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, มองโกเลีย, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย กว่า 120 ราย
จนท.ไทยกระตือรือร้น
“ยาเร็ก ยาคุบเช็ค” หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของ BINANCE global อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจสากลยุโรป (Europol) เปิดเผยว่า อาชญากรรมไซเบอร์มีหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นการแฮก การหลอกลวง การโจรกรรมตัวตน และปัจจุบันการหลอกลวงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นด้วยการมาของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแนวโน้มการใช้คริปโต หรือบิตคอยน์เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนและฟอกเงินของอาชญากรรมเหล่านั้นก็เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการปรับใช้คริปโต ในโลก หรือ Adoption Rate ที่ในปี 2025 ยังอยู่ที่ประมาณ 3% ใกล้เคียงกับช่วงแรกของอินเทอร์เน็ตในปี 1990 และโซเชียลมีเดียในปี 2005
“สิ่งที่เราพอจะช่วยเจ้าหน้าที่ได้คือ การช่วยกันตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ผ่านทางบัญชีคริปโต ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบได้บนบล็อกเชน และการวิเคราะห์อื่น ๆ รวมถึงการที่เราส่งมอบข้อมูลจากภายในแพลตฟอร์มให้กับเจ้าหน้าที่ โดย Binance ได้จัดตั้งหน่วยงานแยกออกมา เพื่อตอบสนองต่อการร้องขอของเจ้าหน้าที่รัฐ สาเหตุที่ต้องมีการส่งมอบข้อมูล เพราะเส้นทางการเงินบนบล็อกเชน แม้จะติดตามได้ในหลายเครื่องมือ แต่ล้วนเป็นที่อยู่แบบนิรนาม ขณะที่แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต มีการ KYC ทำให้เชื่อมโยงไปหาบุคคลได้”
เมื่อมีการจับกุมอาชญากร เจ้าหน้าที่จะสืบสวนจนพบว่ามีที่อยู่คริปโต และจะเริ่มจากที่อยู่ที่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ตามเส้นทางไปเรื่อย ๆ ผ่าน Blockchain Explore ที่ใคร ๆ ก็ตรวจสอบได้ เมื่อมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Coinbase หรือ binance.com พวกเขาสามารถคัดกรองข้อมูลและช่วยวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับผู้ที่ทำธุรกรรมกับอาชญากรได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องมีการ “ร้องขอ”
อย่างไรก็ตาม การร้องขอจะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าความเสียหาย ไม่มีให้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเคสนั้น ๆ สามารถตอบสนองเจ้าหน้าที่ได้ตั้งแต่หนึ่งวันถึงสามสัปดาห์ หรือหากมีความซับซ้อนก็อาจต้องร่วมมือกันทำงาน และใช้เวลาเกือบปีจึงจะตามเส้นทางการเงินได้ทั้งหมด
“ปัญหาหลักที่ตำรวจทุกประเทศเจอ คือไม่มีเครื่องมือที่สามารถเจาะลึกเพื่อติดตาม และสืบสวนได้ Binance จึงเข้ามาให้ความรู้และฝึกอบรม แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง”
การร้องขอ หรือ Data Request ในช่วง 3 ปีมานี้ มีมากถึง 65,000 ครั้ง จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีการร้องขอมากกว่าพันครั้ง ครอบคลุมหลายคดี สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐไทย เริ่มให้ความสำคัญและตื่นตัวกับอาชญากรรมทางดิจิทัลมากขึ้น
“ยาเร็ก” ย้ำด้วยว่า ปริมาณการร้องขอข้อมูล ไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต รวมถึงมูลค่าความเสียหาย แต่หมายถึงความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการขยายผลการสืบสวนให้ละเอียดยิ่งขึ้น อาจเพื่อหาผู้เกี่ยวข้องหรือติดตามเงินกลับให้เหยื่อ
ข้อดีบล็อกเชน-กระดานเทรด
“ยาเร็ก” อธิบายคุณสมบัติของการตรวจสอบธุรกรรมว่าเชนมีความโปร่งใส ที่ช่วยให้การตั้งคำถามในการสืบสวนอย่างง่ายได้ เช่น เมื่อคุณจับผู้ร้าย และได้ที่อยู่หรือกระเป๋าคริปโตมา อาจลองส่งเงินอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่ามีใครได้รับเงินหรือยัง ที่อยู่นั้น ๆ ได้รับเงินอื่น ๆ จากที่อยู่อื่น ๆ หรือไม่ หรือเงินที่ส่งไปแลกเปลี่ยนนั้นส่งไปที่ใด ที่อยู่ฝากเงินคือที่ไหน เงินที่ส่งเข้ากระเป๋านี้ได้รับจากที่ไหนมาก่อน สิ่งเหล่านี้ตรวจสอบได้ทั้งหมดบนบล็อกเชน
ขณะที่แพลตฟอร์มซื้อขายอย่าง Binance.com จะช่วยดำเนินการหลังจากตรวจสอบบนบล็อกเชนแล้ว อย่างแรกคือการระบุตัวตน เพราะเรามีการ Full KYC, Sanctions, PEP
“เรายังบล็อกการเข้าถึงบัญชีได้จากพื้นที่ (Geoblocks) การทำ Transaction Monitoring ตรวจสอบพฤติกรรมของบัญชี และการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย”
มุมมอง BINANCE TH
ก่อนหน้านี้ “นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (BINANCE TH) กล่าวว่า ปัญหาบัญชีม้าเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมาก ขบวนการอาชญากรรมที่ใช้บัญชีม้ามักใช้เครื่องมือหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์แบบเติมเงิน, บัญชีธนาคาร และบัญชีคริปโต เพื่อหลอกลวงและฟอกเงินแม้คริปโตจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากบัญชีม้าไม่สามารถฟอกเงินผ่านคริปโตได้พวกเขาก็จะหาช่องทางอื่นและในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมีความรับผิดชอบ เข้มงวดเพื่อป้องกันกิจกรรมเหล่านี้
“บัญชีม้าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา เราได้ดำเนินการทั้งภายในองค์กรและร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการระบุตัวและแจ้งบัญชีม้าที่ต้องสงสัยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อระบุพฤติกรรมที่น่าสงสัย และสามารถอายัดเงินที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าหลายล้านบาท พร้อมส่งคืนให้กับเหยื่อ”
ขบวนการบัญชีม้ามีการพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จึงต้องพัฒนาแนวทางป้องกันและปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคตจะเพิ่มมาตรการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตรวจจับ และป้องกันบัญชีม้าจากการใช้แพลตฟอร์ม โดยจะมีการอายัดบัญชีต้องสงสัยเพิ่มเติม และพัฒนาแนวทางรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของอาชญากร
“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่า ปัญหาบัญชีม้าไม่ได้เป็นปัญหาของแพลตฟอร์มคริปโตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธนาคาร และแพลตฟอร์มคริปโต ในการหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ”
แม้จะมีอาชญากรบางส่วนที่ใช้คริปโตในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด ดังนั้น มาตรการใด ๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ควรได้รับการออกแบบมาอย่างรอบคอบ เพื่อจัดการกับอาชญากรรมทางการเงิน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานที่บริสุทธิ์
“เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน เนื่องจากบัญชีม้าต้องใช้บริการธนาคารเพื่อโอนเงินที่ผิดกฎหมายมายังแพลตฟอร์มคริปโต เป้าหมายเราคือป้องกันบัญชีม้าจากการโอนเงินจากธนาคารเข้าสู่แพลตฟอร์มคริปโตตั้งแต่แรก หากมีเงินที่ผิดกฎหมายเข้ามาในแพลตฟอร์มเราจะใช้มาตรการที่เข้มงวด ระบุพฤติกรรมที่น่าสงสัย บล็อกบัญชีและอายัดสินทรัพย์ทันที”