Responsible AI คืออะไร สำคัญแค่ไหนกับองค์กร

AI
เรียวจิ เซคิโดะ

ปี 2023-2024 ที่ผ่านมา องค์กรในไทยหลายแห่งตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ลองผิดลองถูกจนพบวิธีการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ตามต้องการ เช่น ใช้ AI ช่วยจัดการงานหลังบ้าน ลดการทำงานซ้ำซ้อน เพิ่มความเป็นระบบอัตโนมัติ ใช้เวลาเท่าเดิมแต่ได้งานเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และธุรกิจ “เอคเซนเชอร์” (Accenture) พบว่า Top 10 ของอุตสาหกรรมที่มีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับ Generative AI (Gen AI) กับ Accenture มากที่สุด คือ 1.การเงิน (Banking) 2.สื่อสารมวลชน (Comm & Media) 3.Software & Platforms 4.ประกันภัย (Insurance) 5.บริการภาครัฐ (Public Service) 6.สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods & Services) 7.วิทยาศาสตร์ชีวิต (Life Science) 8.ค้าปลีก (Retail) 9.สาธารณูปโภค (Utilities) และ 10.ภาคอุตสาหกรรม (Industrial)

แม้หลายองค์กรจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ของการนำ AI มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI มาก ๆ แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วย AI สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ หรือ “Responsible AI”

“วี เหว่ย อึ้ง” Market Unit Lead for Southeast Asia, Accenture กล่าวว่า ยุคที่มองว่าการใช้ AI อย่างรับผิดชอบเป็นเพียงการปฏิบัติตามข้อกําหนดได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกำหนดนโยบายเกี่ยวกับ AI รวมถึงภาคธุรกิจก็เร่งขยายการใช้ AI ส่งผลให้การใช้ AI อย่างรับผิดชอบ กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญอันดับแรกขององค์กร

สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยของ Accenture ที่ทำการสํารวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 1,000 บริษัท มี 254 แห่งมาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า 48% ขององค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มองว่าการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้รายได้เติบโต ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนด้านการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 50% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อเจาะมาที่ความพร้อมในการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ ปัจจุบันพบว่าองค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 78% มีความพร้อมแล้ว แต่ 10% ยังขาดความพร้อมในการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ส่วนองค์กรที่มีความพร้อมทุกด้านมีอยู่ 19% สูงกว่าองค์กรทั่วโลกที่มีอยู่ 15%

ADVERTISMENT

“อึ้ง” กล่าวด้วยว่า นอกจากเรื่องของการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ ยังมีความท้าทายเรื่องความเสี่ยงด้าน AI เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลง และห่วงโซ่คุณค่าที่เกี่ยวกับ AI มีความซับซ้อนมากขึ้น

จากการสำรวจพบว่า 69% ของผู้บริหารในอาเซียน เชื่อว่าการปลดล็อกศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นไว้ใจ (Trust) เป็นพื้นฐาน

ADVERTISMENT

อีกทั้ง AI ยังปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานหลายอย่าง ทำให้องค์กรต้องมั่นใจว่าพนักงานมีทักษะที่เหมาะสมและความมั่นใจในการทำงานร่วมกับ AI หากปราศจากความไว้วางใจแล้ว การนำ AI มาใช้จะช้าลง รวมถึงความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น และธุรกิจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคุณค่าของ AI ได้อย่างเต็มที่

“ความไว้วางใจ คือรากฐานสำคัญของการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เป็นตัวกำหนดว่าลูกค้าจะรู้สึกสบายใจในการแบ่งปันข้อมูล หรือพนักงานจะยอมรับการใช้เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในที่ทำงานหรือไม่”

ด้าน “เรียวจิ เซคิโดะ” Co-CEO Asia Pacific และ CEO Asia Oceania, Accenture กล่าวว่า องค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผชิญการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ ๆ ตลอด เช่น การบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ความเป็นส่วนตัว และข้อมูล ซึ่งในภูมิภาค มีองค์กรเพียง 1% เท่านั้น ที่เตรียมพร้อมกับเรื่องนี้แล้ว

สำหรับองค์กรที่ต้องการดึงคุณค่าของ AI ที่ลงทุนไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จสามารถทำได้ ผ่านการทำงานทั้งหมด 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.วางหลักการและการกํากับดูแล AI พร้อมกำหนดภาระความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับการออกแบบ การนำไปปรับใช้ และการใช้งาน

2.ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับ AI ทั้งด้านความเป็นธรรม ความโปร่งใส ความถูกต้อง และผลกระทบต่อผู้คน ด้วยหลักการประเมินที่ชัดเจน 3.พัฒนาระบบทดสอบ AI ที่น่าเชื่อถือ โดยมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ครบถ้วน 4.ตรวจสอบและปฏิบัติตามกฎระเบียบ มีการพัฒนาระบบตรวจสอบ AI แบบเรียลไทม์ และ 5.ดูแลผลกระทบต่อพนักงาน ความยั่งยืน ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมและกฎระเบียบต่าง ๆ

“การมีพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และการใช้ AI อย่างรับผิดชอบจริง ๆ จะทำให้ธุรกิจขยายสเกลได้อย่างยั่งยืน พร้อมต่อการต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้ Agentic AI ที่เป็นกระแสหลัก ซึ่งจากผลสำรวจของ Accenture พบว่าองค์กรกว่า 95% มีแผนจะนำมาใช้ใน 3 ปีข้างหน้า”