DHL ปลดพนักงาน 8,000 คน แต่ยังขยายลงทุนในไทย

DHL เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย 3.6 หมื่นล้านบาท หลังผลประกอบการกำไรลด เตรียมปลดพนักงาน 8,000 คน พร้อมเดินหน้า “กลยุทธ์ 2030” มุ่งความยั่งยืน ปรับโฟกัสใหม่ทั่วโลก ภูมิภาคอาเซียนเน้นโฟกัสลูกค้ารายเล็ก-SMEs

บริษัท ดีเอชแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ DHL ยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ของโลก ได้ประกาศว่าจะเตรียมปลดพนักงานกว่า 8,000 คน หรือคิดเป็น 1% ของพนักงานทั้งหมด ในปี 2568 นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายประหยัดค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 36,720 ล้านบาท ภายในปี 2570

การปลดพนักงานครั้งนี้จะเกิดขึ้นในแผนก Post & Parcel และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Fit for Growth” ของบริษัท

การตัดลดค่าใช้จ่ายของ DHL ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และรายได้กลุ่มโลจิสติกส์กําไรจากการดําเนินงานประจําปีลดลง 7%

อย่างไรก็ตาม DHL ยังคงมีแผนการลงทุนในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศและภาคพื้นดิน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาค

ในขณะเดียวกันทาง DHL ได้ประกาศกลยุทธ์ 2030 เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

ADVERTISMENT

นายเฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน เปิดเผยว่า DHL ทั่วโลก ได้เริ่มใช้แผนธุรกิจ 5 ปี “Strategy 2030” เป็นโฟกัสใหม่ ผ่านความร่วมมือของ 4 หน่วยธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ DHL eCommerce, DHL Express, DHL Global Forwarding) และ DHL Supply Chain

มีกรอบ 4 ด้าน คือ 1.มุ่งเน้นเป็นผู้ให้บริการที่เป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้ 2.เป็นนายจ้างที่เป็นตัวเลือกให้ผู้ถูกจ้างทำงานอย่างมีความสุข 3.การเป็นธุรกิจที่เป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน และ 4.เป็นตัวเลือกสำหรับการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตที่ทุกคนเลือกใช้

ADVERTISMENT

“เครือข่ายโลจิสติกส์ของเราที่ครอบคลุม 220 ประเทศและเขตปกครอง พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศและภาคพื้นดิน ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญของการค้าโลก เราช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจทุกขนาดในประเทศไทยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโอกาสธุรกิจที่มีทั่วโลก และส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนผ่านโซลูชั่นที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ เช่น บริการ GoGreen Plus เราพร้อมเชื่อมต่อประเทศไทยกับทั่วโลกและเปิดตลาดใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย”

นายเฮอร์เบิร์ตกล่าวด้วยว่า แม้ความแข็งแกร่งของ DHL จะอยู่ที่โครงข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั่วโลก ทำให้การจัดส่งข้ามโลกทำได้ใน 1 วัน ทั้งนี้มีฐานลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง แต่ในปีนี้ เล็งเห็นว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชีย-แปซิฟิก มีการเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องการการจัดส่งแบบ door to door มากขึ้น นอกจากนี้ในแง่การผลิตก็เกิดโรงงานขนาดเล็กและธุรกิจ SMEs ที่มีความต้องการวัตถุดิบและการจัดการซัพพลายเชนที่ดี

DHL ในอินโดจีน จึงจะปรับโฟกัสเป็นการเชื่อมโยงระบบโกดังและการจัดส่งซัพพลายเชน ตลอดจนการจัดส่งถึงหน้าบ้าน ตอบสนองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดส่งของ DHL (Reginal Hub ของ DHL ในภูมิภาคนี้ อยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ)

ด้านนายเกียรติชัย พิตรปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DHL eCommerce เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ภาคอีคอมเมิร์ซของไทยยังมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดี DHL มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้นและการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล ด้วยการผสานเครือข่ายการจัดส่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัยและโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน เราสามารถส่งเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยทุกขนาดและทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าองค์กรหรือบุคคลทั่วไป ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในเศรษฐกิจดิจิทัล

สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-commerce Association) คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตจาก 26,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เป็น 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ซึ่งสะท้อนอัตราการเติบโตที่ประมาณ 21% ในช่วง 2 ปี เทียบเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ประมาณ 10% อีกทั้ง DHL ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจ SMEs ที่เติบโตของไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการกว่า 3.2 ล้านราย และมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็น GDP ถึง 35%

ความสำเร็จของแบรนด์อย่าง Gentlewoman และ Fairtex แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแบรนด์ไทยในการใช้ประโยชน์จากโซลูชั่นโลจิสติกส์แบบครบวงจรของ DHL เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ การผสานเครือข่ายระดับโลกของ DHL เข้ากับความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น เสริมสร้างขีดความสามารถให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดระดับสากล

โครงการสำคัญอย่าง GoTrade ของ DHL ได้พัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กว่า 9,000 รายทั่วโลก สำหรับประเทศไทย DHL Express ได้พัฒนาโครงการนี้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (OSMEP) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่โอกาสทางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการค้าระหว่างประเทศแล้ว DHL ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Retailers) ธุรกิจ SMEs และแบรนด์ต่าง ๆ ในการขยายตลาดภายในประเทศไทย ผ่านบริการขนส่งที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน คุณภาพสูง ในราคาที่คุ้มค่าของ DHL eCommerce ความมุ่งมั่นในการให้บริการที่เป็นเลิศของ DHL ทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจทุกขนาดและทุกภาคส่วนจะสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลมากขึ้น